การดำเนินกลยุทธ์ CSR ของบริษัทต่างๆ ในประเทศไทย ยังอยู่ในขั้นเริ่มต้นที่พัฒนาจากการบริจาคในอดีตไปสู่การประกอบธุรกิจอย่างรับผิดชอบต่อสังคม (Social Responsibility Business Practices) เพราะองค์กรต่างๆ ในประเทศไทยรับความรู้ส่วนใหญ่มาจากต่างประเทศ โดยมีทิศทางและแนวโน้มพัฒนาการดำเนิน CSR สอดคล้องตามมาตรฐานโลก มีการออกกฎบังคับต่างๆ ที่ส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินกลยุทธ์ CSR ในไทยมากขึ้น
แต่ทว่าบริษัทฯ ในประเทศไทยมีการรายงานการดำเนินกลยุทธ์ความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัทบนเว็บไซต์จำนวนค่อนข้างน้อย โดยมุ่งเน้นมิติด้านสังคมเป็นอันดับที่ 1 มิติด้านสิ่งแวดล้อม มิติด้านการศึกษาและมิติด้านเศรษฐกิจ ตามลำดับ
ทางด้านกระบวนการดำเนินกลยุทธ์ความรับผิดชอบต่อสังคมมีการดำเนินซีเอสอาร์หลังกระบวนการธุรกิจ (CSR-after-process) มากที่สุด นั่นคือ การบริจาคหลังจากที่บริษัทมีผลกำไร รองลงมาคือ ในกระบวนการธุรกิจ (CSR-in-process) และเสมือนเป็นกระบวนการธุรกิจ (CSR-as-process)
ทางด้านงบประมาณ การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน การทำ CSR Annual Report การสร้างความรับผิดชอบของแต่ละบุคคล (ISR) และการลงทุนความรับผิดชอบต่อสังคม (SRI) ในไทยและทั่วโลกมีอัตราการเพิ่มสูงขึ้น
นักซีเอสอาร์ นักการตลาด นักประชาสัมพันธ์ อาจารย์ นักศึกษาและประชาชนทั่วไป สามารถนำองค์ความรู้ แนวคิด หลักการ หลักปฏิบัติ มิติ กระบวนการ ทิศทาง แนวโน้มและกลยุทธ์การดำเนินกลยุทธ์ความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรในหนังสือเล่มนี้มาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบริบทสังคมไทยเพื่อให้เกิดประสิทธิผลได้จริง
ข้อเสนอแนะในการดำเนินกลยุทธ์ความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัทต่างๆ ในประเทศไทย
1. การดำเนินกลยุทธ์ความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัทต่างๆ ในประเทศไทย ต้องมีการกำหนดพันธกิจและวิสัยทัศน์ความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัทนั้นๆ ให้ชัดเจน จากการวิเคราะห์ทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอกองค์อย่างเป็นระบบและด้วยการบริหารจัดการเชิงกลยุทธ์ทั้งองค์กร โดยการนำแนวคิดการพัฒนากลยุทธ์ความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรในประเทศไทยทั้ง 10 แนวทาง มาประยุกต์ในกระบวนการพัฒนาเชิงกลยุทธ์ ดังนี้ 1. การดำเนินกลยุทธ์ความรับผิดชอบต่อสังคม หรือการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรเชิงกลยุทธ์ (เชิงรุก Inside-out) 2. กระบวนการ (Process) (2.1 CSR-in-process, 2.2 CSR-as-process) 3. รูปแบบของกิจกรรม (การประกอบธุรกิจอย่างรับผิดชอบต่อสังคม) 4. ทรัพยากร (Resources) (Corporate-driven CSR) 5. เจตนารมณ์แห่งการกระทำการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร (ระดับก้าวหน้า) 6. ผลประโยชน์ (Benefit) (สังคม) 7. มิติปัญหา (สิ่งแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจ การศึกษา ศิลปะและวัฒนธรรม ศาสนา) 8. ประเด็น (Issue) ปัญหา (ปัญหาทางสังคม ปัญหาด้านการศึกษา ปัญหาด้านสุขภาวะ ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ปัญหาด้านการประกอบอาชีพ) 9. ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) ที่ได้รับผลกระทบ (ทุกกลุ่มที่มีส่วนได้ส่วนเสีย) 10. การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Participation) (ทุกกลุ่มที่มีส่วนได้ส่วนเสีย)
การดำเนินงานทางด้านความรับผิดชอบต่อสังคมนั้นจะต้องเป็นกระบวนการในการดำเนินงานภายใต้การบริหารจัดการเชิงกลยุทธ์ขององค์กรทั้งระบบเพื่อประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม ไม่ใช่เพียงแค่หวังผลเพื่อสร้างภาพลักษณ์เท่านั้น และควรทำต่อเนื่องในระยะยาว มีเป้าหมาย แนวทางที่ชัดเจน จึงจะทำให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่แท้จริง
2. การดำเนินกลยุทธ์ความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรในประเทศไทย บริษัทต้องคำนึงถึง Quadruple Bottom Line อันประกอบด้วย มิติด้านเศรษฐกิจ มิติด้านสังคม มิติด้านการศึกษาและมิติด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องประเทศไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนา จึงต้องให้ความสำคัญทางมิติด้านการศึกษาด้วย เพื่อพัฒนาประชากรของประเทศให้มีความรู้และคุณภาพ
3. การดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องก่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในระดับมหภาค คือ ทั้งภายในองค์กรตั้งแต่ระดับพนักงาน จนถึงภายนอกองค์กรคือ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย และประชาชน เพื่อสร้างให้เกิดจิตสำนึกที่ดีร่วมกันในสังคม
4. บริษัทและทุกภาคส่วนในสังคมต้องช่วยกันสร้างความรับผิดชอบต่อสังคมของแต่ละบุคคล (Individual Social Responsibility: ISR) ให้เกิดเป็นจิตสำนึกที่ดีในแต่ละเอกัตบุคคล เมื่อสำนึกคนในสังคมดี สังคมและประเทศชาติก็จะดีขึ้นด้วยในที่สุด
5. รัฐบาลและหน่วยงานเอกชน รวมทั้งคณะกรรมการหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยต้องร่วมกันวางแผนในการพัฒนาการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมของหน่วยงานรัฐบาลและเอกชนในประเทศไทย ด้วยการออกกฎเกณฑ์ต่างๆ เพื่อที่จะช่วยส่งเสริมและสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนในสังคมหันมาช่วยกันแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัทเพื่อประโยชน์ต่อสังคมอย่างแท้จริง อาทิ การจัดตั้งดัชนีการลงทุนทางด้านความรับผิดชอบต่อสังคม (Socially Responsible Investment: SRI)
6. รัฐบาลและหน่วยงานเอกชน รวมทั้งคณะกรรมการหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยต้องร่วมกันวางแผนในการพัฒนาการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมของหน่วยงานรัฐบาลและเอกชนในประเทศไทย ด้วยการผลักดัน ส่งเสริมและสนับสนุนการเกิดขึ้นของโครงการอื่นๆ เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและความเชื่อถือเพิ่มขึ้น โดยทั้งจากภายในประเทศไทยและทั่วโลก
7. ขนาดและลักษณะขององค์กรไม่มีผลต่อการดำเนินงานในด้านความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร ว่าจะสามารถทำได้สำเร็จและเป็นรูปธรรมหรือไม่ หากแต่อยู่ที่ความตั้งใจ แนวทาง และกระบวนการในการดำเนินงานที่เป็นระบบมากกว่า
8. ข้อเสนอแนะที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ การดำเนินกลยุทธ์ความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัทต่างๆ ในประเทศไทย มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการประสานทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดระหว่างแผนกความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) และแผนกประชาสัมพันธ์
9. หลักเกณฑ์ในการเลือกรายงานสารด้านความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรจากสื่อมวลชน: ข่าวประชาสัมพันธ์จะต้องมีคุณค่าของข่าวที่สมบูรณ์ นั่นคือ ความสด ความใหม่ ความโดดเด่น มีรายละเอียดและตัวเลขทางเศรษฐกิจอย่างเพียงพอ, ลักษณะโครงการด้านความรับผิดชอบต่อสังคมจะต้องมีความน่าสนใจและมีประโยชน์ต่อผู้อ่านและสังคม ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ต่อภาพลักษณ์และชื่อเสียงขององค์กรแต่เพียงอย่างเดียว, จะต้องมีประเด็นที่น่าสนใจ และมีข้อมูลเชิงลึก, จะต้องเป็นประโยชน์ต่อคนอ่าน ไม่ใช่เพียงเพื่อการประชาสัมพันธ์บริษัทเท่านั้น, แหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือต้องมาจากหลายๆ แหล่งทั้งภายในและภายนอกองค์กร, การจัดเตรียมประเด็นข่าวกิจกรรมที่น่าสนใจให้กับสื่อมวลชน, ภาพประกอบการรายงานข่าวจะต้องเข้ากันได้กับเนื้อหา โดยจะต้องสื่อถึงการทำกิจกรรมนั้นอย่างแท้จริง, นักประชาสัมพันธ์ควรจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการหาแนวทางและประเด็นที่น่าสนใจของข่าวร่วมกับสื่อมวลชน
10. เน้นความสำคัญเพิ่มขึ้นในการติดตาม ประเมินผลและรายงานผลอย่างมีระบบ เพื่อการพัฒนาและปรับปรุงกลยุทธ์ความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรให้มีประสิทธิภาพอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง
11. ความสำคัญที่เพิ่มขึ้นในการจัดทำรายงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรธุรกิจ (CSR Annual Report) ที่แยกจากรายงานผลประกอบการประจำปี (Annual Report) อย่างชัดเจน
12. สื่ออินเทอร์เน็ตและเครือข่ายสังคม (Social Networks) ทวีความสำคัญและแพร่หลายมากยิ่งขึ้นทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก ทำให้องค์กรต่างๆ เริ่มหันมาใช้การสื่อสารทางอินเทอร์เน็ตสูงมากขึ้น ตามนโยบายการพัฒนาไอซีทีของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ที่ได้กำหนดนโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติว่าจะมีความครอบคลุมของบรอดแบนด์ร้อยละ 80 ในปี พ.ศ. 2558 และร้อยละ 95 ในปี พ.ศ. 2563