ดร.วัชรัศมิ์ ลีละวัฒน์ รองผู้อำนวยการวิชาการสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและพัฒนา หรือ ITD เปิดเผยว่า จากผลงานวิจัยเรื่อง “ การค้าระหว่างประเทศทางบกด้านเหนือ และด้านตะวันตกของไทย ” พบว่าด้านเหนือ จังหวัดเชียงรายและจังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นจังหวัดที่มีความสำคัญต่อการค้าชายแดนมากที่สุด โดยเฉพาะจังหวัดเชียงรายที่ถือเป็นพื้นที่เชิงยุทธศาสตร์ที่สำคัญ เป็นศูนย์กลางการค้า การท่องเที่ยว และการลงทุนบริเวณรอยต่อ 3 ประเทศคือ จีน เมียนมาร์ และสปป.ลาว มีด่านศุลกากรถึง 3 ด่าน คือ ด่านแม่สาย ด่านเชียงแสน และด่านเชียงของ มีมูลค่าการค้าประมาณ 12,000 ล้านบาท เป็นการค้าเกินดุล และมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง สำหรับการค้าผ่านแดนระหว่างไทยกับจีน จะใช้เส้นทาง R3A และแม่น้ำโขงเป็นหลัก มีมูลค่าการค้าประมาณ 14,000 ล้านบาท ส่วนจังหวัดอุตรดิตถ์ มีเขตแดนติดต่อกับแขวงไชยะบุรี สปป.ลาว มีจุดผ่อนปรน ช่องภูดู่ เป็นด่านถาวร มีมูลค่าการเติบโตแบบก้าวกระโดดเช่นกัน อย่างไรก็ตามจากการวิเคราะห์ผลการวิจัยยังพบปัญหาการค้าระหว่างประเทศทางบกด้านเหนือ คือ ได้รับแรงขับเคลื่อนหลักจากสภาพแวดล้อมระดับมหภาค ได้แก่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ นโยบายทางการค้า กฎระเบียบที่เข็มงวด การเก็บอัตราภาษีขาเข้าที่ค่อนข้างสูง ส่วนของไทยมีปัญหาในเรื่องของการเมือง การปกครอง ที่มีการเปลี่ยนแปลงบ่อย
สำหรับแนวโน้มและโอกาสการค้าระหว่างประเทศทางบกด้านเหนือ พบว่า เมียนมาร์จะมีความสำคัญที่สุด และเป็นประเทศในกลุ่มสมาชิกอาเซียนใหม่ ที่ถือว่าเป็นประเทศที่มีแหล่งทรัพยากรธรรมชาติทั้งทางบก และทางทะเลที่อุดมสมบรูณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง การพัฒนาทางการเมืองเป็นไปในทิศทางบวก หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน จึงต้องเตรียมตัว และให้ความสำคัญ
ส่วนการค้าระหว่างประเทศทางตะวันตกของไทย ขอบเขตพื้นที่ที่ทำการศึกษาคือ จังหวัดตาก และจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งจังหวัดตากเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพทางด้านการค้าชายแดน มีการพัฒนาเส้นทางการขนส่งระหว่างไทยกับเมียนมาร์ มีโครงการพัฒนาเส้นทางที่สำคัญ คือ โครงการพัฒนาแนวพื้นที่เศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก โดยมีด่านศุลกากรแม่สอด เป็นจุดผ่านแดนถาวร เป็นด่านที่มีมูลค่าการส่งออกมากที่สุด ทำให้ไทยเกินดุลการค้าเมียนมาร์ได้กว่า 10,000 ล้านบาทต่อปี ส่วนจังหวัดกาญจนบุรี มีด่านศุลกากรสังขละบุรี เป็นด่านการค้าที่สำคัญโดยเฉพาะการนำเข้าก๊าซธรรมชาติ ซึ่งไทยจึงขาดดุลการค้ากับเมียนมาร์อยู่ในด่านนี้
ด้านแนวโน้ม และโอกาสการค้าระหว่างประเทศทางบกด้านตะวันตก ระยะต่อไปจากปี 2555 มีแนวโน้มที่สดใส และเจริญเติบโต ด้วยแรงขับเคลื่อนหลักจากนโยบายการเปิดประเทศเข้าสู่ประตูการค้า การลงทุนระหว่างต่างประเทศของรัฐบาลเมียนมาร์ การสนับสนุนการค้าของรัฐบาลไทย และความสัมพันธ์ที่ดีของทั้งสองประเทศ แม้ว่าการดำเนินการค้าจะพบปัญหาและอุปสรรคอยู่บ้าง ประเด็นสำคัญคือ ความมั่นคงกับการค้าระหว่างประเทศ จึงควรมีการศึกษามิติด้านความมั่นคงในเชิงลึกร่วมกับมิติด้านการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งจะทำให้ได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อภาครัฐ ในการทบทวนมาตรการความมั่นคงในบริเวณพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมาร์
ทั้งนี้ ITD จะนำองค์ความรู้จากผลงานวิจัยชิ้นนี้ เป็นแนวทางในการเสริมสร้างกลยุทธ์การพัฒนาการค้าระหว่างประเทศทางบกด้านเหนือ และด้านตะวันตก สำหรับหน่วยงานภาครัฐ และผู้ประกอบการภาคเอกชน รวมถึงการนำองค์ความรู้เหล่านี้ มาพัฒนาเป็นองค์ประกอบของหลักสูตรฝึกอบรมของ ITD ต่อไป