ซาโนฟี่ ปาสเตอร์เปิดตัววัคซีนป้องกันไข้สมองอักเสบเจอีรุ่นใหม่ในประเทศไทย

จันทร์ ๑๗ ธันวาคม ๒๐๑๒ ๐๘:๓๔
- วัคซีนป้องกันไข้สมองอักเสบเจอีตัวใหม่สำหรับเด็กและผู้ใหญ่ -

- ประชากร 3 พันล้านคนในแถบเอเชียแปซิฟิกเสี่ยงเป็นไข้สมองอักเสบเจอี -

ซาโนฟี่ ปาสเตอร์ ซึ่งเป็นฝ่ายผลิตวัคซีนของกลุ่มบริษัทซาโนฟี่ [บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ยุโรป (EURONEXT: SAN) และตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก (NYSE: SNY)] ประกาศวันนี้ว่าวัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบชนิดเจอี (Japanese encephalitis — JE) รุ่นใหม่ของบริษัทพร้อมจำหน่ายในประเทศไทยแล้ว วัคซีนไข้สมองอักเสบเจอีที่เป็นนวัตกรรมใหม่นี้ฉีดให้ผู้ใหญ่เพียงเข็มเดียวก็สามารถสร้างภูมิคุ้มกันโรคไข้สมองอักเสบเจอีได้ สำหรับเด็กแนะนำให้ฉีดวัคซีนกระตุ้นอีกเข็มหนึ่งห่างจากวัคซีนเข็มแรก 12 ถึง 24 เดือนเพื่อให้มั่นใจว่าจะมีภูมิคุ้มกันในระยะยาว

ประชากรราว 3 พันล้านคนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีความเสี่ยงต่อการป่วยด้วยโรคไข้สมองอักเสบเจอี1 ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาโดยเฉพาะ2 ไข้สมองอักเสบเจอีมักพบในเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี โรคนี้เป็นสาเหตุสำคัญของการติดเชื้อไวรัสในระบบประสาทในเด็กและความพิการในทวีปเอเชีย ผู้ป่วยร้อยละ 20 — 30 จะเสียชีวิต ขณะที่ร้อยละ 50 ของผู้ป่วยที่รอดชีวิตจะมีความพิการหลงเหลืออยู่3 ประเทศไทยเริ่มฉีดวัคซีนไข้สมองอักเสบเจอีเมื่อพ.ศ.2533 ควบคู่ไปกับการควบคุมการแพร่พันธุ์ของยุงและให้ความรู้แก่ประชาชน ผลคืออุบัติการณ์ของโรคลดลงอย่างมาก อย่างไรก็ตามไวรัสเจอียังคงเป็นสาเหตุของร้อยละ 15 ของโรคไข้สมองอักเสบที่เกิดในประเทศไทย 4

“ปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาไข้สมองอักเสบเจอีโดยเฉพาะ การฉีดวัคซีนเป็นวิธีป้องกันที่มีประสิทธิภาพที่สุด” ศ. พ.ญ. กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ ศาสตราจารย์สาขากุมารเวชศาสตร์โรคติดเชื้อ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าว “วัคซีนป้องกันไข้สมองอักเสบเจอีรุ่นใหม่นี้ได้แสดงให้เห็นว่าสามารถสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่เด็กร้อยละ 96 ได้ในเวลาเพียง 1 เดือนหลังจากฉีดไปหนึ่งเข็ม และคุ้มกันได้ในระยะยาวหลังจากฉีดกระตุ้น5 วัคซีนนี้น่าจะช่วยกระตุ้นให้มีการฉีดวัคซีนป้องกันไข้สมองอักเสบเจอีในประเทศไทยกันมากขึ้น เพื่อที่จะปกป้องทั้งเด็กและผู้ใหญ่จากโรคซึ่งสร้างความเสียหายรุนแรงนี้”

หน่วยงานสาธารณสุขของไทยอนุญาตให้ซาโนฟี่ ปาสเตอร์จัดจำหน่ายวัคซีนไข้สมองอักเสบเจอีตัวใหม่ เนื่องจากรายงานผลการศึกษาทางคลินิกซึ่งทำกับเด็กและผู้ใหญ่กว่า 4,000 คน แสดงให้เห็นว่าวัคซีนปลอดภัยและสามารถกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันได้ด้วยการฉีดเพียงเข็มเดียว

