พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) และกรรมการกิจการโทรคมนาคม ได้ร่วมประชุมกันในที่ประชุม กทค. ครั้งที่ 45/2555 วันที่ 7 ธันวาคม 2555ที่ประชุม กทค. วันนี้ เป็นวาระสืบเนื่องมาจากการประชุม กทค. ครั้งที่ 44/2555 เมื่อวันที่ 6ธันวาคม 2555ซึ่งการประชุมในวันดังกล่าวที่ประชุมได้รับทราบผลการตรวจสอบของคณะทำงานตรวจสอบพฤติกรรมการเสนอราคาของผู้เข้าร่วมการประมูลฯ ผลการพิจารณาของศาลปกครองกลาง และผลตรวจสอบกรณีการประมูลคลื่นความถี่ 2.1 GHz จากกรมสอบสวนคดีพิเศษ และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน แล้วได้กำหนดนโยบายให้มีการดำเนินการเกี่ยวกับการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากลย่าน 2.1 GHz เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนได้มีวาระพิจารณาออกใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ IMT ย่าน 2.1 GHz (3G)โดยคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค) ภายใต้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.)ได้มีมติให้ออกใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ IMT ย่าน 2.1 GHz และใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สาม ตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 เพื่อประกอบกิจการตามขอบเขตการอนุญาต ให้แก่ผู้ชนะการประมูล ภายหลังจากผู้ชนะการประมูลคลื่นความถี่ 2.1 GHz ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขการดำเนินการก่อนรับใบอนุญาตอย่างครบถ้วนและถูกต้อง ภายใน 90 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งเป็นผู้ชนะการประมูลเรียบร้อยแล้ว
ทั้งนี้ เป็นไปตามข้อเสนอของ สำนักงาน กสทช. ได้พิจารณาแล้ว โดยที่ให้เหตุผลว่าบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด บริษัท ดีแทค เนทเวอร์ค จำกัด และบริษัท เรียล ฟิวเจอร์ จำกัด มีการดำเนินการครบถ้วนและถูกต้องตามเงื่อนไขในการดำเนินการก่อนรับใบอนุญาต ที่กำหนดในข้อ 12 ของประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (International Mobile Telecommunications — IMT) ย่าน 2.1 GHz พ.ศ. 2555 จึงเห็นควรเสนอที่ประชุม กทค. พิจารณาอนุมัติให้ทั้ง 3 บริษัท ได้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (International Mobile Telecommunications — IMT) ย่าน 2.1 GHz
กทค. พิจารณาแล้วเห็นว่า เรื่องสำคัญยิ่งที่ กทค. ต้องให้ความสำคัญ คือการคุ้มครองผู้บริโภคโดยในประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (International Mobile Telecommunications — IMT) ย่าน 2.1 GHz พ.ศ. 2555 ได้ระบุไว้ในหัวข้อมาตรการเพื่อสังคมและคุ้มครองผู้บริโภค ที่ว่า “ผู้รับใบอนุญาตต้องกำหนดอัตราค่าบริการให้เป็นธรรม สมเหตุสมผลและไม่เอาเปรียบผู้บริโภคและจัดให้มีบริการที่มีคุณภาพ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด”กทค. จึงมีมติในที่ประชุมให้กำหนดเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาต เรื่องอัตราค่าบริการ ดังนี้
1. ตามมาตรา 15 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ. การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 กำหนดให้ “ในการกำหนดเงื่อนไขในการอนุญาต ให้คณะกรรมการกำหนดสิทธิหน้าที่และความรับผิดชอบ โดยเฉพาะของผู้รับใบอนุญาต ให้ชัดเจน รวมทั้งกำหนดแผนการให้บริการกิจการโทรคมนาคมของผู้รับใบอนุญาต โดยอย่างน้อยต้องกำหนดขั้นตอนและระยะเวลาในการเริ่มให้บริการ รายละเอียดของลักษณะ หรือประเภทการให้บริการ อัตราค่าบริการ การให้บริการแจ้งข้อมูลผู้ใช้เลขหมายโทรคมนาคม และการอื่นที่จำเป็นในการให้บริการเพื่อประโยชน์สาธารณะ”
2. ตามประกาศ กทช. เรื่อง เงื่อนไขมาตรฐานในการอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม ได้กำหนดเงื่อนไขในการอนุญาต ใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สามไว้ในหมวดที่ 1 เงื่อนไขทั่วไป ข้อ 8 ซึ่งผู้รับใบอนุญาตแบบที่สามทุกรายต้องปฏิบัติ ได้กำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับค่าธรรมเนียมและค่าบริการในกิจการโทรคมนาคมไว้
3. นอกจากนี้ ตามข้อ 16.8.5 ของประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากลย่าน 2.1GHz พ.ศ. 2555 ได้กำหนดเงื่อนไขในการอนุญาตเป็นพิเศษว่า “ผู้รับใบอนุญาตต้องกำหนดอัตราค่าบริการให้เป็นธรรม สมเหตุสมผลและไม่เอาเปรียบผู้บริโภค ... ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด” เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการคุ้มครองผู้บริโภคเกี่ยวกับอัตราค่าบริการ และเพื่อให้ไม่ขัดต่อประกาศ กทช. เรื่อง อัตราขั้นสูงของค่าบริการและการเรียกเก็บเงินค่าบริการล่วงหน้าในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 จึงเห็นควรกำหนดกรอบเงื่อนไขให้มีการลดค่าบริการในร้อยละที่กำหนดตามที่ กทค. ได้แสดงเจตนารมณ์ เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคในระหว่างที่ยังไม่มีประกาศ กสทช. เรื่อง อัตราขั้นสูงของค่าบริการฯ
