ศ.นพ.เกรียง ตั้งสง่า ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ทำหน้าที่ให้ความรู้แก่บุคลากรทางการแพทย์และประชาชน ให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคต่างๆ และป้องกันโรคอย่างเหมาะสม ซึ่งจะนำไปสู่การลดภาระความเจ็บป่วยจากโรค รวมถึงค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ ซึ่งในปัจจุบันการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อเริ่มมีความสำคัญมากขึ้นซึ่งไม่เพียงแต่การฉีดวัคซีนในเด็กที่นำมาใช้เป็นเวลามากกว่า 30 ปีในประเทศไทยซึ่งเห็นได้ชัดเจนว่าสามารถลดการติดเชื้อในเด็กได้อย่างดี แต่การให้วัคซีนเพื่อป้องกันโรคติดเชื้อผู้ใหญ่และผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เพื่อลดการติดเชื้อหรือลดการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเริ่มมีความสำคัญมากขึ้นในปัจจุบัน ดังนั้นราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย จึงได้มีโครงการในการจัดทำคำแนะนำการให้วัคซีนป้องกันโรคสำหรับผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ โดยได้รับความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญในประเทศไทยหลายฝ่ายร่วมกับสมาคมวิชาชีพต่างๆ ของราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทยในการจัดทำ “คำแนะนำการให้วัคซีนป้องกันโรคสำหรับผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ (Recommended Adult and Elderly Immunization Schedule) ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทยปี พ.ศ. 2555” เพื่อเป็นการสนับสนุนและส่งเสริมการป้องกันโรคด้วยวัคซีนแก่กลุ่มประชากรที่มีข้อบ่งชี้ที่เหมาะสม
ศ.นพ.สมิง เก่าเจริญ ประธานคณะกรรมการจัดทำแนวทางการดูแลรักษาของราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์จึงได้จัดงานสัมมนาเรื่อง “สูตรสำเร็จการลดการเจ็บป่วย-ฉีดวัคซีนในผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ” เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับความจำเป็นของการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคติดเชื้อในผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ การติดเชื้อหลายชนิดในผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ เช่น ไข้หวัดใหญ่ บาดทะยัก คอตีบ สุกใส โรคหัด การติดเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัสในกระแสโลหิต การติดเชื้อเอชพีวี (ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่สำคัญในการนำไปสู่โรคมะเร็งปากมดลูกในสตรีไทย) ซึ่งทั้งหมดยังคงเป็นปัญหาสาธารณสุขสำคัญของประเทศไทย และพบว่าการฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อดังกล่าวในช่วงต่างๆ เช่น วัยรุ่น ผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันในการป้องกันการติดเชื้อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการลดการติดเชื้อโดยเฉพาะสำหรับกลุ่มที่มีความเสี่ยงมากต่อการติดเชื้อหรือเมื่อมีการติดเชื้อจะมีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยรุนแรง
ในปัจจุบันมีจำนวนผู้สูงอายุมากขึ้นในประเทศไทย แต่พบว่าอัตราการให้วัคซีนเพื่อป้องกันโรคหลายโรคที่จำเป็นในประชากรผู้สูงอายุยังอยู่ในอัตราที่ไม่สูงมาก ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย จึงได้มีการจัดทำแนวทางการให้วัคซีนแก่ผู้สูงอายุอย่างชัดเจนและมีนโยบายในการสนับสนุนการให้วัคซีนแก่สูงอายุคล้ายกับในหลายประเทศ เช่น วัคซีนป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ วัคซีนป้องกันการติดเชื้อนิวโมคอคคัส ขณะเดียวกันก็กำหนดการให้วัคซีนแก่ผู้สูงอายุที่มีโรคเรื้อรังที่พบได้บ่อยเช่น เบาหวาน โรคหัวใจ โรคไตวาย ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง และมีการรณรงค์การให้ความรู้แก่บุคลากรทางการแพทย์ในข้อบ่งชี้ของการให้วัคซีน และ มีการสนับสนุนการให้วัคซีนบางชนิดแก่ผู้ใหญ่และผู้สูงอายุโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เช่น วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ นอกจากนั้นประชากรบางกลุ่มมีภาวะซึ่งจะมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากกว่าคนทั่วไปก็ควรพิจารณาการฉีดวัคซีนด้วย เช่น ผู้ป่วยซึ่งมีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องจากการติดเชื้อเอชไอวี หรือการได้รับยากดภูมิคุ้มกันที่มีโอกาสติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ การติดเชื้อนิวโมคอคคัสรุนแรง หญิงตั้งครรภ์ที่มีโอกาสติดเชื้อบาดทะยัก บุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ ตับอักเสบบี โรคหัดสุกใส
“ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย มีความมุ่งมั่นในการให้ความรู้เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพและแนวทางการป้องกันโรคเพื่อประโยชน์ของสาธารณชนเป็นอีกหนึ่งในหน้าที่สำคัญของราชวิทยาลัย เราทราบดีว่าการป้องกันไม่ให้เกิดโรคย่อมดีกว่าการรักษา ซึ่งจะนำไปสู่การลดภาระความเจ็บป่วยจากโรค รวมถึงค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ ซึ่งในปัจจุบันการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อเริ่มมีความสำคัญมากขึ้นซึ่งไม่เพียงแต่การฉีดวัคซีนในเด็กที่นำมาใช้เป็นเวลามากกว่า 30 ปีในประเทศไทยซึ่งเห็นได้ชัดเจนว่าสามารถลดการติดเชื้อในเด็กได้อย่างดี แต่การให้วัคซีนเพื่อป้องกันโรคติดเชื้อผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เพื่อลดการติดเชื้อหรือลดการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเริ่มมีความสำคัญมากขึ้นในปัจจุบัน” ศ.นพ.สมิงกล่าว
ศ.นพ. ธีระพงษ์ ตัณฑวิเชียร เลขานุการ คณะอนุกรรมการร่างคำแนะนำการให้วัคซีนในผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ปีพ.ศ. 2555 กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันหลายประเทศมีการระบุข้อบ่งชี้ของการให้วัคซีนแก่ผู้ใหญ่และผู้สูงอายุอย่างชัดเจน และ มีการสนับสนุนการให้วัคซีน ดังนั้นราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ได้เล็งเห็นความสำคัญจึงมีการจัดทำ “คำแนะนำการให้วัคซีนป้องกันโรคสำหรับผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ” โดยคณะอนุกรรมการร่างคำแนะนำการให้วัคซีนในผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ซึ่งคณะอนุกรรมการเป็นผู้เชี่ยวชาญหลายสาขาในประเทศไทยเพื่อนำมาใช้เป็นแนวทางของแพทย์ในการฉีดวัคซีนให้แก่ ผู้ใหญ่และผู้สูงอายุเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดและมีความเหมาะสม โดยคำแนะนำการให้วัคซีนป้องกันโรคดังกล่าวจะมีการปรับปรุงให้มีความทันสมัยและเหมาะสมโดยคณะอนุกรรมการทุกปี