โตโยต้าคว้ารางวัลรถดีเด่น 4 รุ่น ฮอนด้าได้ไป 2 รางวัลและอีซูซุ 1 รางวัล

พฤหัส ๐๖ ธันวาคม ๒๐๑๒ ๑๖:๒๓
เจ.ดี.พาวเวอร์ เอเชีย แปซิฟิก เปิดเผยผลการศึกษาวิจัยคุณภาพรถใหม่ ประจำปี 2555 (Initial Quality StudySM — IQS) ในวันนี้ พบว่า คุณภาพโดยรวมรถยนต์ใหม่ของกลุ่มรถยนต์ขนาดเล็กในประเทศไทยต่ำกว่ามาตรฐานรถยนต์กลุ่มอื่นๆ

การศึกษาวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษาปัญหาคุณภาพรถยนต์ใหม่ที่เจ้าของรถยนต์ประสบในช่วง 2-6 เดือนแรกของการเป็นเจ้าของ โดยการศึกษานี้ได้ตรวจสอบถึงปัญหาหรือความผิดปกติมากกว่า 200 รายการ และสามารถจัดกลุ่มปัญหาหรือความผิดปกติที่พบได้เป็น 8 หมวดหมู่ โดยเรียงตามลำดับความถี่ของปัญหาที่มีการรายงานเข้ามา ปัญหาแรก ได้แก่ ปัญหาภายนอกรถยนต์ ตามมาด้วยปัญหาเครื่องยนต์และระบบเกียร์ ปัญหาประสบการณ์ในการขับขี่ ปัญหาจากระบบฮีทเตอร์ ระบบระบายอากาศและระบบแอร์ (HVAC) ปัญหาด้านเครื่องเสียง ระบบความบันเทิงและระบบนำทาง ปัญหาจากภายในรถยนต์ ปัญหาจากที่นั่ง และปัญหาจากอุปกรณ์ ปุ่มควบคุมและแผงหน้าปัด การวัดผลด้านคุณภาพของการศึกษานี้คำนวณจากจำนวนปัญหาหรือความผิดปกติที่พบจากรถยนต์ใหม่ทุก 100 คัน (ในที่นี้ เรียกว่า PP100) โดยรถยนต์รุ่นใดที่ได้คะแนนน้อยกว่า ถือว่ารถยนต์รุ่นนั้นมีคุณภาพสูงกว่า

ในปี 2555 ค่าเฉลี่ยคุณภาพรถยนต์ใหม่โดยรวมอยู่ที่ 116 ปัญหาต่อรถยนต์ 100 คัน เปรียบเทียบกับปี 2554 ซึ่งคะแนนอยู่ที่ 113 ปัญหาต่อรถยนต์ 100 คัน คุณภาพรถยนต์ใหม่ของกลุ่มรถยนต์ขนาดเล็ก ซึ่งรวมถึงรถแฮทช์แบ็คที่ผลิตโดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล1ภายใต้โครงการ “อีโค-คาร์” ได้คะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 132 ปัญหาต่อรถยนต์ 100 คัน ซึ่งเป็นกลุ่มรถที่เจ้าของรถแจ้งจำนวนปัญหามากที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับรถยนต์กลุ่มอื่นๆที่ทำการสำรวจครั้งนี้

“รถแฮทช์แบ็คขนาดเล็ก ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างมากในประเทศไทย เนื่องจากได้รับแรงสนับสนุนจากโครงการที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงของรัฐบาล โครงการ“อีโค-คาร์” และโครงการรถยนต์คันแรก2” โลอิค เปอ็อง ผู้จัดการอาวุโสของ เจ.ดี.พาวเวอร์ เอเชีย แปซิฟิก ประจำสิงคโปร์ กล่าว

“ดูจากยอดขายที่เพิ่มขึ้นของกลุ่มรถยนต์ขนาดเล็กแล้ว ถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างมากที่ผู้ผลิตต้องเน้นให้คุณภาพของกลุ่มรถยนต์ขนาดเล็กมีคุณภาพเทียบเท่ากับรถยนต์ในกลุ่มอื่นๆ ดังนั้น จึงถือเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนที่ผู้ผลิตจะต้องหาสาเหตุและดำเนินการปรับปรุงปัญหาด้านคุณภาพที่สำคัญที่เจ้าของรถแฮทช์แบ็คขนาดเล็กแจ้งเข้ามา”

