แนวทางใหม่ ใช้ยาชีวบำบัด ยืดชีวิตผู้ป่วยมะเร็งเต้านม นานกว่า 3 ปี

พฤหัส ๒๙ กันยายน ๒๐๐๕ ๑๓:๐๐
กรุงเทพฯ--29 ก.ย.--โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
น.พ นรินทร์ วรวุฒิ หน่วยมะเร็งวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เผยถึงสถานการณ์ความรุนแรงของโรคมะเร็งเต้านมในปัจจุบัน จากสถิติล่าสุด อัตราการเกิดมะเร็งเต้านมในผู้หญิงไทยคือ 20 คน ต่อประชากร100,000 คน ซึ่งเป็นมะเร็งที่พบมากอันดับหนึ่งในผู้หญิงไทย โดยผู้หญิงที่เป็นโรคมะเร็ง 10 คน จะพบว่าเป็นมะเร็งเต้านมถึง 2 คน และจากข้อมูลล่าสุดที่เป็นทางการ พบว่ามีผู้ป่วยมะเร็งเต้านมรายใหม่กว่า 7,000 ราย ในปี 2542
น.พ. นรินทร์ กล่าวว่า ต้นเหตุสำคัญที่ทำให้มะเร็งเต้านมลุกลามและกลับมาเป็นซ้ำได้เร็ว คือความผิดปกติของยีนที่เรียกว่า HER2 (เฮอร์ทู) ซึ่งทำให้เซลล์เจริญเติบโต แบ่งตัวได้มากและเร็วกว่าปกติ ผลการวิจัยพบว่าผู้ป่วยมะเร็งเต้านมประมาณ 1 ใน 5 คน จะมีการสร้างโปรตีนเฮอร์ทูมากผิดปกติ และผู้ป่วยที่มียีนมะเร็งเฮอร์ทูเป็นบวกมีแนวโน้มที่ภาวะของโรคจะมีความรุนแรงมาก รวมทั้งผู้ป่วยจะตอบสนองต่อการรักษาน้อยกว่า ซึ่งทำให้มะเร็งเต้านมลุกลามได้เร็วและจะมีระยะเวลาในการรอดชีวิตสั้น เมื่อเทียบกับผู้ป่วยมะเร็งเต้านมทั่วๆ ไปที่ตรวจไม่พบเฮอร์ทู ดังนั้น การตรวจเพื่อให้ทราบภาวะเฮอร์ทูของผู้ป่วยมะเร็งเต้านม จึงเป็นขั้นตอนสำคัญ ช่วยให้แพทย์สามารถพยากรณ์การดำเนินของโรคว่ารุนแรงเพียงใด เพื่อที่จะได้วางแผนการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยในแต่ละราย ในปัจจุบันทางการแพทย์ได้พัฒนาวิธีการใหม่ๆ ในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่มีเฮอร์ทูเป็นบวก คือการรักษาโดยใช้ยาชีวบำบัด ซึ่งเป็นแอนตี้บอดี้ที่จับอย่างเฉพาะเจาะจงต่อโปรตีนเฮอร์ทู (Anti-HER2) ซึ่งเป็นตัวรับที่อยู่บนผิวเซลล์มะเร็ง ดังนั้นยาในกลุ่มนี้จึงทำลายเฉพาะเซลล์มะเร็งเท่านั้น แต่ไม่ทำลายเซลล์ปกติของร่างกาย จึงไม่ทำให้เกิดผลข้างเคียงเหมือนยาเคมีบำบัด เช่น ผมร่วง เยื่อบุทางเดินอาหารอักเสบ หรือการกดไขกระดูก ดังนั้นยาชีวบำบัดจึงสามารถใช้ร่วมกับยาเคมีบำบัดได้โดยไม่ทำให้ผลข้างเคียงเพิ่มขึ้น แต่อาจมีผลข้างเคียงเล็กน้อย เช่น มีไข้ หนาวสั่น
สำหรับผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะเริ่มแรกที่มียีนเฮอร์ทูเป็นบวก ข้อมูลล่าสุดจากการวิจัยในกลุ่มผู้ป่วย 5,100 ราย จาก 39 ประเทศทั่วโลก พบว่ากลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับยาชีวบำบัดแอนตี้เฮอร์ทู ร่วมกับยาเคมีบำบัด มีระยะเวลารอดชีวิตโดยปราศจากมะเร็ง นานขึ้นกว่ากลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัดเดี่ยวๆ แสดงให้เห็นว่า ยาชีวบำบัดช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดที่มะเร็งจะกลับมา หลังจากที่ผู้ป่วยตอบสนองต่อการรักษาในครั้งแรก ผลการวิจัยนี้ทำให้เกิดความหวังใหม่ในการรักษามะเร็งเต้านม โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งเต้านมชนิดที่มีความรุนแรง ซึ่งก็คือกลุ่มผู้ป่วยที่มียีนมะเร็งเฮอร์ทูเป็นบวกนั่นเอง สำหรับผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะแพร่กระจายที่มีเฮอร์ทูเป็นบวก ข้อมูลล่าสุดจากการวิจัยในกลุ่มผู้ป่วย 188 ราย พบว่า ร้อยละ 33 ของผู้ป่วยที่ได้รับยาชีวบำบัดแอนตี้เฮอร์ทู ร่วมกับยาเคมีบำบัด ยังมีชีวิตอยู่หลังจากได้รับการรักษามาแล้ว 3 ปี เทียบกับกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัดเดี่ยวๆ ซึ่งมีจำนวนผู้ป่วยที่ยังมีชีวิตอยู่ในปีที่ 3 อยู่ร้อยละ 16 และกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับยาชีวบำบัดร่วมกับยาเคมีบำบัด ก็มีอัตราการตอบสนองต่อการรักษาสูงกว่า คือร้อยละ 61 เทียบกับ ร้อยละ 34 ในกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัดเดี่ยวๆ
รศ. น.พ. นรินทร์ กล่าวทิ้งท้ายว่าการจะรักษาด้วยวิธีใด ควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม ทั้งในด้านผลการรักษาและผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น สำหรับผู้ที่ตรวจพบว่าเป็นมะเร็งแล้ว ขอให้ตั้งสติและให้ความร่วมมือในแผนการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ หาความรู้เพิ่มเติม หมั่นดูแลรักษาสุขภาพ และไม่ท้อแท้สิ้นหวัง--จบ--

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