เกี่ยวกับวัคซีนไข้สมองอักเสบเจอีรุ่นใหม่ของซาโนฟี่ ปาสเตอร์

วัคซีนไข้สมองอักเสบเจอีของซาโนฟี่ ปาสเตอร์เป็นวัคซีนชนิดเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ที่แสดงให้เห็นชัดเจนว่าสามารถสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 12 เดือนขึ้นไป ข้อมูลทางคลินิกที่สนับสนุนการใช้วัคซีนป้องกันไข้สมองอักเสบเจอีของซาโนฟี่ ปาสเตอร์กับเด็กและผู้ใหญ่ได้มาจากการศึกษาซึ่งกระทำที่คลินิกหลายแห่งในประเทศสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ไทยและฟิลิปปินส์กับผู้ใหญ่มากกว่า 2,400 คนและเด็กอีกกว่า 2,200 คนซึ่งได้รับวัคซีนไข้สมองอักเสบเจอีของซาโนฟี่ ปาสเตอร์ มีการเปรียบเทียบความปลอดภัยและความสามารถสร้างภูมิคุ้มกันของวัคซีนตัวนี้กับวัคซีนไข้สมองอักเสบเจอีที่ได้รับอนุญาตให้ใช้อยู่แล้วและวัคซีนหลอกในผู้ใหญ่ และเทียบกับวัคซีนชุดควบคุมในเด็ก การศึกษาในระยะที่ 3 ที่มีความสำคัญซึ่งทดสอบกับผู้ใหญ่แสดงว่าวัคซีนไข้สมองอักเสบเจอีของซาโนฟี่ ปาสเตอร์เพียงหนึ่งเข็มมีความสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้เท่ากับวัคซีนชุดควบคุมที่ต้องฉีดสามเข็ม วัคซีนไข้สมองอักเสบเจอีของซาโนฟี่ ปาสเตอร์กระตุ้นให้เกิดแอนตี้บอดี้ในผู้ใหญ่ 14 วันหลังได้รับวัคซีนประมาณร้อยละ 93 และร้อยละ 99 เกิด 28 วันหลังรับวัคซีน5 ผู้ใหญ่มากกว่าร้อยละ 84 ยังคงมีภูมิคุ้มกันไปอีก 5 ปีหลังได้รับวัคซีน6 ผลการศึกษาระยะที่ 3 ในเด็กแสดงว่าประมาณร้อยละ 95 ของผู้เข้าร่วมการทดลองที่ไม่เคยได้รับเชื้อไวรัสเจอีเกิดภูมิคุ้มกัน 28 วันหลังจากได้รับวัคซีนไข้สมองอักเสบเจอีเข็มเดียวของซาโนฟี่ ปาสเตอร์7 ผู้ร่วมทดสอบตอบสนองต่อวัคซีนดีและไม่มีข้อบ่งชี้ถึงปัญหาเรื่องความปลอดภัยระหว่างการทดลองทางคลินิก ความถี่ในการเกิดปฏิกิริยาแพ้ทั้งเฉพาะจุดและในหลายระบบเทียบได้กับที่เกิดหลังการให้วัคซีนหลอกหรือวัคซีนชุดควบคุม

เกี่ยวกับโรคไข้สมองอักเสบชนิดเจอี

โรคไข้สมองอักเสบชนิดเจอีเกิดจากไวรัสซึ่งมียุงเป็นพาหะ โรคนี้จะทำลายระบบประสาท ทำให้สมองและเยื่อหุ้มสมองมีการอักเสบ ผู้ติดเชื้อส่วนมากมีอาการไม่รุนแรง คือมีไข้และปวดศีรษะหรืออาจไม่มีอาการใด ๆ ให้เห็นเลย แต่มี 1 ใน 200 คนที่จะมีอาการหนัก โดยจะมีไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะ คอแข็ง สับสน โคม่า ชักเกร็ง อัมพาตแข็งเกร็งและเสียชีวิต อัตราการเสียชีวิตจากโรคนี้อยู่ที่ร้อยละ 30—35 ของผู้ที่แสดงอาการ โดยที่แต่ละปีมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 15,000 คน8 ร้อยละ 50 ของผู้ที่รอดชีวิตต้องทนทุกข์เพราะระบบประสาทส่วนกลางถูกทำลายอย่างถาวร ในถิ่นที่มักพบไวรัสเจอี โรคไข้สมองอักเสบจะเกิดกับเด็กเล็กเป็นส่วนใหญ่9

