นายกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวในโอกาสแถลงข่าวเอสซีจีก้าวเข้าสู่ปีที่ 100 “ถอดบทเรียน เอสซีจี 100 ปี องค์กรนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน” ว่า ตลอดระยะเวลาการดำเนินธุรกิจตั้งแต่ปี 2456 ถึงปัจจุบัน เอสซีจี มีความมุ่งมั่นดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งมีพื้นฐานมาจากอุดมการณ์ 4 ของเอสซีจี โดยแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้เอสซีจีเติบโต อย่างมั่นคง คือ “คน” ซึ่งถือเป็นทรัพยากรที่มีค่าสูงสุด เราให้ความสำคัญอย่างจริงจังในการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพ ทั้งความรู้ความสามารถและคุณธรรม เพื่อให้คนเอสซีจีมีความสามารถดำเนินธุรกิจได้ในทุกสถานการณ์ โดยมองว่าเป็นการลงทุนที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง ในแต่ละปี เอสซีจีใช้งบประมาณเพื่อพัฒนาทรัพยากรบุคคล ปีละ 1,200 ล้านบาท
“เมื่อครั้งเกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งสำคัญ ในปี พ.ศ. 2540 ถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างความร่วมมือของคนเอสซีจีได้อย่างชัดเจน เราสามารถผ่านพ้นวิกฤตเศรษฐกิจดังกล่าวด้วยคนที่เรียนรู้และปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว เมื่อต้องประสบกับวิกฤตอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ หรือน้ำท่วมครั้งใหญ่ คนของเราก็รับมือได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งมีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้นพร้อมรับทุกเหตุการณ์วิกฤตอย่างมั่นใจ
เอสซีจียังเดินหน้าพัฒนาสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม (HVA) ตามนโยบายมุ่งสู่องค์กรนวัตกรรม เรามั่นใจว่ามาถูกทางและประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี โดยสินค้า HVA มีอัตราเติบโตสูงขึ้นอย่างมาก เทียบจากปี 2547-2554 ยอดขายรวมเติบโตขึ้นร้อยละ 90 สินค้า HVA มีอัตราเติบโตสูงถึงร้อยละ 1400 หรือ 14 เท่า ขณะที่สินค้า Commodity มีอัตราเติบโตร้อยละ 34 ณ ปัจจุบัน สินค้าในกลุ่ม HVA มีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 34 ของยอดขายรวม และได้ตั้งเป้ายอดขายจากสินค้าและบริการ HVA ร้อยละ 50 ของยอดขายทั้งหมด ภายในปี พ.ศ. 2558
ก้าวต่อไปของเอสซีจี จะเติบโตเป็นผู้นำธุรกิจอย่างแท้จริงในอาเซียน เราได้เปลี่ยนมุมมองและแนวทางการดำเนินธุรกิจให้สอดรับกับการก้าวสู่ประชมคมเศรษฐกิจอาเซียน มีเครือข่ายธุรกิจที่เติบโตอย่างต่อเนื่องในอาเซียน ได้แก่ อินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ ลาว กัมพูชา สิงค์โปร์ มาเลเซีย และเมียนมาร์ ด้วยมูลค่าทรัพย์สินรวม 55,400 ล้านบาท รวมทั้งมุ่งเน้นขยายการลงทุนธุรกิจหลักในอาเซียน โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีมูลค่าการลงทุน 77,500 ล้านบาท ทั้ง M&A และ Greenfield ในประเทศอินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ กัมพูชา และไทย” นายกานต์ กล่าว
