นายแพทย์ประจักษวิช เล็บนาค รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวถึงกรณีที่มีการใช้แก๊สน้ำตาเพื่อสลายกลุ่มผู้ชุมนุมที่สะพานมัฆวานในวันนี้ว่า (24 พ.ย.) ว่า ขั้นตอนการปฐมพยาบาลเบื้องต้นสำหรับผู้ที่ถูกแก๊สน้ำตา สิ่งแรกคือ หลีกเลี่ยงออกไปอยู่พื้นที่ที่ไม่มีควันแก๊สน้ำตา เพื่อป้องกันการสูดดมซ้ำ จากนั้นรีบล้างตาด้วยน้ำสะอาดหรือน้ำเกลือในปริมาณมากๆ ทันที วิธีการล้างให้ปล่อยน้ำให้ไหลผ่านดวงตาเบาๆ นานสักระยะเพื่อให้นำล้างแก๊สน้ำตาออกให้หมด เพราะหากล้างน้ำแรงไปจะทำให้ดวงตาอักเสบหรือกระจกตาเสียหายได้ หลังจากล้างดวงตาเสร็จแล้วให้ล้างใบหน้า มือ ขา ขา ด้วยสบู่ หรือน้ำเปล่าก็ได้ แต่สบู่จะช่วยชะล้างแก๊สน้ำตาได้ดีกว่าน้ำเปล่า และควรรีบเปลี่ยนเสื้อผ้าทันที
รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ตนอยากขอเตือนให้ผู้ที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ หลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่ที่มีการใช้แก๊สน้ำตา ซึ่งผลกระทบจากการได้รับแก๊ส คือจะมีผลระคายเคือง ต่ออวัยวะต่างๆ คือ ตา เยื่อบุจมูก ทางเดินหายใจ เยื่อบุช่องปาก และผิวหนัง ถ้าเข้าตา ทำให้มีน้ำตาไหล แสบตา หนังตาบวม เยื่อบุตาบวม ลืมตาไม่ขึ้น รวมทั้งอาจทำให้ตามองไม่เห็น หรือตาบอดชั่วคราว และอาจทำให้เกิดแผลที่กระจกตาได้ และถ้าสูดดมเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ จะทำให้มีอาการไอ เจ็บคอ จาม มีเสมหะ แน่นหน้าอก หายใจลำบาก อาจมีหลอดลมตีบ จนหายใจไม่ออก แก๊สน้ำตาจะออกฤทธิ์ทันทีที่ร่างกายสัมผัสถูก และฤทธิ์จะคงอยู่นานประมาณ 10-30 นาที หลังจากพ้นการสัมผัส แต่อาจมีอาการอยู่นานได้ถึง 24 ชั่วโมงขึ้นไป หรือบางทีนานถึง 3 วัน และอาการจะรุนแรง และเป็นอันตรายมากขึ้น หากได้รับในปริมาณที่เข้มข้นมาก หรืออยู่ในบริเวณที่มิดชิด ไม่มีการถ่ายเทของอากาศ
“ แม้ว่าแก๊สน้ำตาจะไม่มีอันตรายมาก แต่อาจเป็นอันตราย แก่ผู้ที่เป็นโรคหอบหืด หรือถุงลมโป่งพองอยู่เดิมได้มาก นอกจากนี้ ยังมีรายงานการเสียชีวิตจากการใช้แก๊สน้ำตา เนื่องจากการมีปอดบวมน้ำ เลือดออกในปอด ปอดอักเสบ หรือการขาดอากาศหายใจ หรืออาจเสียชีวิตได้” นายแพทย์ประจักษวิชกล่าว