ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง การวางตัวของนายกรัฐมนตรีช่วง บารัค โอบามา มาเยือนประเทศไทย การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล และก้าวต่อไปของฝ่ายการเมืองที่ประชาชนอยากเห็น กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปใน 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี ลพบุรี ชลบุรี จันทบุรี พิจิตร เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ มุกดาหาร หนองคาย ชัยภูมิ สุรินทร์ อุดรธานี ขอนแก่น พัทลุง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช จำนวนทั้งสิ้น 2,054 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 20 — 24 พฤศจิกายน 2555 ที่ผ่านมา โดยใช้การเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น ที่สุ่มเลือกจังหวัด อำเภอ ตำบล ชุมชน ครัวเรือน และประชาชนที่ตอบแบบสอบถามระดับครัวเรือน ความคลาดเคลื่อนร้อยละ 7 พบว่า
เมื่อสอบถามถึงความเหมาะสมในการวางตัวของนายกรัฐมนตรีช่วง บารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา มาเยือนประเทศไทย พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 63.9 ระบุว่าเหมาะสมแล้ว ในขณะที่ร้อยละ 36.1 ระบุว่าไม่เหมาะสม และเมื่อถามว่า ถ้าคุณเป็นนายกรัฐมนตรี คุณจะพูดภาษาอังกฤษได้ดีกว่าหรือแย่กว่านายกรัฐมนตรี พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 71.1 ระบุว่าพูดได้แย่กว่านายกรัฐมนตรี ในขณะที่ร้อยละ 28.9 ระบุว่าพูดได้ดีกว่า นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 74.8 ประทับใจในการใช้ภาษาอังกฤษของนายกรัฐมนตรี ช่วงผู้นำประเทศต่างๆ มาเยือนประเทศไทย
ที่น่าสนใจคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 87.7 ให้ความสำคัญกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ในขณะที่ร้อยละ 12.3 ไม่ให้ความสำคัญ อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 93.5 อยากให้อภิปรายเฉพาะปัญหาเดือดร้อนของประชาชน ในขณะที่เพียงร้อยละ 6.5 เท่านั้นที่อยากให้อภิปรายเรื่องส่วนตัว
ที่น่าพิจารณาคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 74.4 เชื่อมั่นต่อนายกรัฐมนตรีในการชี้แจงช่วงอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่ร้อยละ 25.6 ไม่เชื่อมั่น นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 75.9 คิดว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรในรัฐบาลหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ในขณะที่ร้อยละ 24.1 คิดว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง
เมื่อถามถึงระยะเวลาที่ต้องการให้โอกาสรัฐบาลภายใต้การนำของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทำงานต่อไป พบว่า ร้อยละ 46.9 ระบุ 2 ปีจนครบวาระ ในขณะที่ร้อยละ 29.8 ระบุ 1 - 2 ปี ร้อยละ 12.5 ระบุ 6 เดือนถึง 1 ปี และร้อยละ 10.8 ระบุไม่เกิน 6 เดือน ตามลำดับ
ที่น่าสนใจคือ 5 อันดับแรกของก้าวต่อไปของฝ่ายการเมืองที่ประชาชนคนไทยทุกคนอยากเห็น (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ) พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 94.8 ระบุช่วยกันปกปักษ์รักษาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รองลงมาคือร้อยละ 91.8 ระบุให้เลิกแตกแยก มุ่งปรองดอง ร้อยละ 84.2 ให้สำนึกรู้คุณแผ่นดิน ต่างฝ่ายต่างทำหน้าที่ ร้อยละ 74.1 ระบุให้รักสามัคคี ช่วยเหลือเกื้อกูลมีไมตรีจิตต่อกัน และร้อยละ 72.9 ให้เกียรติกัน ไม่เยาะเย้ย ถากถางกัน
ส่วนก้าวต่อไปของรัฐบาลภายใต้การนำของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีที่อยากเห็นมากที่สุด พบว่า อันดับแรกหรือร้อยละ 45.9 เร่งแก้ปัญหาปากท้อง ลดภาระค่าครองชีพ ร้อยละ 20.7 เสริมสร้างความเป็นหนึ่งเดียวของคนในชาติ ลดความแตกแยก ร้อยละ 14.9 พัฒนาความสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศอาเซียน ร้อยละ 12.5 กระตุ้นให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้มงวดพฤติกรรมผู้ฝ่าฝืนกฎหมายบ้านเมือง และร้อยละ 6.0 ระบุอื่นๆ เช่น แก้ปัญหาสังคม ปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ พัฒนาคุณภาพประชาชน ปัญหาเด็กและเยาวชน เป็นต้น
ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าวว่า เป็นที่ชัดเจนว่า ประชาชนส่วนใหญ่ทั้งประเทศต้องการก้าวไปข้างหน้า ต้องการความสงบสุขภายในบ้านเมืองเพราะในชีวิตของประชาชนแต่ละวันก็มีปัญหาเดือดร้อนมากพออยู่แล้ว ชาวบ้านจึงต้องการให้รัฐบาลและฝ่ายการเมืองทุกกลุ่มมุ่งมั่นทำงานเพื่อลดความเดือดร้อนของประชาชนมาเป็นอันดับแรก การอภิปรายไม่ไว้วางใจก็น่าจะเป็นเรื่องการช่วยเหลือเกื้อกูลชี้แนะชี้นำเชิงสร้างสรรค์หาทางแก้ปัญหาเดือดร้อนของประชาชนทั้งประเทศโดยไม่เลือกปฏิบัติมากกว่าเรื่องส่วนตัวเพราะสุดท้ายแล้ว ฝ่ายการเมืองต้องถามตนเองว่า มีใครบ้างในรัฐสภาที่ไม่เคยผิดพลาดเลย ดังนั้น การให้โอกาสและการให้อภัยต่อกันจึงเป็นเรื่องสำคัญและดูเหมือนว่าประชาชนทั่วไปส่วนใหญ่ของประเทศมีคุณธรรมด้านนี้อย่างเห็นเด่นชัดที่ฝ่ายการเมืองน่าจะนำไปพิจารณาเพื่อปูทางไปสู่ความปรองดองอย่างไรก็ตาม กฎหมายบ้านเมืองและกระบวนการยุติธรรมก็ยังต้องเป็นเสาหลักสำคัญของประเทศที่จะมีบทบาทสำคัญในการรักษาเสถียรภาพของสังคมไทย
จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 35.6 เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 20.8 เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งในภาคเหนือ ร้อยละ 9.7 เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งในกรุงเทพมหานคร ร้อยละ 12.3 เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งในภาคใต้ และร้อยละ 21.6 เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งในภาคกลาง นอกจากนี้ ตัวอย่างร้อยละ 49.7 เป็นชาย ร้อยละ 50.3 เป็นหญิง ตัวอย่างร้อยละ 3.7 อายุน้อยกว่า 20 ปี ร้อยละ 19.9 อายุระหว่าง 20—29 ปี ร้อยละ 20.2 อายุระหว่าง 30—39 ปี ร้อยละ 20.7 อายุระหว่าง 40—49 ปี และ ร้อยละ 35.5 อายุ 50 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 62.8 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ในขณะที่ ร้อยละ 37.2 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 32.9 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป ร้อยละ 27.1 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 10.6 ระบุเป็นพนักงานเอกชน ร้อยละ 8.0 ระบุข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 8.3 ระบุเป็นนักเรียนนักศึกษา ร้อยละ 9.8 เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ และร้อยละ 3.3 ว่างงาน/ไม่ได้ประกอบอาชีพ