ศ.ดร. บัณทิต เอื้ออาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะหัวหน้าโครงการจัดทำแผนแม่บทพลังงานของประเทศ 20 ปี เปิดเผยว่า การจัดทำแผนแม่บทด้านพลังงานของประเทศ 20 ปี ซึ่ง สนพ. ได้ร่วมมือกับสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในการศึกษา ได้มาสู่ขั้นตอนสุดท้ายของการจัดทำแผนฯ
ระยะที่ 1 ภายหลังจากได้รับฟังความคิดเห็นกับทุกภาคส่วนจากทั่วประเทศมาแล้ว โดยจะนำเสนอผลการศึกษาที่ได้ในเบื้องต้นมาระดมความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในวงกว้างอีกครั้ง เพื่อพัฒนาเป็นภาพอนาคตพลังงานของประเทศในอีก 20 ปีข้างหน้า
ศ.ดร. บัณทิต กล่าวว่า เพื่อให้การกำหนดนโยบายพลังงานของประเทศมีทิศทางที่ชัดเจนเหมาะสมกับการพัฒนาประเทศ สอดคล้องกับความต้องการของภาคประชาสังคม และแนวโน้มสถานการณ์พลังงานโลก รวมทั้งรองรับสถานการณ์ไม่ปกติที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเศรษฐกิจ การเมือง-ระหว่างประเทศ ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิโลก ปัญหาภัยธรรมชาติ อาทิ แผ่นดินไหว สึนามิ
ซึ่งสถานการณ์ต่าง ๆ ที่ได้กล่าวมาข้างต้นถือเป็นความท้าทายที่สำคัญที่ประเทศไทยจำเป็นต้องมีแผนพลังงานระยะยาว ที่ประกอบด้วยกลไก และเครื่องมือที่สามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
สำหรับการสัมมนาในครั้งนี้ภายใต้หัวข้อ “แผนแม่บทพลังงานไทย ระยะที่ 1 : ปัจจัยขับเคลื่อนและภาพอนาคตพลังงานในอีก 20 ปีข้างหน้า” ถือเป็นการนำเสนอบทสรุปของการวิเคราะห์สภาพแวดล้อม ปัจจัยเสี่ยง และลำดับความสำคัญของปัญหา รวมถึงภาพอนาคตพลังงานในอีก 20 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการจัดทำแผนแม่บทพลังงานของประเทศ
“การได้สร้างการมีส่วนร่วมเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในวงกว้างทั้งหน่วยงานรัฐ ภาคธุรกิจ สถาบันการศึกษา นักวิชาการ องค์กรอิสระ และตัวแทนภาคประชาชนในครั้งนี้ จะมีส่วนช่วยในการนำข้อคิดเห็นเหล่านั้นมาใช้ในการปรับปรุงผลการศึกษา และใช้เป็นข้อมูลในการต่อยอดการพัฒนาแผนแม่บทพลังงานในระยะที่ 2 ในขั้นต่อไป” ศ.ดร. บัณทิต กล่าวในตอนท้าย