1 เดือนตุลาคม 2552 คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ได้มีมติจัดทำโครงการเพื่อจูงใจให้ผู้ผลิตรถยนต์ประกอบรถยนต์และผลิตชิ้นส่วนหลักๆในประเทศไทย และเพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขรับการส่งเสริม รถยนต์ที่ผลิตต้องได้ขนาดเครื่องยนต์ที่กำหนด ประหยัดน้ำมัน ลดการปล่อยมลพิษและได้มาตรฐานการผลิต

2 โครงการคืนภาษีสำหรับผู้ซื้อรถยนต์คันแรก นโยบายประกาศใช้เมื่อเดือนกันยายน 2554 โดยจะคืนภาษีสรรพสามิตสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท สำหรับผู้ซื้อรถยนต์คันแรก

ทั้งนี้ ปัญหาที่เจ้าของรถแฮทช์แบ็คขนาดเล็กแจ้งเข้ามาบ่อยที่สุด เรียงตามลำดับ ได้แก่ เสียงลมดังเข้ารถและปัญหาเบรคมีเสียงดัง ตามมาด้วยปัญหาที่เกี่ยวข้องกับระบบระบายอากาศและระบบแอร์ (เสียงพัดลมแอร์ดังเกินไปและปัญหาแอร์ไม่เย็น แอร์เย็นช้า) และปัญหาระบบเกียร์ (เกียร์มีเสียงดังผิดปกติ)

ซึ่งผลวิจัยพบว่า หากพนักงานขายได้มีการอธิบายถึงวิธีการใช้อุปกรณ์ต่างๆ ในรถยนต์ก่อนหรือขณะที่เจ้าของรถยนต์จะนำรถยนต์ที่เพิ่งซื้อออกไป จำนวนการแจ้งปัญหาจากเจ้าของรถยนต์ใหม่ที่ได้รับคำอธิบายจะน้อยกว่าเจ้าของรถยนต์ใหม่ที่ไม่ได้รับคำอธิบาย โดยเฉลี่ยแล้ว เจ้าของรถยนต์ที่ได้รับการอธิบายวิธีการใช้อุปกรณ์ต่างๆ ในรถยนต์ คะแนนที่ได้จะเท่ากับ 114 ปัญหาต่อรถยนต์ 100 คัน ในขณะที่เจ้าของรถยนต์ที่ไม่ได้รับการอธิบาย คะแนนเฉลี่ยจะอยู่ที่ 165 ปัญหาต่อรถยนต์ 100 คัน หรือเท่ากับปัญหาเพิ่มขึ้น 45%

“สำหรับช่วงขั้นตอนของการขาย พนักงานขายถือเป็นตัวจักรสำคัญที่จะดำเนินการกับความคาดหวังและลดทัศนคติด้านลบของเจ้าของรถยนต์ที่มีต่อปัญหาคุณภาพรถยนต์ โดยเฉพาะกับผู้ซื้อรถใหม่เป็นครั้งแรก” เปอ็อง กล่าว

“การทดลองขับถือเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ซื้อได้เรียนรู้ถึงลักษณะการใช้งานและนวัตกรรมใหม่ๆของรถยนต์ และได้เข้าใจถึงการออกแบบและศักยภาพของรถยนต์ได้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้พนักงานขายได้ตอบข้อซักถามของผู้ซื้อและอธิบายให้ผู้ซื้อเข้าใจถึงอาการปกติและผิดปกติโดยทั่วไปของรถยนต์”

ผลการศึกษารุ่นรถในแต่ละส่วนตลาดรถยนต์

ในกลุ่มรถยนต์ขนาดเล็ก ฮอนด้า บริโอ้ ครองอันดับหนึ่งด้วยคะแนน 116 ปัญหาต่อรถยนต์ 100 คัน ซูซูกิ สวิฟท์ อีโค ครองอันดับสอง (118 ปัญหาต่อรถยนต์ 100 คัน) ตามมาด้วยอันดับสาม นิสสัน มาร์ช (129 ปัญหาต่อรถยนต์ 100 คัน)

ในกลุ่มรถยนต์ขนาดกลางระดับต้น ฮอนด้า แจ๊ซ ครองอันดับหนึ่งด้วยคะแนน 87 ปัญหาต่อรถยนต์ 100 คัน มาสด้า 2 สปอร์ต ครองอันดับสอง (95 ปัญหาต่อรถยนต์ 100 คัน) และ โตโยต้า วีออส (98 ปัญหาต่อรถยนต์ 100 คัน) ตามมาเป็นอันดับสาม

