1. ที่ประชุมได้หารือความคืบหน้าการดำเนินการปรับปรุงประสิทธิภาพของมาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคี (Chiang Mai Initiative Multilateralisation: CMIM) และการแก้ไขความตกลงCMIM เพื่อให้เป็นไปตามมติที่ประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน+3 เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2555 ณ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ที่ได้เห็นชอบให้เพิ่มขนาดของ CMIM จาก 120 พันล้านเหรียญสหรัฐ เป็น 240 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มสัดส่วนการให้ความช่วยเหลือส่วนที่ไม่เชื่อมโยง กับเงื่อนไขการให้ความช่วยเหลือของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF Delinked Portion) และการจัดตั้งกลไกให้ความช่วยเหลือช่วงก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งคาดว่าการดำเนินการแก้ไขความตกลงฯ จะแล้วเสร็จภายในช่วงต้นปี 2556 นอกจากนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบให้คณะทำงานศึกษาความเสี่ยงจากความผันผวนของการเคลื่อนย้ายเงินทุนที่เข้าสู่ภูมิภาคเป็นจำนวนมากสืบเนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภูมิภาคอาเซียน+3 ในอนาคต
2. ที่ประชุมได้พิจารณาแนวทางการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของสํานักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+3 (ASEAN+3 Macroeconomic Research Office: AMRO) ที่มีสำนักงานที่ประเทศสิงคโปร์ เพื่อให้ AMRO ทําหน้าที่วิเคราะห์และติดตามภาวะการณ์และระวังภัยทางเศรษฐกิจของสมาชิกอาเซียน+3 โดยเห็นชอบให้มีการเพิ่มจำนวนบุคลากรเพื่อให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และได้อนุมัติงบประมาณการดําเนินงานในปี 2556 รวมทั้ง ได้มีการหารือถึงหลักการในการดำเนินการยกระดับให้ AMRO ให้เป็นองค์การระหว่างประเทศโดยเร็ว โดยได้มอบหมายให้คณะทํางาน CMIM จัดทำร่างความตกลงที่เกี่ยวข้องให้แล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม 2556
3. ที่ประชุมได้หารือความคืบหน้าการดําเนินงานของมาตรการริเริ่มพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเซีย (Asian Bond Markets Initiative: ABMI) โดยได้ให้ความเห็นชอบรายละเอียดแผนการดำเนินการของคณะทำงานต่างๆ ซึ่งได้จัดทำขึ้นตามกรอบการดำเนินงานใหม่ของการพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเซีย (ABMI New Roadmap+) ตามที่ที่ประชุมรัฐมนตรีฯ ได้ให้ความเห็นชอบแล้ว ทั้งนี้ เพื่อจัดลําดับความสําคัญของงานและเร่งการดําเนินงานที่ยังไม่มีความคืบหน้าให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว
4. ที่ประชุมได้รับทราบผลการศึกษาเบื้องต้นของคณะวิจัยอาเซียน+3 ในหัวข้อ “การพัฒนาโครงสร้างและเสริมสร้างประสิทธิภาพของหน่วยงานจัดอันดับความน่าเชื่อถือของภูมิภาคอาเซียน+3" และรับทราบความคืบหน้าและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการศึกษาความร่วมมือใหม่ 3 เรื่องได้แก่ (1) ความร่วมมือทางการเงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของภูมิภาค (2) การใช้เงินสกุลท้องถิ่นของภูมิภาคสำหรับการค้าขายในภูมิภาค และ (3) การจัดตั้งกลไก/กองทุนการประกันภัยที่เกิดจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ ซึ่งจะนําผลการศึกษาดังกล่าวมาใช้ประกอบการกําหนดนโยบายและความร่วมมือในอนาคตต่อไป
5. ที่ประชุมได้มีการหารือเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกอาเซียน+3 ซึ่งผู้แทนจากประเทศสมาชิกได้หารืออย่างกว้างขวางเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะวิกฤติหนี้สาธารณะของยูโรโซนและวิกฤติการคลัง (Fiscal Cliff) ของสหรัฐฯ รวมทั้งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภูมิภาค ในเรื่องนี้ นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนกระทรวงการคลัง ได้ให้ความมั่นใจแก่ที่ประชุมว่า ภายใต้ภาวะของเศรษฐกิจโลกที่ผันผวนเศรษฐกิจไทยสามารถขยายตัวได้อย่างมั่นคง โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งจากอุปสงค์ภายในประเทศที่ดี การกระจายตลาดส่งออก ความหลากหลายของสินค้าและบริการ และภาคการเงินที่มีความแข็งแกร่ง โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะสามารถขยายตัวได้ร้อยละ 5.5 และร้อยละ 5.2 ในปี 2555 และ 2556 ตามลำดับ ทั้งนี้ ปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะปานกลางถึงยาวได้แก่ 1) นโยบายภาครัฐที่จะสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยในปีงบประมาณ 2555 รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายขาดดุลการคลัง 3.15 แสนล้านบาท หรือร้อยละ 2.7 ของจีดีพี และในปีงบประมาณ 2556 รัฐบาลมีแผนที่จะดำเนินนโยบายขาดดุลการคลัง 3 แสนล้านบาท หรือร้อยละ 2.4 ของจีดีพี 2) การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน 2.0 ล้านล้านบาทเพื่อปรับปรุงระบบโลจิสติกส์ของประเทศ ซึ่งนอกจากจะช่วยลดต้นทุนทางโลจิสติกส์ของประเทศแล้ว ยังจะช่วยให้ประเทศในภูมิภาคเอเชียสามารถใช้ประโยชน์จากการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาคได้เต็มที่มากขึ้น 3) การลดอัตราภาษีนิติบุคคลจากร้อยละ 30 เป็นร้อยละ 23 ในปี 2555 และร้อยละ 20 ในปี 2556 รวมทั้งการเชื่อมโยงระบบศุลกากรด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวทั้งระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายในประเทศ (National Single Window) และระหว่างสมาชิกอาเซียน (ASEAN Single Window) เพื่อลดต้นทุนการค้าระหว่างกัน และ 4) การรักษาวินัยทางการคลังภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลังโดยรัฐบาลมีแผนที่จะเข้าสู่สมดุลทางการคลังในปี 2560 และการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในมิติอื่นๆ
6. การประชุม AFCDM+3 ครั้งต่อไปมีกําหนดจะจัดขึ้นในวันที่ 2-3 เมษายน 2556 ณ กรุงบันดาเสรีเบกาวัน ประเทศบรูไน โดยมีบรูไนและสาธารณรัฐประชาชนจีนทําหน้าที่เป็นประธานร่วมการประชุม
สำนักการเงินการคลังอาเซียน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
โทร. 02 273 9020 ต่อ 3618