นายประมุท ศรีวิเชียร ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท ไซแมนเทค กล่าวว่า “ปัจจุบัน องค์กรธุรกิจในเมืองไทยมีการสร้างข้อมูลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีการนำเอาเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ในดาต้าเซ็นเตอร์ ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อาจเปรียบเสมือนการขับเคลื่อนและผลักดันให้ธุรกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว หรืออาจฉุดรั้งองค์กรไม่ให้ก้าวไปข้างหน้า ความแตกต่างอยู่ที่ว่าองค์กรจะต้องสามารถรับมือกับปัญหาท้าทายที่รออยู่เบื้องหน้า ด้วยการปรับใช้แนวทางการควบคุม เช่น การกำหนดมาตรฐาน หรือสร้างกลยุทธ์การบริหารข้อมูลอย่างโปร่งใส เพื่อปกป้องข้อมูลให้ปลอดภัยและหลีกเลี่ยงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น”
ความซับซ้อนของดาต้าเซ็นเตอร์เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง
องค์กรทุกขนาดในทุกกลุ่มอุตสาหกรรมและทุกภูมิภาครายงานเกี่ยวกับความซับซ้อนที่เพิ่มมากขึ้นในดาต้าเซ็นเตอร์ จากผลสำรวจ พบว่าความซับซ้อนของดาต้าเซ็นเตอร์ส่งผลกระทบต่อทุกแง่มุมของการประมวลผล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรักษาความปลอดภัยและโครงสร้างพื้นฐาน รวมไปถึงการกู้คืนระบบ การจัดเก็บข้อมูล และการปฏิบัติตามกฎระเบียบ ผู้ตอบแบบสอบถามทั่วโลกให้คะแนนความซับซ้อนในทุกๆ ด้านในระดับที่ใกล้เคียงกัน (6.6 คะแนนขึ้นไป จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน) โดยความปลอดภัยมีคะแนนสูงสุดที่ 7.1 คะแนน ระดับความซับซ้อนโดยเฉลี่ยสำหรับบริษัททั่วโลกอยู่ที่ 6.7 คะแนน ส่วนความซับซ้อนโดยเฉลี่ยในทวีปอเมริกาอยู่ในระดับสูงสุดที่ 7.8 ขณะที่เอเชีย-แปซิฟิกมีคะแนนต่ำสุดอยู่ที่ 6.2
ผลกระทบจากความซับซ้อนของดาต้าเซ็นเตอร์มีความหลากหลายและก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายสูงมาก
มีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้ดาต้าเซ็นเตอร์ซับซ้อนมากขึ้น ประการแรกคือ ผู้ตอบแบบสอบถามรายงานว่าต้องจัดการกับแอพพลิเคชั่นที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น และแอพพลิเคชั่นดังกล่าวมีความสำคัญอย่างมากต่อธุรกิจ โดยในระดับโลก 65 เปอร์เซ็นต์ระบุว่าแอพพลิเคชั่นที่สำคัญต่อธุรกิจมีจำนวนเพิ่มขึ้นหรือเพิ่มขึ้นอย่างมาก ส่วนในประเทศไทย 95 เปอร์เซ็นต์ของบริษัทที่ตอบแบบสอบถามระบุว่าจำนวนแอพพลิเคชั่นที่สำคัญต่อธุรกิจมีจำนวนเพิ่มขึ้นหรือเพิ่มขึ้นอย่างมาก และปัจจัยสำคัญอื่นๆ ที่ก่อให้เกิดความซับซ้อนสำหรับดาต้าเซ็นเตอร์ในเมืองไทย ได้แก่ การเติบโตของแนวโน้มไอทีสำคัญๆ เช่น ปริมาณข้อมูลที่เพิ่มสูงขึ้น (54 เปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบแบบสอบถาม), คลาวด์คอมพิวติ้งสาธารณะ (49 เปอร์เซ็นต์), เซิร์ฟเวอร์และเดสก์ท็อปเวอร์ช่วลไลเซชั่น (46 เปอร์เซ็นต์สำหรับแต่ละรายการ) และคลาวด์คอมพิวติ้งภายในองค์กร (46 เปอร์เซ็นต์)