“ตลอดระยะเวลาหนึ่งศตวรรษที่ผ่านมา เอสซีจี มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจอย่างมีคุณธรรมบนพื้นฐานการพัฒนาอย่างยั่งยืน ภายใต้ความร่วมมือของคนเอสซีจี เราพร้อมสนับสนุนให้องค์กร ต่าง ๆ นำแนวทางการบริหารจัดการที่ดีและการพัฒนาอย่างยั่งยืนไปประยุกต์ใช้อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อร่วมสร้างความแข็งแกร่งให้กับภาคธุรกิจอุตสาหกรรม และเติบโตร่วมกันอย่างยั่งยืนในระดับภูมิภาค เอสซีจีมั่นใจว่าจะก้าวสู่ศตวรรษที่สองอย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไปในอนาคต” นายกานต์ กล่าวในตอนท้ายเอสซีจี 100 ปี องค์กรนวัตกรรมชั้นนำแห่งอาเซียนความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ ก่อกำเนิดบริษัทปูนซีเมนต์แห่งแรกของเมืองไทย เอสซีจี ซิเมนต์
เอสซีจีถือกำเนิดขึ้นจากพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ที่ทรงให้ก่อตั้งบริษัทปูนซิเมนต์ไทย เป็นบริษัทผลิตปูนซีเมนต์แห่งแรกของไทย ในปี พ.ศ. 2456 เพื่อผลิตปูนซีเมนต์ วัสดุก่อสร้างที่สำคัญในการสร้างความเจริญก้าวหน้าให้กับประเทศ ทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ โดยบริษัทได้เริ่มก่อตั้งโรงงานผลิตปูนซีเมนต์แห่งแรกขึ้นที่บางซื่อ ผลิตปูนซีเมนต์ชนิดปอร์ตแลนด์ ก่อนขยายตัวทางธุรกิจด้วยการตั้งโรงงานท่าหลวง เพื่อเพิ่มกำลังผลิต ต่อมา บริษัทได้ตั้งโรงงานเพิ่มขึ้น ได้แก่ โรงงานทุ่งสง ที่มีกรรมวิธีการผลิตปูนซีเมนต์แบบแห้งแห่งแรกของไทย โรงงานแก่งคอย ที่เลือกใช้เทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยที่สุดในขณะนั้น โรงงานเขาวง ที่มีหม้อเผาที่ใหญ่ที่สุดในโลกในขณะนั้น และโรงงานลำปาง เพื่อขยายกำลังผลิตในพื้นที่ภาคเหนือ โดยมุ่งมั่นผลิตปูนซีเมนต์และคอนกรีตคุณภาพที่สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า นอกจากนี้ บริษัทยังเป็นผู้ผลิตวัสดุทนไฟที่ใช้เทคโนโลยีทันสมัยและใหญ่ที่สุดในประเทศ
จุดเปลี่ยนครั้งใหม่ สร้างธุรกิจจัดจำหน่ายที่แข็งแกร่ง เติบโตสู่ เอสซีจี ดิสทริบิวชั่น
ในอดีต บริษัทที่ผลิตสินค้าต้องขายสินค้าเองด้วย บริษัทปูนซิเมนต์ไทยจึงได้ตั้งโต๊ะขายตั๋วสินค้าหน้าโรงงาน ต่อมา การบริหารงานขายสินค้าของบริษัทเริ่มชัดเจนมากขึ้น ในปี พ.ศ. 2458 มีการจัดตั้งแผนกจัดจำหน่าย (Sale Office) ควบคู่ไปกับการสนับสนุนการขายโดยใช้ผู้แทนจำหน่าย (Sale Agency) ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงมีแผนจัดตั้งบริษัทจัดจำหน่ายขึ้นเป็นครั้งแรก คือ บริษัทค้าวัตถุก่อสร้าง จำกัด ในปี พ.ศ. 2505 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจำหน่ายสินค้าที่เอสซีจีผลิตทั้งในเเละต่างประเทศ จากนั้นได้พัฒนาระบบจัดจำหน่ายให้แข็งแกร่งโดยใช้กลยุทธ์พัฒนาเครือข่ายและคลังสินค้า จัดตั้งผู้เเทนจำหน่ายเพื่อกระจายสินค้าครอบคลุมทั่วประเทศ พัฒนาคลังสินค้าในภูมิภาค วางแผนพัฒนาระบบผู้แทนจำหน่าย ควบคุมการปฏิบัติการด้านการผลิต การเงิน การขนส่ง การซ่อมบำรุง การบันทึก และการสืบค้นข้อมูล และเติบโตอย่างต่อเนื่องด้วยการขยายเครือข่ายผู้แทนจำหน่ายทั่วประเทศ ดำเนินธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ และธุรกิจโลจิสติกส์ที่ให้บริการขนส่งและกระจายสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพ
ริเริ่ม สร้างสรรค์ ต่อยอดธุรกิจใหม่ สู่เอสซีจี ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง
จากความเชี่ยวชาญในธุรกิจปูนซีเมนต์กว่า 25 ปี เอสซีจีได้ต่อยอดและพัฒนาสู่ธุรกิจผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง โดยก่อตั้งบริษัทกระเบื้องกระดาษไทย จำกัด ในปี พ.ศ. 2481 เพื่อผลิตสินค้าที่ใช้ปูนซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ใยหินสำลี ทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ สินค้าที่ผลิตครั้งแรก ได้แก่ กระเบื้องกระดาษ