4. สำหรับเงื่อนไขใบอนุญาตที่ให้มีการลดค่าบริการเป็นร้อยละนั้น เห็นควรกำหนดเป็นร้อยละ 15 ของอัตราค่าบริการเฉลี่ยของบริการประเภทเสียง (voice) และบริการที่ไม่ใช่เสียง (non-voice) ที่มีการให้บริการอยู่ในตลาด ณ วันที่ได้รับใบอนุญาต จนกว่าคณะกรรมการจะกำหนดเป็นอย่างอื่น
-สำหรับเหตุผลในการกำหนดเงื่อนไขดังกล่าว เนื่องจากทิศทางและแนวโน้มอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่โดยเฉลี่ยในตลาดปัจจุบันแล้วลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยลดลงประมาณร้อยละ 10 และคาดว่า หากมีผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เพิ่มขึ้นในตลาด จะก่อให้เกิดระดับการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับผู้รับใบอนุญาตรายใหม่มีภาระต้นทุนบางส่วนที่ลดลง อันจะส่งผลให้อัตราค่าบริการมีแนวโน้มที่จะปรับลดลงได้ถึงร้อยละ 15
- สำหรับการกำกับดูแลอัตราค่าบริการนั้น จะพิจารณาเปรียบเทียบอัตราค่าบริการของผู้รับใบอนุญาตกับอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่โดยเฉลี่ยในตลาด ณ วันที่ได้รับอนุญาต โดยข้อมูลที่จะใช้ในการตรวจสอบอัตราค่าบริการนั้น จะพิจารณาจากการรายงานโครงสร้างและอัตราค่าบริการที่ผู้รับใบอนุญาตนำส่งแก่สำนักงานทุกวันสิ้นเดือน ตามข้อ 16 ของประกาศ กทช. เรื่อง อัตราขั้นสูงของค่าบริการและการเรียกเก็บเงินค่าบริการล่วงหน้าในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549
- สำหรับเหตุผลสนับสนุนการกำหนดให้ใช้อัตราค่าบริการเฉลี่ยในตลาด ณ วันที่ได้รับอนุญาตมีดังนี้
- การกำหนดให้ใช้อัตราค่าบริการเฉลี่ยในตลาด ณ วันที่ได้รับใบอนุญาตจะก่อให้เกิดความชัดเจนในการปฏิบัติ เนื่องจากจะทำให้ผู้ประกอบการทราบว่าจะคำนวณอัตราค่าบริการให้ลดลงร้อยละ 15 โดยอาศัยฐานตัวเลขใดในการพิจารณา
- การใช้ฐานการคำนวณจากอัตราค่าบริการเฉลี่ยในตลาด ณ วันที่ได้รับใบอนุญาตจะช่วยให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ประกอบการทุกรายเนื่องจากใช้ตัวเลขเฉลี่ยจากอัตราค่าบริการทั้งหมดในตลาด ทำให้ไม่มีการได้เปรียบเสียเปรียบ
- การกำหนดอัตราค่าบริการเฉลี่ยดังกล่าว ทำให้ผู้ประกอบการทราบข้อมูลล่วงหน้าและสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการจัดทำแผนการส่งเสริมการขายล่วงหน้าได้ทันก่อนการเปิดให้บริการ ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องตามเงื่อนไขการอนุญาตดังกล่าว
- การกำหนดให้อัตราค่าบริการลดลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 ดังกล่าว จะสร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภคว่าจะได้รับค่าบริการที่ลดลงแน่ๆ โดยไม่ต้องรอให้มีการออกประกาศ กสทช. เรื่องการกำหนดอัตราค่าบริการขั้นสูงเสียก่อน ซึ่งอาจใช้เวลาเป็นปี จึงเท่ากับเป็นหลักประกันให้ผู้บริโภคมั่นใจว่าก่อนออกประกาศดังกล่าว ผู้ประกอบการจะถูกควบคุมโดยเงื่อนไขการอนุญาตว่าค่าบริการจะลดลงอย่างน้อยร้อยละ 15
การให้ใบอนุญาตฯ ในครั้งนี้ มิได้หมายความว่าผู้ได้รับใบอนุญาตจะสามารถเปิดบริการได้ทันที กสทช. จะกำกับดูแลให้ผู้ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนด ตลอดจนกฎหมาย ระเบียบ ประกาศ และคำสั่งที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด แก่ประชาชน ทั้งนี้การให้ใบอนุญาตที่จะให้บริการ 3G นี้ ถือเป็นสิ่งเริ่มต้นในการพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคมและการสื่อสารของประเทศจากระบบสัญญาสัมปทานมาเป็นระบบการให้ใบอนุญาตโดยประชาชนจะได้รับประโยชน์จากความสามารถในการนำคลื่นความถี่มาให้บริการเพื่อรองรับความต้องการได้มากขึ้น ซึ่งเป็นกลไกที่สำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจให้เติบโต ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ และประชาชนในด้านการศึกษาวัฒนธรรมความมั่นคงของรัฐและประโยชน์สาธารณะอื่นอีกทั้งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมภาคเศรษฐกิจและสังคมตลอดจนสนับสนุนส่งเสริมสิทธิในการติดต่อสื่อสารการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนให้มีความเจริญก้าวหน้าสอดคล้องกับนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐในด้านกิจการสื่อสารโทรคมนาคม ซึ่ง กสทช. จะกำกับดูแลอย่างเข้มข้น เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับประโยชน์สูงสุด และเกิดการพัฒนากิจการโทรคมนาคมของประเทศไทยให้มีความทันสมัยสอดคล้องกับวิวัฒนาการของโลกท่ามกลางการแข่งขันอย่างรุนแรงในระดับสากลต่อไป