เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2555 ที่ ห้อง Lotus 5 - 7 บางกอกคอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร นายแพทย์ไพศาล ร่วมวิบูลย์สุข นายแพทย์เชี่ยวชาญ ด้านเวชกรรม สาขาจักษุวิทยา โรงพยาบาลราชวิถี เปิดเผยเกี่ยวกับการอบรม “จอตาขาดและหลุดลอก” ในการประชุมวิชาการ ประจำปีของราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย ซึ่งจัดโดยศูนย์ความเป็นเลิศเฉพาะทางโรคจอตา โรงพยาบาลราชวิถี ร่วมกับชมรมจอตา ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทยว่า จอตาขาดและหลุดลอกเป็นโรคหนึ่งในโรคจอตา ที่เป็นสาเหตุทำให้ตาบอดที่ป้องกันได้ จากสถิติของศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์เฉพาะทางด้านโรคจอประสาทตา โรงพยาบาลราชวิถี ปีงบประมาณ 2555 พบผู้ป่วยที่เป็นโรคจอตาขาดและหลุดลอก จำนวน 4,213 ราย และประมาณได้ว่ามีผู้ป่วยด้วยโรคจอตาขาดและหลุดลอกไม่ต่ำกว่า 7-8 พันรายต่อปีทั่วประเทศ โรคจอตาขาดและหลุดลอก เกิดจากความเสื่อม ของน้ำวุ้นตาที่แนบอยู่กับจอตา ทำให้น้ำวุ้นตาดึง จอตาจนเกิดรอยฉีกขาดและหลุดลอก หากรักษาไม่ทันท่วงที อาจส่งผลให้ตาบอดได้ อาการแสดงของจอตาขาดและหลุดลอก ได้แก่ การเห็นแสงฟ้าแลบ หรือการเห็นเป็นม่านค่อยๆ ตกลงมาบังการมองเห็น สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงจะเป็นโรคนี้ ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้มีสายตาสั้นมากกว่าปกติ ผู้ที่ได้รับอุบัติเหตุทางตา เป็นต้น
การรักษาจอตาขาดและหลุดลอกต้องใช้การผ่าตัด ซึ่งมีหลายวิธีและได้รับการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีการผ่าตัดรักษาด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ด้วยเครื่องผ่าตัดน้ำวุ้นตา ซึ่งจะทำให้จอตาติดกลับคืน ได้ผลมากกว่า 90 % ทั้งนี้ การหลีกเลี่ยงการเกิดโรคจอตาขาดและหลุดลอกควรปฏิบัติตน ดังนี้ เมื่อเห็นเหมือนแสงไฟแลบในตา หรือเห็นเหมือนม่านบังการมองเห็น ให้มาพบจักษุแพทย์ เพื่อขยายม่านตาตรวจจอประสาทตา และติดตามการตรวจเป็นระยะตามที่จักษุแพทย์แนะนำ
การอบรมในครั้งนี้ได้รับเกียรติจากคณะจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคจอตา นำโดย Professor Ingrid Kreissing จักษุแพทย์ด้านจอตาอาวุโสชาวเยอรมัน ร่วมกับทีมจักษุแพทย์โรคจอตา จากประเทศต่างๆ ทั่วโลก เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ออสเตรีย ฯลฯ เป็นวิทยากรบรรยายความรู้เกี่ยวกับโรคจอตาขาดและหลุดลอก ซึ่งเป็นการจัดร่วมกันของศูนย์ความเป็นเลิศเฉพาะทางโรคจอตา โรงพยาบาลราชวิถี ร่วมกับชมรมจอตาราชวิทยาลัย จักษุแพทย์แห่งประเทศไทย ซึ่งนับเป็นการจัดครั้งที่ 100 ของการอบรมนานาชาติในด้านนี้
ติดต่อ:
โรงพยาบาลราชวิถี 0-2354-8108-37 , ฝ่ายประชาสัมพันธ์กรมการแพทย์ 0-2591-8254