มุงหลังคาชนิดลอน กระเบื้องแผ่นเรียบ ฝ้าผนังและชายคา ต่อมา ได้ขยายธุรกิจสู่การผลิตสินค้าวัสดุก่อสร้างและตกแต่งครบวงจร เพื่อตอบสนองรูปแบบการใช้ชีวิตที่ไม่หยุดนิ่งของผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์หลังคา กระเบื้องเซรามิก สุขภัณฑ์ ก๊อกน้ำ บล็อกปูถนน ฉนวนกันความร้อน ภายใต้แบรนด์คุณภาพมากมายทั้งในไทยและภูมิภาคอาเซียน มีการพัฒนาสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มอย่างต่อเนื่องครบวงจร เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าทุกไลฟ์สไตล์ ภายใต้แนวคิด Create Better Habitat Solution for All
จากถุงบรรจุปูน สู่ธุรกิจกระดาษครบวงจร เอสซีจี เปเปอร์
การได้รับการยอมรับในฐานะผู้นำด้านธุรกิจปูนซีเมนต์และวัสดุก่อสร้าง เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เอสซีจีขยายสู่ธุรกิจกระดาษ ในปี พ.ศ. 2518 บริษัทได้เข้าไปบริหารกิจการของบริษัทสยามคราฟท์ จำกัด ผู้ผลิตกระดาษสำหรับทำถุงบรรจุปูนซีเมนต์อย่างเต็มตัว จากนั้น ได้ก่อตั้งบริษัทเยื่อกระดาษสยาม จำกัด เพื่อดำเนินธุรกิจผลิตเยื่อกระดาษ ซึ่งเป็นต้นน้ำสำคัญของธุรกิจ และขยายสู่ธุรกิจบรรจุภัณฑ์และกระดาษพิมพ์เขียน ซึ่งเป็นปลายน้ำของธุรกิจ ส่งผลให้เอสซีจีก้าวเข้าสู่ธุรกิจกระดาษครบวงจรอย่างแท้จริง และเป็นผู้นำผลิตภัณฑ์กระดาษแบบครบวงจรรายใหญ่ที่สุดของไทย
จากยุทธศาสตร์การคิดนอกกรอบ สู่ธุรกิจเคมีภัณฑ์ที่ยิ่งใหญ่ เอสซีจี เคมิคอลส์
การก้าวเข้าสู่ธุรกิจเคมีภัณฑ์กับยุทธศาสตร์การคิดนอกกรอบ ถือเป็นความท้าทายครั้งยิ่งใหญ่ที่ทำให้เอสซีจีตื่นตัวในการเรียนรู้และพัฒนาตนเองตลอดเวลา การเกิดขึ้นของธุรกิจเคมีภัณฑ์ของเอสซีจีสอดรับกับแผนแม่บทโครงการปิโตรเคมีของรัฐ ที่จัดตั้งบริษัท ปิโตรเคมีแห่งชาติ จำกัด ในปี พ.ศ. 2526 โดยมีเอสซีจีร่วมถือหุ้น มีเป้าหมายในการสร้าง Petrochemical Complex ขั้นต้นของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีไทย ในขณะนั้น บริษัทเริ่มขยายเข้าสู่ธุรกิจเคมีภัณฑ์อย่างเป็นทางการ ก่อตั้งบริษัทไทยโพลิเอททีลีน จำกัด เพื่อผลิตเม็ดพลาสติกโพลิเอททีลีนและเม็ดพลาสติกโพลิโพรไพลีนครบทุกประเภทเป็นรายแรกของไทย และขยายการลงทุนโดยเข้าสู่อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ขั้นต้น ด้วยการก่อตั้งโรงงานโอเลฟินส์ ทำให้บริษัทกลายเป็นผู้ผลิตเคมีภัณฑ์ครบวงจรรายใหญ่รายหนึ่งของประเทศ และเป็นก้าวสำคัญที่สร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของไทย
เปิดใจ เรียนรู้สิ่งใหม่ เติบโตไปพร้อมคู่ธุรกิจ ก่อกำเนิดธุรกิจร่วมทุน
เอสซีจีได้ร่วมทุนกับบริษัทชั้นนำระดับโลก อาทิ ญี่ปุ่น และฝรั่งเศส เพื่อดำเนินธุรกิจอุตสาหกรรมโลหะ เหล็ก เครื่องจักรกล และไฟฟ้า โดยเกิดการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี การบริหารจัดการ และระบบการทำงานที่มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน นำไปสู่การต่อยอดให้ทุกธุรกิจของเอสซีจีพัฒนาศักยภาพได้สูงสุด ซึ่งการร่วมทุนกับต่างประเทศ สะท้อนถึงการเป็นที่ยอมรับของเอสซีจีในระดับโลกได้เป็นอย่างดี
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สื่อสารการตลาด บริษัทเอสซีจีเน็ตเวิร์คแมเนจเม้นท์ จำกัด
อาคาร 30 D ชั้น 1 เลขที่ 1 ถ.ปูนซิเมนต์ไทย บางซื่อ กรุงเทพ 10800
โทรศัพท์ 02-5864444