นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาบุคลากรท้องถิ่น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า สถาบันฯ มีหน้าที่หลักในการพัฒนาบุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อาทิ นายก อบต. นายก อบจ. นายกเทศมนตรี สมาชิกสภาฯ ปลัด อบต. นักวิชาการ ส่วนการเงินการคลัง ฯลฯ โดยสถาบันได้จัดหลักสูตรเพื่อพัฒนาบุคลากรเพื่อเสริมสร้างศักยภาพ คุณธรรม จริยธรรม ให้สามารถบริการประชาชนได้อย่างเข้าใจและเข้าถึง ทั้งนี้ในแต่ละปีสถาบันฯ ได้จัดอบรมเจ้าหน้าที่มากกว่า 7 พันคน การร่วมมือกันครั้งนี้จึงสอดคล้องกับพันธกิจของสถาบันฯ ที่ต้องการยกระดับการจัดการฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากรของอปท. และ สถ. ให้มีศักยภาพ มีทักษะที่หลากหลาย โดยมีความมุ่งหวังให้บุคลากรส่วนท้องถิ่นเข้มแข็ง เพื่อให้บริการประชาชนได้อย่างมีความสุข
“มูลนิธิสยามกัมมาจล และ สรส. มีเป้าหมายเดียวกันกับสถาบัน ที่ต้องการให้เด็กและเยาวชนเป็นกำลังที่ดีของชาติ อยู่ในสังคมอย่างมีความสุข และสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โลกได้ ในฐานะที่สถาบันฯ เป็น “ข้อต่อ” กับองค์กรส่วนปกครองท้องถิ่น ขณะที่มูลนิธิสยามกัมมาจล และ สรส. มีองค์ความรู้ด้านเยาวชน ชุมชนมากมาย เมื่อร่วมประสานกำลังกันพัฒนาหลักสูตรนี้ จะทำให้การเคลื่อนงานจัดหลักสูตรพัฒนากลไกการดูแลเด็ก เยาวชน และครอบครัวเป็นประโยชน์ มีประสิทธิผลที่ดีขึ้น โดยเรายังต้องการเติมเต็มองค์ความรู้ ที่มาจากการถอดบทเรียนจากประสบการณ์การทำงานจริง แล้วนำมาขยายผล เพื่อที่เจ้าหน้าที่จะได้เรียนรู้ นำไปพัฒนาท้องถิ่น ให้สอดคล้องกับบริบทของตนเองต่อไป”
นายทรงพล เจตนาวณิชย์ ผู้อำนวยการสถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) กล่าวว่า ผลจากการดำเนินงานของ สรส. พบว่า ปัญหาเด็กและเยาวชนเป็นปัญหาใหญ่ของทุกพื้นที่และมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น สร้างความกังวลห่วงใยให้กับทุกฝ่ายนั้นล้วนสืบเนื่องมาจากการการขาดความร่วมมือกันอย่างจริงจังและต่อเนื่องระหว่างเด็ก ผู้ปกครอง โรงเรียนและชุมชน ซึ่งเป็น “เบ้าหลอม” ที่สำคัญในการพัฒนาเด็กทุกช่วงอายุ สรส. ได้ร่วมมือกับองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นในพื้นที่เป้าหมาย เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของเด็ก ผู้ปกครอง โรงเรียน วัด กศน. รพ.สต. ผู้รู้ในชุมชน ฯลฯ พัฒนากลไกการจัดการเรื่องเด็กและเยาวชน ครอบครัว ในรูปแบบของ “โรงเรียนครอบครัว” ที่มีหน้าที่ในการจัดการเรียนรู้ให้กับเด็ก ผู้ปกครอง และผู้สูงอายุ ที่เข้าร่วมกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกของกลุ่มเป้าหมายอย่างเห็นได้ชัด เพื่อให้เกิดประโยชน์ในวงกว้าง สรส. และมูลนิธิสยามกัมมาจล จึงได้ถอดบทเรียนประสบการณ์การทำงานของ สรส. มาพัฒนาเป็นหลักสูตรในการพัฒนาทีมงานของ อปท. ที่มีความสนใจในการทำงานอย่างมีส่วนร่วมกับชุมชน และต้องการพัฒนาเด็ก เยาวชน และครอบครัว อย่างยั่งยืน
