ก.ล.ต. ได้ตรวจสอบพยานหลักฐานแล้วเห็นว่า นายสมจิตรได้ดำเนินการหรือมีส่วนรู้เห็นยินยอมให้มีการจัดทำเอกสารและบันทึกรายได้จากการขายอันเป็นเท็จในบัญชีและงบการเงินของ SINGHA ในปี 2550เป็นเงินรวม 543.3 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 47.3 ของยอดขายสินค้า เพื่อให้ SINGHA สามารถแสดงผลกำไรสุทธิจากการดำเนินการในปี 2550 จำนวน 63.7 ล้านบาท ซึ่งหากไม่มียอดรายได้ดังกล่าวผลประกอบการในงบการเงินของ SINGHA จะแสดงผลขาดทุน
โดยรายได้ที่เชื่อว่าเป็นเท็จดังกล่าว คือ รายการขายสินค้าประเภทพื้นไม้สำเร็จรูปให้กับลูกค้าในประเทศ9 แห่ง ในปี 2550 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกค้ารายใหม่ และต่อมางบการเงินในปี 2551 SINGHA ได้บันทึกรายจ่ายหนี้สงสัยจะสูญเป็นจำนวนเงินสูงถึง 320.8 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากยอดขายสินค้าให้แก่ลูกค้าในประเทศดังกล่าว นอกจากนี้ในปี 2551 งบการเงินของ SINGHA ที่ยื่นต่อ ก.ล.ต. เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2552 ได้แสดงผลขาดทุนสุทธิจำนวน 944.7 ล้านบาท
ทั้งนี้ การที่นายสมจิตรอยู่ระหว่างถูกกล่าวโทษดำเนินคดีโดย ก.ล.ต. เพราะเหตุต้องสงสัยเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลอันเป็นเท็จดังกล่าว ทำให้นายสมจิตรเป็นบุคคลที่มีลักษณะขาดความเหมาะสมที่จะได้รับความไว้วางใจให้บริหารกิจการที่มีมหาชนเป็นผู้ถือหุ้น ตามข้อ 4(3) ของประกาศคณะกรรมการ ก.ล.ต.ที่ กจ. 8/2553 เรื่อง การกำหนดลักษณะขาดความน่าไว้วางใจของกรรมการและผู้บริหารของบริษัท ลงวันที่ 23 เมษายน 2553 และมีผลให้นายสมจิตรต้องพ้นจากตำแหน่งกรรมการหรือผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์หรือบริษัทจดทะเบียนและจะดำรงตำแหน่งกรรมการหรือผู้บริหารในบริษัทต่อไปไม่ได้ตามนัยมาตรา 89/4 และมาตรา 89/6 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ ด้วย ดังนั้น ก.ล.ต. จึงไม่สามารถแสดงชื่อของนายสมจิตรในระบบข้อมูลรายชื่อผู้บริหารบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ตั้งแต่วันที่ ก.ล.ต. กล่าวโทษ
อนึ่ง การกล่าวโทษของ ก.ล.ต. เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของกระบวนการบังคับใช้กฎหมายทางอาญาเท่านั้นภายใต้กระบวนการนี้ การพิจารณาวินิจฉัยว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายเป็นอำนาจและดุลพินิจของศาลยุติธรรม