เกี่ยวกับซาโนฟี่

ซาโนฟี่เป็นผู้นำระดับโลกด้านการดูแลสุขภาพ ได้ทำการค้นคว้า พัฒนาและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เพื่อการบำบัดรักษาโรคซึ่งคำนึงถึงความต้องการของผู้ป่วยเป็นหลัก ซาโนฟี่มีรากฐานที่แข็งแกร่งในวงการดูแลสุขภาพ โดยวางแนวทางพัฒนาธุรกิจไว้เจ็ดสาขา ได้แก่ การดูแลรักษาโรคเบาหวาน วัคซีนสำหรับมนุษย์ ยาที่เป็นนวัตกรรมใหม่ คอนซูเมอร์เฮลท์แคร์ ตลาดที่กำลังเติบโต สุขภาพสัตว์ และสาขาใหม่คือเจนไซม์ (Genzyme) ซาโนฟี่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ปารีส (EURONEXT: SAN) และตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก (NYSE: SNY)

ซาโนฟี่ ปาสเตอร์คือฝ่ายผลิตวัคซีนของซาโนฟี่ ผลิตวัคซีนกว่า 1 พันล้านโดสต่อปี ทำให้สามารถให้วัคซีนประชากรได้มากกว่า 500 ล้านคนทั่วโลก ซาโนฟี่ ปาสเตอร์เป็นผู้นำของโลกในธุรกิจวัคซีน ผลิตวัคซีนได้หลากหลายชนิดที่สุด ป้องกันโรคติดเชื้อได้มากกว่า 20 โรค บริษัทสืบทอดเจตนารมณ์ที่จะผลิตวัคซีนเพื่อปกป้องชีวิตผู้คนมานานกว่าหนึ่งศตวรรษแล้ว ซาโนฟี่ ปาสเตอร์เป็นบริษัทที่ดำเนินการผลิตวัคซีนเพียงอย่างเดียวรายใหญ่ที่สุด ทุก ๆ วันบริษัทลงทุนมากกว่าหนึ่งล้านยูโรในการค้นคว้าและพัฒนาวัคซีน หากท่านต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ขอเชิญเยี่ยมชมเว็บไซต์ www.sanofipasteur.com หรือ www.sanofipasteur.us

1. Erlanger TE, Weiss S, Keiser J, et al. Past, present, and future of Japanese encephalitis. Emerg Infect Dis. 2009; 15:1-7.

2. Japanese encephalitis. WHO Initiative for Vaccine Research

http://www.who.int/vaccine_research/diseases/vector/en/index1.html 3. Long term immunity to live attenuated

3. Hanna JN, Ritchie SA, Phillips DA, et al. Japanese encephalitis in north Queensland, Australia, 1998. Medical Journal of Australia 1999; 170:533-6.

4. Australian Social Trends September 2010 Australian bureau of statistics catalogue no. 4102.0

5. Chokephaibulkit K, Sirivichayakul C, Thisyakorn U, Sabchareon A, Pancharoen C, Bouckenooghe A, et al. Safety and Immunogenicity of a Single Administration of Live-attenuated Japanese Encephalitis Vaccine in Previously Primed 2- to 5-year-olds and Naive 12- to 24-month-olds: Multicenter Randomized Controlled Trial. Pediatr Infect Dis J 2010 Dec;29(12):1111-7

6. Nasveld PE, Ebringer A, Elmes N, et al. Long term immunity to live attenuated Japanese encephalitis chimeric virus vaccine: Randomized, double-blind, 5-year phase II study in healthy adults. Hum Vaccin 2010; 6:1038-46.

7. Feroldi E, Pancharoen C, Kosalaraksa P, et al. Single-dose, live-attenuated Japanese encephalitis vaccine in children aged 12-18 months: Randomized, controlled phase 3 immunogenicity and safety trial. Human Vaccines & Immunotherapeutics 2012; 8:929-37.