ในกลุ่มรถยนต์ขนาดกลาง โตโยต้า พริอุส ครองอันดับหนึ่งด้วยคะแนน 65 ปัญหาต่อรถยนต์ 100 คัน อันดับสอง ได้แก่ ฮอนด้า ซีวิค (98 ปัญหาต่อรถยนต์ 100 คัน) และ โตโยต้า โคโรล่า อัลติส (105 ปัญหาต่อรถยนต์ 100 คัน) ตามมาเป็นอันดับสาม

ในกลุ่มรถยนต์อเนกประสงค์ (SUV) โตโยต้า ฟอร์จูนเนอร์ ครองอันดับหนึ่งด้วยคะแนน 87 ปัญหาต่อรถยนต์ 100 คัน เชฟโรเลต แคปติวา (121 ปัญหาต่อรถยนต์ 100 คัน) ครองอันดับสอง ในขณะที่ มิตซูบิชิ ปาเจโร สปอร์ต (140 ปัญหาต่อรถยนต์ 100 คัน) ตามมาเป็นอันดับสาม

ในกลุ่มรถกระบะตอนเดียว อีซูซุ ดีแมคซ์ สปาร์ค ครองอันดับหนึ่งด้วยคะแนน 86 ปัญหาต่อรถยนต์ 100 คัน มิตซูบิชิ ไทรทัน เอส แค็ป (103 ปัญหาต่อรถยนต์ 100 คัน) ครองอันดับสอง ตามมาด้วย โตโยต้า ไฮลักซ์ วีโก้ แชมป์ เอส แค็ป (116 ปัญหาต่อรถยนต์ 100 คัน) ในอันดับที่สาม

ในส่วนของรถกระบะมีแค็ป โตโยต้า ไฮลักซ์ วีโก้ แชมป์ พรีรันเนอร์ สมาร์ทแค็ป ได้รับคะแนนสูงสุดติดต่อกันเป็นปีที่ 4 ด้วยคะแนน 89 ปัญหาต่อรถยนต์ 100 คัน ตามมาด้วย มิตซูบิชิ ไทรทัน เอ็กซ์ แค็ป (116 ปัญหาต่อรถยนต์ 100 คัน) และ นิสสัน ฟรอนเทียร์ นาวารา คาลิเบอร์ เอ็กซ์ แค็ป (117 ปัญหาต่อรถยนต์ 100 คัน) ครองอันดับสาม

ในกลุ่มของรถกระบะ 4 ประตู โตโยต้า ไฮลักซ์ วีโก้ แชมป์ พรีรันเนอร์ ครองอันดับสูงสุดด้วยคะแนน 96 ปัญหาต่อรถยนต์ 100 คัน อีซูซุ ดีแมคซ์ 4 ประตู/ วี ครอส 4 ประตู ตามมาเป็นอันดับสองด้วยคะแนน 101 ปัญหาต่อรถยนต์ 100 คัน ในขณะที่ โตโยต้า ไฮลักซ์ วีโก้ แชมป์ ดี แค็ป ตามมาเป็นอันดับสามด้วยคะแนน 119 ปัญหาต่อรถยนต์ 100 คัน

ผลการศึกษาเพิ่มเติมสำหรับตลาดรถยนต์

ปัญหาที่เจ้าของรถยนต์ประสบโดยเฉพาะในช่วงที่ซื้อรถยนต์มาใหม่นั้น ไม่เพียงทำให้ความไม่พอใจของเจ้าของรถยนต์เพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่ยังทำให้ความภักดีและความรู้สึกเชิงบวกที่มีต่อรถยนต์ยี่ห้อนั้นลดต่ำลง เจ้าของรถยนต์ที่ประสบปัญหาคุณภาพรถยนต์ตั้งแต่แรกที่ซื้อมามีความเป็นไปได้น้อยมากที่จะกลับมาซื้อหรือแนะนำรถยี่ห้อเดิมให้กับผู้อื่นเมื่อเปรียบเทียบกับเจ้าของรถยนต์ที่ไม่ประสบปัญหาคุณภาพรถยนต์ ทั้งนี้ ในจำนวนเจ้าของรถยนต์ที่กล่าวว่า รถยนต์ของตนเองไม่มีปัญหา 67% บอกว่าพวกเขาจะกลับมาซื้อรถยนต์ยี่ห้อเดิมอีก “อย่างแน่นอน” เปรียบเทียบกับเจ้าของรถยนต์ที่ประสบปัญหาอย่างน้อยหนึ่งปัญหาบอกว่าจะกลับมาซื้อยี่ห้อเดิมอีกเพียง 55%

