ผลการสำรวจภาวะโภชนาการของเด็กในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEANUTS) ชี้เด็กไทยเป็นโรคอ้วน —ขาดสารอาหาร

พฤหัส ๒๙ พฤศจิกายน ๒๐๑๒ ๑๘:๔๑
นักโภชนาการแนะเพิ่มการบริโภคธาตุเหล็ก แคลเซียม และวิตามินเอ-ซี-ดี เร่งด่วน

สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วยสมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โครงการโภชนาการสมวัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)และรอยัลฟรีสแลนด์คัมพิน่าร่วมกันแถลงผลการสำรวจภาวะโภชนาการของเด็กไทย อายุ 6 เดือน ถึง 12 ปีซึ่งอยู่ภายใต้โครงการสำรวจภาวะโภชนาการและสุขภาพเด็กในภูมิภาคอาเซียน (The South East Asia Nutrition Survey; SEANUTS) พบเด็กไทยส่วนใหญ่เข้าข่ายโรคอ้วนและขาดสารอาหาร โดยเฉพาะธาตุเหล็ก แคลเซียม วิตามินเอ-ซี-ดี โดยผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการระบุ เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องสร้างความเข้าใจเพื่อให้ผู้ปกครองปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคในเด็ก ให้กลับมามีภาวะโภชนาการและพัฒนาการที่สมวัยโดยเร็ว

รองศาสตราจารย์ ดร.วิสิฐ จะวะสิต ผู้อำนวยการสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดลในฐานะสถาบันการศึกษาทีมีความเชี่ยวชาญด้านโภชนาการ ผู้ดำเนินการโครงการสำรวจภาวะโภชนาการและพัฒนาการของเด็กไทยกล่าวว่า “คณะนักวิจัยของสถาบันภายใต้การนำของผศ.ดร.นิภา โรจน์รุ่งวศินกุล เริ่มดำเนินงานโครงการ SEANUTS ตั้งแต่เดือนมกราคม 2554ถึงกรกฎาคม 2555 รวมระยะเวลา 18 เดือน โดยเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง ซึ่งเป็นเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 6 เดือนถึง 12 ปี จำนวน 3,100 คน ครอบคลุมทุกภาคของประเทศไทย คือ กรุงเทพฯ ลพบุรี เชียงใหม่ พังงา ศรีษะเกษ และกาฬสินธุ์ เพื่อประเมินภาวะโภชนาการ โดยการวัดส่วนต่างๆ ของร่างกาย เข่น น้ำหนัก ส่วนสูง เส้นรอบแขน เป็นต้น ร่วมด้วยการตรวจวัดความสมบูรณ์ของร่างกายด้านต่างๆ เช่น การวัดคุณภาพของกระดูก (Bone Mineral Density: BMD) รวมถึงการวิเคราะห์ทางชีวเคมีในเลือด"

“ซึ่งผลจากการสำรวจชี้ชัดว่า เด็กไทยกำลังเผชิญกับภาวะทุพโภชนาการ(Malnutrition) ทั้งด้านการขาดสารอาหารบางอย่างและการได้รับสารอาหารบางอย่างมากเกินความต้องการของร่างกาย โดยร้อยละ 20 ของเด็กไทยมีน้ำหนักเกินมาตรฐานเข้าข่ายโรคอ้วน อันเนื่องมาจากพฤติกรรมในการบริโภคอาหารและได้รับสารอาหารไม่ถูกต้องตามหลักโภชนาการ และร้อยละ 60-70 บริโภคอาหารที่ให้สารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายต่ำกว่าเกณฑ์ โดยเฉพาะธาตุเหล็ก แคลเซียม วิตามินเอซีและดี ซึ่งเด็กบางคนอาจจะได้รับอาหารเพียงพอ แต่สัดส่วนของอาหารไม่ถูกต้อง (Imbalance diet) ส่งผลให้ร้อยละ 18 ของเด็กในต่างจังหวัด และร้อยละ 9 ของเด็กในเมืองมีปัญหาโลหิตจาง รวมถึงภาวะขาดธาตุเหล็กและวิตามินดี ซึ่งอาจส่งผลต่อพัฒนาการของเด็กในด้านที่สำคัญๆ เช่น การเรียนรู้ ร่างกายแคระแกร็น เป็นต้น”