8. Campbell GL, Hills SL, Fischer M, et al. Estimated global incidence of Japanese encephalitis: a systematic review. Bull World Health Organ. 2011; 89:766-74E

9. United Nations The United Nations urbanization prospects: the 2005 revision. POP/DB/WUP/Rev.2005/1/F1. New York: United Nations; 2005

คำสงวนสิทธิ์

ข่าวเผยแพร่ชิ้นนี้มีเนื้อหาที่เป็นการคาดการณ์ดังที่นิยามไว้ในรัฐบัญญัติ Private Securities Litigations Perform Acts พ.ศ. 2538 ฉบับแก้ไข เนื้อหาที่เป็นการคาดการณ์เป็นข้อความที่มิใช่ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ เนื้อหาที่เป็นการคาดการณ์รวมถึงการพยากรณ์และคาดคะเน รวมทั้งสมมติฐาน การกล่าวถึงแผน, วัตถุประสงค์, เจตนาและการคาดหวังถึงผลทางการเงิน, เหตุการณ์, การปฏิบัติงาน, บริการ, การพัฒนาผลิตภัณฑ์และสิ่งที่อาจพัฒนาได้ซึ่งจะเกิดในอนาคต รวมถึงผลการดำเนินงานในอนาคต โดยทั่วไปเนื้อหาที่เป็นการคาดการณ์มักใช้คำว่า “คาดว่า”, “คาดการณ์ว่า”, “เชื่อว่า”, “มีเจตนาจะ”, “ประมาณการ”, “มีแผน” และคำอื่น ๆ ที่มีความหมายในทำนองเดียวกันนี้ แม้ผู้บริหารของซาโนฟี่จะเชื่อว่าสิ่งที่คาดการณ์ไว้ในเอกสารจะสมเหตุผล แต่นักลงทุนพึงระวังว่าข้อมูลที่เป็นการคาดการณ์ย่อมมีความเสี่ยงและความไม่แน่นอน ซึ่งโดยมากทำนายได้ยากและอยู่เหนือการควบคุมของซาโนฟี่ เป็นเหตุให้ผลลัพธ์จริงและผลการพัฒนาแตกต่างจากที่กล่าวไว้ หรือบ่งบอกเป็นนัยหรือทำนายไว้ในข้อมูลที่เป็นการคาดการณ์ล่วงหน้า ตัวอย่างส่วนหนึ่งของความเสี่ยงและความไม่แน่นอนเหล่านี้ ได้แก่ ความไม่แน่นอนซึ่งเกิดขึ้นเป็นปกติวิสัยในการวิจัยและพัฒนา, ข้อมูลทางคลินิกและผลการวิเคราะห์ในอนาคต รวมไปถึงข้อมูลหลังยาวางตลาดแล้ว, การตัดสินใจของหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลเภสัชภัณฑ์ เช่น FDA หรือ EMA ว่าจะให้การอนุมัติหรือไม่และเมื่อไรแก่ยา อุปกรณ์หรือวิธีการทางชีวภาพซึ่งอาจมีการยื่นขอทดลอง อีกทั้งการตัดสินใจเกี่ยวกับฉลากผลิตภัณฑ์และเรื่องอื่น ๆ ที่อาจมีผลกระทบต่อการจัดหามาใช้หรือศักยภาพในทางพาณิชย์ของผลิตภัณฑ์ในขั้นทดลองเหล่านั้น, การไม่ประกันว่าหากผลิตภัณฑ์ในขั้นทดลองเหล่านั้นผ่านการรับรองแล้วจะประสบความสำเร็จในเชิงพาณิชย์, การอนุมัติและความสำเร็จเชิงพาณิชย์ของทางเลือกอื่น ๆ ในการบำบัดรักษาที่อาจเกิดในอนาคต, ความสามารถที่กลุ่มซาโนฟี่จะทำกำไรจากโอกาสเติบโตภายนอก รวมทั้งที่ได้กล่าวถึงหรือระบุในเอกสารที่ได้ซาโนฟี่ได้ยื่นเปิดเผยต่อ SEC และ AMF รวมถึงเนื้อหาที่ระบุอยู่ภายใต้หัวข้อ “ปัจจัยเสี่ยง” และ “คำเตือนเกี่ยวกับข้อมูลที่เป็นการคาดการณ์” ดังปรากฏในรายงานประจำปีของซาโนฟี่ ในแบบ 20-F ประจำปีที่สิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ซาโนฟี่ขอสงวนสิทธิ์ที่ไม่จำเป็นต้องปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงข้อมูลที่คาดการณ์ไว้เว้นแต่ตามที่กฎหมายที่เกี่ยวข้องบังคับเท่านั้น

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมโปรดติดต่อ

สื่อสารมวลชนสัมพันธ์สากล

ปาสกาล บารอลลิเยร์

โทรศัพท์ +33-(0)4-37-37-50-38

[email protected]

www.sanofipasteur.com

สื่อสารองค์กรประจำประเทศไทย

กัญญกา โกวิทวานิช

โทรศัพท์ +66 2 264 8989

[email protected]

www.sanofipasteurthailand.com

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