นายกิตติรัตน์ กล่าวเปิดงานพบปะนักลงทุนว่า ประเทศไทยอยู่ในช่วงการปรับเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ (Economic Transformation) โดยในอดีต การขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยเน้นภาคการส่งออกสินค้าและบริการที่ใช้แรงงานสูงและมีต้นทุนการผลิตต่ำเป็นหลัก ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลอย่างต่อเนื่อง นำไปสู่เงินตราต่างประเทศไหลเข้าเป็นจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมิได้นำเงินตราดังกล่าวไปลงทุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของประเทศ และต้องมีการดูดซับสภาพคล่องส่วนเกินเพื่อรักษาเสถียรภาพด้านราคา ซึ่งเป็นต้นทุนในการบริหารจัดการของประเทศ นายกิตติรัตน์ฯ กล่าวต่อไปว่า ในช่วงต่อไป รัฐบาลจะเน้นนโยบายในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ โดยเน้นสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจในประเทศอย่างยั่งยืนผ่านการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของแรงงานและการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ
ในขณะที่ยังคงให้ความสำคัญกับการรักษาความยั่งยืนทางการคลัง
นายชัชชาติ กล่าวถึงโอกาสของไทยภายใต้การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียนว่า การพัฒนาระบบ โลจิสติกส์เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ไทยและอาเซียนได้รับประโยชน์จากการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจอย่างแท้จริง ทั้งนี้ การพึ่งพาการขนส่งทางถนนที่สูงกว่าร้อยละ 86 ของการขนส่งทั้งหมด ซึ่งทำให้ต้นทุนทางโลจิสติกส์สูงถึงร้อยละ 15.2 ของจีดีพี การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ทั้งรถไฟรางคู่ (Double Track) รถไฟความเร็วสูง (High Speed Train) การขนส่งมวลชน (Mass Transit)
การเชื่อมโยงระบบการขนส่งไปสู่ประเทศอาเซียน (ASEAN Connectivity) การขยายท่าอากาศยาน และการขยายท่าเรือน้ำลึกของไทยและโครงการท่าเรือน้ำลึกทวายจึงมีความจำเป็นเพื่อลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ ลดการนำเข้าพลังงานเพื่อการขนส่ง และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศโดยรวมอย่างยั่งยืน
นายอาคม กล่าวถึงเศรษฐกิจไทยในภาพรวมฟื้นตัวอย่างรวดเร็วหลังเหตุการณ์อุทกภัยในช่วงปลายปี 2554 โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากการขยายตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศเป็นสำคัญ ทั้งนี้ คาดว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2555 จะขยายตัวที่ร้อยละ 5.5-6.0
จากปีก่อน และจะสามารถขยายตัวอย่างต่อเนื่องในช่วง 5 ปีข้างหน้าที่ประมาณร้อยละ 5.0-6.0 ต่อปี จากการลงทุนของภาครัฐและภาคเอกชนที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามนโยบายรัฐบาลที่ให้ความสำคัญต่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558
นอกจากนี้ รัฐบาลได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศในยุทธศาสตร์หลัก 3 ด้าน ได้แก่
1) Growth and Competitiveness ซึ่งเน้นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันโดยรวมของประเทศ ทั้งโครงสร้างพื้นฐานและทรัพยากรมนุษย์ 2) Inclusive Growth ซึ่งให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้างการกระจายรายได้ให้มีความเหมาะสม และ
3) Green Growth ซึ่งเน้นการปรับกระบวนการประกอบธุรกิจและการใช้ชีวิตของประชาชนให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น การดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวจะส่งผลให้ภาพรวมของเศรษฐกิจไทยในอนาคตเกิดความสมดุล มีภูมิคุ้มกัน
และสามารถแข่งขันได้ในสภาวะแวดล้อมของเศรษฐกิจโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง
นายอารีพงศ์ฯ กล่าวถึง เสถียรภาพความยั่งยืนเชิงเศรษฐกิจว่า เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันนับว่ามีเสถียรภาพมากกว่าในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 อย่างมาก ทั้งจากความสมดุลระหว่างตลาดหุ้น ตลาดพันธบัตรและธนาคารพาณิชย์ โดยลดการพึ่งพาการระดมทุนผ่านช่องทางธนาคารพาณิชย์เพียงอย่างเดียวดังเช่นในอดีต และความเพียงพอของเงินทุนสํารองระหว่างประเทศต่อหนี้ต่างประเทศระยะสั้น นอกจากนี้ เสถียรภาพทางการคลังในปัจจุบันอยู่ในระดับดี ดังเห็นได้จากสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีในปัจจุบันที่อยู่ภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลัง ในระยะต่อไป
นโยบายการคลังเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการเสริมสร้างขีดความสามารถของประเทศ ทั้งในด้านการดำเนินนโยบายการคลังแบบขาดดุลเพื่อสนับสนุน การขยายตัวทางเศรษฐกิจภายใต้ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ผันผวน การปรับอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลจากร้อยละ 30 เป็นร้อยละ 23 ในปี 2555 และร้อยละ 20 ในปี 2556 และการจัดหาแหล่งทุนให้เพียงพอสำหรับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ นอกจากนี้ กระทรวงการคลังมีแผนที่จะเข้าสู่งบประมาณสมดุลในอีก 4-5 ปีข้างหน้า และจะรักษาระดับหนี้สาธารณะให้อยู่ภายใต้กรอบความยั่งยืน โดยเน้นย้ำว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีอยู่ในระดับต่ำกว่าร้อยละ 50 แม้ว่ามีแผนการลงทุนขนาดใหญ่ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศก็ตาม
นางสาวจุฬารัตน์ฯ ได้เชิญชวนให้นักลงทุน เข้ามาลงทุนในตลาดตราสารหนี้ของไทยโดยกล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมา ตลาดตราสารหนี้ได้มีพัฒนาการที่สำคัญหลายประการ ทั้งในด้านความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ตราสารหนี้ ผ่านการออกพันธบัตรรัฐบาลในรูปแบบใหม่ อาทิ พันธบัตรรัฐบาลที่ผลตอบแทนอ้างอิงกับอัตราเงินเฟ้อ (Inflation Linked Bonds: ILB) และการจําหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ให้นักลงทุนรายย่อยผ่านตู้ ATM (Electronic Retail Bond) เป็นต้น และในด้านการเสริมสร้าางสภาพคล่องของตลาดตราสารหนี้ไทย ผ่านการขยายช่วงอายุของพันธบัตรรัฐบาลอ้างอิง (Benchmark Bond) ออกไปถึง 50 ปี พัฒนาการของตลาดตราสารหนี้ไทยดังกล่าวได้ส่งผลให้ตราสารหนี้ไทยเป็นที่สนใจมากจากนักลงทุนต่างประเทศ และในปี 2556 รัฐบาลมีแผนที่จะระดมทุนในประเทศในรูปแบบใหม่ โดยการออกพันธบัตรรัฐบาลประเภททยอยชำระคืนเงินต้น (Amortized Bonds) อายุ 25 ปี ในเดือนธันวาคม 2555 และ ILB อายุ 15 ปี ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2556 รวมถึงอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้และช่วงเวลาที่เหมาะสมในการออกพันธบัตรสกุลเงินตราต่างประเทศในตลาดต่างประเทศและ Zero Coupon Bonds ด้วย
นายไพบูลย์ฯ ได้เชิญชวนให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นของไทย โดยกล่าวว่า ในช่วงปีที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยได้ปรับสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีปัจจัยสำคัญจากความมั่งคั่งและกำลังซื้อของประชาชนที่เพิ่มขึ้นและการลงทุนภาคเอกชนที่เร่งตัว
ส่งผลให้ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยปรับเพิ่มขึ้นตามลำดับ
ทั้งนี้ นายไพบูลย์ฯ เห็นว่า แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทยจะปรับตัวสูงขึ้นมาก แต่ยังสามารถปรับขึ้นได้อีกจาก P/E Ratio ของไทยที่ 12 เท่า ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาคที่ 13-14 เท่า นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2555 คณะผู้แทนไทย ซึ่งประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงการคลัง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ได้เข้าพบกับผู้บริหารระดับสูงของบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ 2 บริษัท ได้แก่ บริษัท Moody’s Investor Services และ บริษัท Fitch Ratings เพื่อให้ข้อมูลที่เป็นปัจจุบันเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยในอนาคต รวมถึงผลจากการดำเนินนโยบายของรัฐบาลต่อความยั่งยืนทางการคลัง
โดยนายกิตติรัตน์ฯ ได้ให้ความมั่นใจกับผู้บริหารระดับสูงของบริษัทจัดอันดับฯ ว่าการดำเนินนโยบายของรัฐบาลจะไม่ส่งผลเสียต่อความยั่งยืนทางการคลังในระยะยาว โดยรัฐบาลมีนโยบายที่จะทำงบประมาณสมดุลในปี 2560 และเมื่อรวมวงเงินโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาทแล้ว ระดับหนี้สาธารณะต่อจีดีพีจะไม่เกินร้อยละ 50 ซึ่งอยู่ต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 60 การพบปะนักลงทุนในครั้งนี้ถือว่าประสบผลสำเร็จอย่างมาก สะท้อนจากความสนใจจำนวนมากของผู้จัดการกองทุนและนักลงทุนขนาดใหญ่จำนวนมากเข้าร่วมงานและจากคำถามต่างๆ ด้านเศรษฐกิจและการเมืองที่นักลงทุนได้สอบถามซึ่งประเทศไทยได้ชี้แจงให้ข้อมูลอย่างครบถ้วนและชัดเจนขึ้นเป็นอย่างมาก
สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
โทร. 02 273 9020 ต่อ 3273