ด้าน รศ.พญ.อุมาพร สุทัศน์วรวุฒิ นายกสมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทยฯ กล่าวเสริมว่า “ผลการสำรวจในโครงการ SEANUTS จะมีส่วนช่วยสนับสนุนให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องหันมาให้ความสำคัญ และร่วมกันเร่งแก้ไขปัญหาภาวะโภชนาการของเด็กไทย ให้หลุดพ้นจากการมีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน และภาวะการขาดสารอาหาร ด้วยการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่พ่อแม่ผู้ปกครองตลอดจนเด็กๆ เอง ให้ได้รู้ถึงผลกระทบจากการเป็นโรคอ้วนและขาดสารอาหารที่จำเป็นต่อการเติบโตของร่างกาย รวมถึงวิธีการเสริมสร้างการมีภาวะโภชนาการที่เหมาะสมเพื่อการพัฒนาการที่สมวัย ซึ่งถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ควรร่วมกันผลักดันให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว”

ทั้งนี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดย อ.สง่า ดามาพงษ์ผู้ทรงวุฒิด้านอาหารและโภชนากรของ สสส. ได้กล่าวสนับสนุนการนำเอาผลการสำรวจดังกล่าวมาใช้เป็นฐานข้อมูลในการวางแผนแก้ไขปัญหาทุพโภชนาการในเด็กไทย ซึ่งข้อมูลที่ค้นพบนั้นไปตรงกับข้อมูลของโครงการพัฒนาระบบและกลไกเพื่อเด็กไทยมีโภชนาการสมวัย ที่ดำเนินงานร่วมกับ สสส. กรมอนามัย และสมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทยฯ เป็นระยะเวลา 3 ปีทำใน 9 จังหวัดนำร่อง พบว่าเด็กไทยจำนวนเกินครึ่ง ยังมีพฤติกรรมทางอาหารและโภชนาการไม่พึงประสงค์ อาทิ การกินผักผลไม้น้อย ดื่มน้ำอัดลม กินขนมกรุบกรอบเป็นประจำเป็นต้น โครงการโภชนาการสมวัยได้ค้นพบแนวทางการส่งเสริมภาวะโภชนาการในทารก วัยก่อนเรียน และวัยเรียนหลายด้านที่สำคัญคือการพัฒนาชุมชน ท้องถิ่นให้มีศักยภาพในการส่งเสริมโภชนาการเด็กในชุมชนศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และโรงเรียน ซึ่งจะนำมาถอดบทเรียน และจัดทำประเด็นนโยบายสาธารณะ เพื่อขยายการดำเนินงานต่อไป

นางปิยนุช ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บมจ. ฟรีสแลนด์คัมพิน่า (ประเทศไทย) ในฐานะผู้แทนของรอยัล ฟรีสแลนด์คัมพิน่า เปิดเผยว่า "รอยัล ฟรีสแลนด์คัมพิน่าได้ให้การสนับสนุนโครงการสำรวจและวิจัยภาวะโภชนาการและสุขภาพเด็กในภูมิภาคอาเซียนใน 4 ประเทศ ประกอบด้วย อินโดนีเซีย มาเลยเซีย เวียดนาม และประเทศไทยด้วยตระหนักดีว่าผลการสำรวจและวิจัยจาก SEANUTS จะมีประโยชน์อย่างมากกับทุกหน่วยงานในการร่วมกันแก้ไขปัญหาภาวะโภชนาการบกพร่องและพัฒนามาตรฐานภาวะโภชนาการ เพื่อพัฒนาการที่สมวัยของเด็กๆ ในภูมิภาค”

"จากผลสำรวจในภาพรวมพบว่า เด็กๆ ในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะเด็กไทยและมาเลเซียต่างประสบปัญหาภาวะโภชนาการที่คล้ายกัน คือ มีน้ำหนักเกินและเข้าข่ายโรคอ้วน ขณะที่อินโดนีเซียจะประสบปัญหาเด็กมีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานและแคระแกร็นอย่างเห็นได้ชัดส่วนในเวียดนาม เด็กในเขตเมืองจะมีภาวะน้ำหนักเกินและเป็นโรคอ้วน ขณะที่เด็กในต่างจังหวัดจะมีน้ำหนักต่ำกว่ามาตรฐานและแคระแกร็น ซึ่งหากเรามองข้ามปัญหาดังกล่าว ก็อาจส่งผลต่อการพัฒนาระดับสติปัญญาตามมา ด้วยเหตุนี้ รอยัล ฟรีสแลนด์คัมพิน่าจึงมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนและร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขข้อบกพร่องทางภาวะโภชนาการเหล่านี้อย่างเต็มที่ ซึ่งจะทำให้เด็กๆ เติบโตขึ้นเป็นพลเมืองที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ พร้อมที่จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต" นางปิยนุช กล่าว

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