9 เทคนิคล้างม็อบหัวใจ สลายเครียดการเมือง

อังคาร ๒๗ พฤศจิกายน ๒๐๑๒ ๑๑:๑๙
ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ กระทรวงวิทยาศาสตร์ โดยศูนย์เวชศาสตร์นานาชาติ ห่วงใยประชาชนที่อยู่ในสภาวะเครียดกับสถานการณ์บ้านเมือง น.พ.กฤษดา ศิรามพุช ผู้อำนวยการศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์นาชาติ แนะเทคนิคสะกด สกัด สลายเครียด 9 ข้อคือ

1.มองผู้ที่เสียสละ ทำให้เรามีหัวใจที่แกร่งขึ้นได้ด้วยการมองบุคคลผู้เป็นเสมือน “ไอดอล” แห่งคุณความดี ถ้ายังหาไม่มีให้นึกถึงคุณพ่อ,คุณแม่,ครูอาจารย์,พระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ หลักในการเลือกไอดอลคือผู้ที่ทำเพื่อคนอื่นก่อนตัวเอง นึกถึงชาติบ้านเมืองก่อนตัวเอง และทำดีเพื่อความดีโดยแท้ไม่ใช่ทำเพื่อกล่องหรืออามิสใดๆ ในเวลาที่เรานึกถึงไอดอลของเราบ่อยๆแล้วเวลาจะทำสิ่งใดรุนแรงขึ้นมาเราจะอดชะงักแล้วถามตัวเองไม่ได้ว่าถ้าเป็นไอดอลของเราแล้วเขาจะทำรุนแรงอย่างเราหรือไม่ การคิดถึงไอดอลจะทำให้เราฉุกใจคิดช่วยดึงชีวิตขึ้นมาจากปากเหวได้

2.อย่าห้ามความคิด บางทีเวลาเครียดแล้วเรา “กลัว” ความคิดเราเอง ลองสังเกตดูอย่างเวลาที่เราเจอเรื่องเครียดแล้วไม่อยากคิดเราจะยิ่งคิด การไม่อยากก็คือความกลัวอยู่ลึกๆไม่อยากเผชิญความเครียดที่เป็นเหมือนยาขม ซึ่งทางที่ถูกง่ายๆก็คือ “จ้องตาเครียด” มองหน้ามันตรงๆให้สมกับที่มันคอยจี้เราอยู่ตลอด ถ้าจะคิดก็ปล่อยให้มันคิดแล้วก็คิดตามมันไปว่าทำไมถึงยังคิด เมื่อตามความคิดไปได้อย่างนี้แล้วประเดี๋ยวมันจะละสายตาจากเราเองเพราะสู้เราไม่ได้

3.พิชิตตัวตน คนเราทุกข์ที่สุดก็เพราะ “ตัว” ลองนึกถึงทุกข์ที่เกิดขึ้นตอนนี้ก็ได้ เครียดเพราะงานไม่เป็นดังหวังของตัว,เครียดเพราะโรคภัยรุมเร้าตัว,เครียดเพราะไม่ได้ชื่อเสียงเข้าตัว,เครียดเพราะคนรอบข้างไม่เป็นดังหวังของตัว ฯลฯ ทุกอย่างมีดงกำเนิดมาจาก “ตัว” ทั้งนั้น เพราะลึกๆแล้วจิตเราคอยจะเอาตัวนี่เอง เป็นศูนย์กลาง สิ่งที่จะช่วยวางตัวตนได้ดีที่สุดคือให้ “ลืมตัว” ไปเลยแล้วนึกถึงคนอื่นก่อนเป็นหลัก นึกรักคนอื่นก่อนที่จะให้เขามารักตัว นึกกลัวว่าคนอื่นจะเจอปัญหาใหญ่กว่าตัว ถ้านึกได้ดังนี้จะ “วางตัว” ได้ดีที่สุด

4.ฝึกฝนมองให้ลึก อันนี้ต้องอาศัยการฝึก ขออย่าเพิ่งท้อเสียก่อนด้วยการฝึกคิดก่อนเชื่อ ฝึกมองด้วย “ตาใน” มากกว่าตาเนื้อข้างนอก บางทีอาจจะบอกอะไรได้มากกว่าที่คิด วิธีฝึกง่ายๆก็โดยจับสิ่งที่เครียดมาเป็นตุ๊กตาฝึกมองมันให้ลึกว่าเครียดเพราะอะไรแล้วที่สุดจะเห็นว่ามันเป็นของว่าง แม้แต่ก้อนทุกข์นั้นเองในใจกลางก็คือ “ความว่าง” แล้วที่สุดก็จะเหลือคำถามสุดท้ายคือ “จะทุกข์ไปเพื่อความว่างทำไม?” ขอให้อย่าเบื่อฝึกเสียก่อน

5. นึก “ดี” ได้ในทุกสิ่ง การเห็นดีได้เริ่มจากสิ่งใกล้ตัวก่อนเป็นกำลังใจที่ดี ลองดูจากของกินก่อนก็ได้ แทนที่จะเห็นว่าข้าวแกงจานเดิมที่กินซ้ำซากน่าเบื่อหน่ายก็ให้มองว่าน่าอร่อยจนกินบ่อยๆก็ได้ มองรถติดฝนตกว่าทำให้เราได้ใช้เวลากับตัวเองมากขึ้นแทนที่ทั้งวันจะมอบเวลาให้แต่กับงาน การคุยก็มีให้แต่กับลูกค้า จะได้มีเวลาคุยกับแฟนบ้าง หรือแม้แต่คนที่ไม่สบายอยู่ถ้ามัวแต่มองเข้าตัวว่าทำไมมันถึงเกิดกับเรา ก็ให้เอาความคิดเข้าไปเกาะกับโรคบ้างว่ามันเกิดมาเป็นโรคแล้วทุกข์ไหม น่าจะแย่กว่าเราอีกหนักหนา การฝึกเห็นดีได้ในทุกสิ่งมีบทสอบไล่สุดท้ายที่ต้องผ่านให้ได้คือ “เห็นดีได้แม้ในคนที่ร้ายกับเรา” แล้วจะเอาความทุกข์ที่มีอยู่ทิ้งไปแบบไม่เห็นฝุ่นเลยครับ