การศึกษาวิจัยคุณภาพรถใหม่ในประเทศไทยประจำปี 2555 จัดทำขึ้นโดยประเมินผลจากเจ้าของรถยนต์ใหม่จำนวน 4,674ราย ที่ซื้อรถยนต์ระหว่างเดือนตุลาคม 2554 ถึงเดือนกรกฏาคม 2555 โดยทำการศึกษาจากผู้ซื้อรถยนต์นั่งส่วนบุคคล รถกระบะ และรถยนต์อเนกประสงค์ จำนวนทั้งสิ้น 77 รุ่น จากรถยนต์ 13 ยี่ห้อ การศึกษานี้ได้เก็บรวบรวมข้อมูลระหว่างเดือนเมษายนถึงเดือนกันยายน 2555

ข้อมูล เจ.ดี. พาวเวอร์ เอเชีย แปซิฟิก (J.D. Power Asia Pacific)

เจ.ดี. พาวเวอร์ เอเชีย แปซิฟิก มีสำนักงานสาขาในกรุงโตเกียว สิงคโปร์ กรุงปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และกรุงเทพฯ โดยจัดทำบทวิจัยความพึงพอใจของลูกค้าและให้บริการคำปรึกษาเกี่ยวกับอุตสาหกรรมยานยนต์ เทคโนโลยีสารสนเทศ และการเงิน ผลงานจากสำนักงานสาขาทั้งห้า คือความเข้าใจในความพึงพอใจของลูกค้าที่ช่วยให้ผู้บริโภคและธุรกิจต่าง ๆ ใน ประเทศ ออสเตรเลีย จีน อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน ประเทศไทย และเวียดนาม เข้าใจถึงสิ่งที่ทำให้ผู้บริโภคได้รับความพึงพอใจ สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ เจ.ดี. พาวเวอร์ เอเชีย แปซิฟิก และสินค้าของบริษัท ได้ทางอินเทอร์เน็ตที่ www.jdpower.com. สื่อมวลชนกรุณาติดต่อ [email protected].

ข้อมูล เจ.ดี. พาวเวอร์ แอนด์ แอสโซซิเอทส์ (J.D. Power and Associates)

สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เวสต์เลค วิลเลจ, แคลิฟอร์เนีย โดย เจ.ดี. พาวเวอร์ แอนด์ แอสโซซิเอทส์ เป็นบริษัทระดับโลกที่ให้ บริการด้านข้อมูลทางการตลาด ให้บริการด้านการคาดการณ์ การปรับปรุงการดำเนินงาน สังคมออนไลน์และการเจาะลึกข้อมูลและโซลูชั่นของการวิจัยความพึงพอใจของลูกค้า การประเมินความพึงพอใจและคุณภาพของบริษัทสำรวจจากความคิดเห็นของผู้บริโภคนับล้านคนต่อปี ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับบทวิจารณ์และการจัดอันดับรถยนต์ การประกันรถยนต์ การประกันสุขภาพ การจัดอันดับโทรศัพท์มือถือ และอื่นๆ กรุณาเข้าเว็บ: JDPower.com ทั้งนี้ เจ.ดี. พาวเวอร์ แอนด์ แอสโซซิเอทส์ เป็นบริษัทในกลุ่มของ เดอะ แมคกรอ—ฮิล คอมพานีส์

ข้อมูล เดอะ แมคกรอ—ฮิล คอมพานีส์ (The McGraw-Hill Companies)

แมคกรอ—ฮิล ได้ประกาศตัวเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2554 โดยมีจุดประสงค์ที่จะแยกเป็น 2 บริษัทมหาชน คือ แมคกรอ—ฮิล ไฟแนนเชียล (McGraw-Hill Financial) บริษัทผู้ให้บริการชั้นนำด้านคอนเท้นท์และการวิเคราะห์ตลาดการเงินโลก และ แมคกรอ—ฮิล เอดูเคชั่น (McGraw-Hill Education) บริษัทการศึกษาชั้นนำที่มุ่งเน้นด้านการเรียนรู้แบบดิจิตอลและบริการการศึกษาทั่วโลก บริษัทที่เป็นที่รู้จักดีของแมคกรอ—ฮิล ไฟแนนเชียล อาทิ บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Standard & Poors (S&P), S&P Capital IQ, S&P Dow Jones Indices, J.D. Power and Associates and Platts ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำที่ให้บริการข้อมูลด้านสินค้าโภคภัณฑ์ ทั้งนี้ ในปี 2554 บริษัทมียอดขาย 6.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ มีพนักงานประมาณ 23,000 คน ใน 280 สำนักงาน ใน 40 ประเทศ สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก http://www.mcgraw-hill.com

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