ผลการสำรวจเผยให้เห็นว่าความซับซ้อนที่เพิ่มมากขึ้นสำหรับดาต้าเซ็นเตอร์ในเมืองไทยก่อให้เกิดผลกระทบอย่างกว้างขวาง โดยผลกระทบที่ได้รับการกล่าวถึงมากที่สุดในเมืองไทยก็คือ ต้องใช้เวลานานขึ้นในการค้นหาข้อมูล โดยเกือบครึ่งหนึ่ง (47 เปอร์เซ็นต์) ขององค์กรในประเทศไทยระบุว่าเป็นผลกระทบจากความซับซ้อน ผลกระทบอื่นๆ ได้แก่ ใช้เวลานานขึ้นในการจัดสรรสตอเรจ (40 เปอร์เซ็นต์), การโยกย้ายสตอเรจ (36 เปอร์เซ็นต์), ความคล่องตัวลดลง (36 เปอร์เซ็นต์), การละเมิดระบบรักษาความปลอดภัย (36 เปอร์เซ็นต์), ข้อมูลสูญหายหรือถูกจัดเก็บไว้ผิดที่ผิดทาง (36 เปอร์เซ็นต์), ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น (35 เปอร์เซ็นต์), ระบบหยุดทำงาน (35 เปอร์เซ็นต์) และความเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้องดำเนินคดี (33 เปอร์เซ็นต์)
องค์กรทั่วไปในระดับโลกประสบปัญหาดาต้าเซ็นเตอร์หยุดทำงานโดยเฉลี่ย 16 ครั้งในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายโดยรวม 5.1 ล้านดอลลาร์ โดยสาเหตุหลักที่พบเห็นได้มากที่สุดก็คือ ระบบหยุดทำงาน ตามมาด้วยข้อผิดพลาดของบุคลากร และภัยธรรมชาติ
ฝ่ายไอทีดำเนินมาตรการเพื่อบรรเทาปัญหาความยุ่งยากซับซ้อน
จากผลการสำรวจ พบว่าองค์กรต่างๆ ในประเทศไทยดำเนินมาตรการหลายอย่างเพื่อลดความยุ่งยากซับซ้อน รวมถึงการกำหนดมาตรฐานสำหรับระบบรักษาความปลอดภัย การฝึกอบรมบุคลากรเพิ่มเติม การกำหนดมาตรฐานสำหรับฮาร์ดแวร์ การเพิ่มงบประมาณ และการปรับใช้ระบบคลาวด์คอมพิวติ้ง ที่จริงแล้ว 69 เปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบแบบสอบถามในเมืองไทยมองว่าการเพิ่มงบประมาณและการจัดฝึกอบรมบุคลากรเพิ่มเติม (73 เปอร์เซ็นต์) ค่อนข้างมีความสำคัญหรือมีความสำคัญอย่างมากต่อการจัดการปัญหาความยุ่งยากซับซ้อนของดาต้าเซ็นเตอร์ อย่างไรก็ดี องค์กรในเมืองไทยดำเนินโครงการริเริ่มที่สำคัญที่สุดเพียงอย่างเดียว นั่นคือ การปรับใช้แนวทางการบริหารข้อมูลอย่างโปร่งใสและครบวงจร โดยเป็นโครงการที่จะช่วยให้องค์กรต่างๆ สามารถจำแนกประเภท เก็บรักษา และค้นหาข้อมูล เพื่อลดความเสี่ยงที่เกี่ยวกับข้อมูล รวมทั้งลดค่าใช้จ่ายในการจัดการข้อมูล กำหนดนโยบายการเก็บรักษา และเพิ่มความคล่องตัวให้กับกระบวนการสืบค้นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ (eDiscovery) ทั้งนี้ 95 เปอร์เซ็นต์ขององค์กรในประเทศไทยกำลังพูดคุยเรื่องการบริหารข้อมูลอย่างโปร่งใสหรือได้ดำเนินการทดลองหรือโครงการที่แท้จริง
ปัจจัยสำคัญที่สุดสำหรับการบริหารข้อมูลอย่างโปร่งใสในเมืองไทย ได้แก่ การรักษาความปลอดภัย (77 เปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่าค่อนข้างสำคัญหรือสำคัญอย่างมาก), ความพร้อมใช้งานของเทคโนโลยีใหม่ที่ช่วยเพิ่มความสะดวกในการบริหารข้อมูลอย่างโปร่งใส (62 เปอร์เซ็นต์), ปัญหาเรื่องกฎระเบียบ (56 เปอร์เซ็นต์), ดาต้าเซ็นเตอร์มีความซับซ้อนมากขึ้น (55 เปอร์เซ็นต์), ปัญหาด้านกฎหมาย (46 เปอร์เซ็นต์) และการเพิ่มขึ้นของข้อมูล (43 เปอร์เซ็นต์)