6.ยิ่งเครียดยิ่งออกกำลังกาย การสลายเครียดที่ดีสุดไม่ใช่การ “ตะโกนใส่หน้ากัน” หรือขับรถปาดหน้ากันรุนแรงรวมถึงการปะทะคารมปะทะกำลังกันตามที่ต่างๆ เพราะนั่นยิ่งเป็นการสร้าง “แรงกระตุ้น” ให้ไฟโกรธโหมกระพือหนัก ลองหลับตานึกถึงตอนที่ตะโกนสิ เราจะยิ่งจี๊ดยิ่งเครียดใจยิ่งเต้นเร็วจนน่ากลัวว่าจะวาย มาลองเคล็ดลับ “ขยับกาย” กันบ้างดีกว่าเพราะเวลาเครียดจะมีธาตุเครียดมาทำให้หนักๆตัว ถ้าได้ออกกำลังสร้างเหงื่อบ้างจะช่วยล้างธาตุเครียดให้ออกไปกับเหงื่อ

7.ละลายภาพทุกข์ ฝึกดูภาพที่สวยงาม ถามตัวเองก่อนว่าจะมีอายุต่อไปอีกกี่ปี ถ้าตอนนี้อายุ 50 ก็เหลืออีกแค่ไม่ถึง 25 ปีเท่านั้นที่จะเข้าสู่อายุขัยเฉลี่ยของคนไทย จะได้กินข้าวเหนียวมะม่วงอีกกี่ฤดู จะได้กอดลูกที่รักอีกสักกี่ครั้งก่อนเขาจะแยกไปมีครอบครัว เวลาที่มีเหลืออยู่น้อยนี้ไม่ควรมีไปเพื่อเก็บภาพหน้าตาแยกเขี้ยวยิงฟัน ภาพข่าวคนตีกัน ภาพความรุนแรงทั้งมวล ชวนให้ไม่อยากทำร้ายเพื่อนมนุษย์ด้วยเพราะเราไม่อยากเห็นภาพที่เขาทุกข์เก็บไว้ในใจ ให้ใช้เวลาชีวิตที่เหลือเพียงนิดนั้นเก็บภาพที่สวยงามอย่าง ภาพพระเจ้าอยู่หัวผู้ทรงคุณอันประเสริฐ,ภาพพระราชกรณียกิจ,ภาพหลวงปู่ครูบาอาจารย์ที่เปี่ยมเมตตา,ภาพแม่ชีเทเรซ่า,มหาตมะคานธี,คนทำความดีและวีรบุรุษทั้งหลายไว้ในใจดีกว่า สุดท้ายนี้เทคนิคชวนฝึกก็คือให้เก็บรูปองค์พระปฏิมาที่งดงามไว้ในใจให้ไม่ว่าจะหลับหรือลืมตาก็เห็นพระปฏิมาที่สงบเย็นอยู่ในใจ จะทำให้ไม่อยากทำเรื่องรุนแรงทุกสิ่งเอง

8.ถามใจคนอื่นก่อน เวลาเราเครียดเมื่อถามใจตัวเองแล้วว่าเครียดก็ให้ถามใจคนอื่นด้วย ลองดูความเป็นอยู่ของคนรอบๆตัวท่าน จะเป็นคนที่ท่านรักอย่างคุณพ่อ คุณแม่ ลูกน้อยหรือจะเป็นเพื่อนร่วมงานหรือลูกน้องก็ได้ ให้ดูแลทุกข์สุขให้เขา ถามว่าเขาสุขสบายดีไหม เพราะเขาก็มีหัวใจเหมือนกับท่าน เวลาที่เราเครียดจะเป็นเวลาที่เหมาะสุดในการนึกเอาใจเขามาใส่ใจเรา เพราะเราทุกข์อย่างไรเขาก็เป็นเพื่อนมนุษย์ที่ทุกข์เช่นนั้น รวมถึงชีวิตอื่นๆด้วยที่เขาก็รู้จักกลัวทุกข์เหมือนๆกับเรา เทคนิคนี้มีข้อดีที่ได้คือเมื่อได้ดูแลใจคนอื่นจนดีแล้วใจเราจะร่มเย็นทันที 9.ย้อนขอบคุณทุกคน ขอท่านที่รักฝึกขอบคุณให้บ่อยเข้าไว้ครับเพราะการขอบคุณคือการวางตัวตนเราแล้วเอาความสำคัญยกให้คนอื่นเขาบ้าง เป็นเทคนิควางตัวตนไม่ให้เครียดได้ดีมาก แม้คนที่ทำให้ท่านเครียดเขาก็คือ “แบบทดสอบ” ที่น่าขอบคุณเพราะถ้าท่านผ่านได้ท่านก็จะภูมิใจในตัวเองเป็นอย่างยิ่ง

ติดต่อ:

www.tcels.or.th, www.tcels.org 02-6445499

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