สำหรับหลักสูตรที่พัฒนาขึ้นนี้เน้นให้ผู้เรียนมีสมรรถนะในการพัฒนาตนเองไปพร้อมๆกับการพัฒนาชุมชนอย่างมีส่วนร่วมดังนั้นหลักสูตรได้ถูกออกแบบให้เป็นการเรียนรู้ไปพร้อมกับการปฏิบัติงานทั้งในสำนักงานและในชุมชน โดยครอบคลุม เนื้อหาดังนี้ คือ Self-Esteem, Positive Thinking, The Power with in you, Team building ชุมชนไทยท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลง การพึ่งพาตนเองของชุมชน (Community’s self-reliance) ทุนทางสังคม (ในชุมชน และนอกชุมชน) กลยุทธ์ในการพัฒนา การสร้างการมีส่วนร่วม การวิจัยชุมชน การสร้างนโยบายท้องถิ่นจากงานวิจัยชุมชน การแปลงนโยบายสู่แผนงาน โครงการ การคิด เขียน และบริหารโครงการ การถอดความรู้และบทเรียนจากการดำเนินโครงการ เทคนิคการนำเสนอผลงาน ฯลฯ เหล่านี้จะทำผ่านกระบวนการเรียนรู้ ที่ใช้การทำโครงการเป็นเครื่องมือในการบูรณาการระหว่างทฤษฎีและปฏิบัติ ตั้งโจทย์โดยพื้นที่ พบกลุ่มเดือนละครั้ง ครั้งละ 2-3 วัน หมุนเวียนไปตามพื้นที่ของเครือข่าย เพื่อรับฟังแนวคิด ทฤษฎี เครื่องมือ วิธีใช้เครื่องมือ ก่อนนำกลับไปใช้ในการปฏิบัติงานในพื้นที่ แล้วกลับมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากการปฏิบัติ เติมเต็มแนวคิด ทฤษฎี เครื่องมือ เพิ่มเติม จนโครงการแล้วเสร็จ
นางปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า มูลนิธิสยามกัมมาจลให้ความสำคัญกับการพัฒนาเยาวชน โดยมีเป้าหมายส่งเสริมการเรียนรู้ของเยาวชน เพื่อบ่มเพาะพลเมืองรุ่นใหม่ให้มีความสามารถและมีจิตอาสา ร่วมคิด ร่วมทำ และร่วมรับผิดชอบต่อสังคม จึงสนับสนุนให้สถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) ดำเนินโครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น 4 ภาค ประสานความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและดึงการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในชุมชนเข้ามาร่วมคิดร่วมดำเนินการ และร่วมรับผิดชอบการพัฒนาพลเมืองรุ่นใหม่ของท้องถิ่น ในกระบวนการพัฒนาเยาวชน ผู้ที่เกี่ยวข้องได้เปลี่ยนมุมมองต่อเยาวชน ..จากเยาวชนที่ถูกมองว่าเป็น “ปัญหาและภาระของท้องถิ่น” กลายเป็นเยาวชนหรือพลเมืองรุ่นใหม่ที่มี “พลังศักยภาพและมีจิตสำนึกความรับผิดชอบต่อการพัฒนาตนเอง ครอบครัว ชุมชน ท้องถิ่น และสังคมไทย” จึงเห็นว่าประสบการณ์การทำงานของ สรส. ที่ผ่านมาสามารถนำมาพัฒนาเป็นหลักสูตร เพื่อขยายผลสู่บุคลากรที่เกี่ยวข้องนำไปปรับใช้กับตนเองและการพัฒนาด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัวได้
“การร่วมกันพัฒนาหลักสูตรเพื่อพัฒนากลไกการดูแลเด็ก เยาวชน และครอบครัว นี้ถือเป็นการประสานการทำงานที่จะเอื้อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทัศนคติ ความรู้ และทักษะในการทำงานกับชุมชน ด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว และด้านอื่นๆ ทั้งระดับตัวบุคคลและทีมงาน อปท. สามารถนำความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้กับการทำงานและในชีวิตประจำวัน ขณะเดียวกันด้านชุมชนจะเกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงพัฒนาเรื่องเด็ก เยาวชน ครอบครัวในพื้นที่ นำมาสู่การมีส่วนร่วมมากขึ้นของคนในชุมชน เกิดกลไกการจัดการเรียนรู้และพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน ซึ่งกลไกจะมีความต่อเนื่อง สามารถยกระดับการทำงานของตนเองให้เกิดการพัฒนายิ่งๆ ขึ้นต่อไป”
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 0-2270-1350-4