องค์กรในเมืองไทยมีเป้าหมายหลายประการเกี่ยวกับการบริหารข้อมูลอย่างโปร่งใส รวมถึงการปรับปรุงความปลอดภัย (74 เปอร์เซ็นต์ระบุว่ามีความสำคัญ), การตั้งค่าการปกป้องตามคุณประโยชน์ของข้อมูล (71 เปอร์เซ็นต์), ความสะดวกในการค้นหาข้อมูลที่เหมาะสมอย่างทันท่วงที (68 เปอร์เซ็นต์), ลดค่าใช้จ่ายในการจัดการและการจัดเก็บข้อมูล (63 เปอร์เซ็นต์สำหรับแต่ละรายการ) และลดความเสี่ยงทางกฎหมายและการปฏิบัติตามกฎระเบียบ (60 เปอร์เซ็นต์สำหรับแต่ละรายการ)
คำแนะนำของไซแมนเทค
ต่อไปนี้คือคำแนะนำที่จะช่วยให้องค์กรหลีกเลี่ยงผลกระทบจากความซับซ้อนของดาต้าเซ็นเตอร์:
- กำหนดให้ผู้บริหารระดับสูงเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารข้อมูลอย่างโปร่งใส เริ่มต้นด้วยโครงการที่ให้ผลตอบแทนสูง เช่น การป้องกันข้อมูลสูญหาย การจัดเก็บข้อมูลระยะยาว และ eDiscovery เพื่อเก็บรักษาข้อมูลสำคัญ รวมทั้งค้นหาข้อมูลที่คุณต้องการและลบข้อมูลส่วนที่เหลือ
- รองรับการตรวจสอบหลากหลายแพลตฟอร์ม เข้าใจบริการธุรกิจที่ฝ่ายไอทีจัดหา รวมถึงสิ่งต่างๆ ทั้งหมดที่เชื่อมโยง เพื่อลดปัญหาระบบหยุดทำงานและการสื่อสารผิดพลาด
- ทำความเข้าใจว่าคุณมีสินทรัพย์ไอทีอะไรบ้าง รวมไปถึงลักษณะการใช้งานและผู้ใช้ ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายและความเสี่ยง องค์กรไม่ต้องซื้อเซิร์ฟเวอร์และสตอเรจโดยไม่จำเป็น ขณะที่ทีมงานจะต้องรับผิดชอบต่อทรัพยากรที่ใช้ และบริษัทมั่นใจได้ว่าจะไม่ประสบปัญหาขาดแคลนทรัพยากร
- ลดจำนวนแอพพลิเคชั่นสำรองเพื่อรองรับการกู้คืนระบบตามข้อกำหนด และลดค่าใช้จ่ายในการลงทุน ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน และค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม
- ปรับใช้เทคโนโลยีการขจัดข้อมูลซ้ำซ้อนในทุกๆ ที่ เพื่อรับมือกับข้อมูลที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และลดค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการแบ็คอัพข้อมูล
-ใช้อุปกรณ์เพื่อเพิ่มความสะดวกในการแบ็คอัพและกู้คืนข้อมูลบนเครื่องจริงและเวอร์ช่วลแมชชีน
การสำรวจสถานะของดาต้าเซ็นเตอร์ประจำปี 2555 ของไซแมนเทค
การสำรวจสถานะของดาต้าเซ็นเตอร์ (State of the Data Center Survey) ประจำปี 2555 ของไซแมนเทค ดำเนินการโดย ReRez Research เมื่อเดือนมีนาคม 2555 โดยผลการสำรวจอ้างอิงคำตอบจากบุคลากรฝ่ายไอที 2,453 คนจากองค์กรต่างๆ ใน 34 ประเทศ รวมถึง 100 องค์กรจากประเทศไทย ผู้ตอบแบบสอบถามประกอบด้วยพนักงานอาวุโสฝ่ายไอทีที่ดูแลรับผิดชอบเกี่ยวกับการปฏิบัติงานและกลยุทธ์รวมไปถึงพนักงานที่ดูแลเรื่องการวางแผนและการจัดการไอที
แหล่งข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
บล็อก: State of the Data Center Survey Reveals Increasing IT Complexity
อินโฟกราฟิก: State of the Data Center
SlideShare: 2012 State of the Data Center Survey
บล็อกโพสต์: State of the Data Center Survey Reveals Increasing IT Complexity
เชื่อมต่อกับไซแมนเทค
Follow Symantec Southeast Asia on Twitter
Join Symantec on Facebook
Subscribe to Symantec News RSS Feed
View Symantec’s SlideShare Channel
Visit Symantec Connect Business Community