“คาดปี 2555 ผลผลิตกุ้งไทยอยู่ที่ประมาณ 540,000 ตัน ลดลงจากปี 2554 ที่ผลิตกุ้งได้600,000 ตัน หรือลดลงร้อยละ10 เนื่องจากปัญหาการผลิต แต่ถือเป็นปริมาณที่รับได้ เพราะตลาดต่างประเทศไม่ได้เอื้ออำนวยให้ขยายตัว ส่งผลให้ราคากุ้งไม่ตกต่ำมากนัก ในขณะปีนี้ คาดว่าผลผลิตกุ้งทั่วโลกอยู่ที่ประมาณ 2,024,500 ตัน ลดลงจากปี 2554 ประมาณร้อยละ13
ด้านการส่งออก จากข้อมูลล่าสุดการส่งออกกุ้ง เดือน ม.ค. — ต.ค. ปีนี้อยู่ที่ 285,264 ตัน มูลค่า 79,134 ล้านบาท เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2554 ปริมาณ ลดลงร้อยละ12.31 มูลค่าลดลงร้อยละ 12.67 โดยตลาดที่มีการส่งออกลดลงได้แก่ สหรัฐ และอียู ในขณะที่ตลาดเอเชีย ญี่ปุ่น และจีน เพิ่มขึ้นทั้งปริมาณ และมูลค่า” นายกสมาคมกุ้งไทย กล่าว
ท.พ.สุรพล ประเทืองธรรมกล่าวถึงบทบาทกุ้งไทยในตลาดโลกว่า “ตลอดระยะเวลา 20 กว่าปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีบทบาทสูงในตลาดโลกมาโดยตลอด จากการที่ไทยเป็นประเทศผู้ผลิตรายใหญ่แต่เพียงผู้เดียว ทำให้ไทยมีส่วนในการกำหนดราคากุ้ง อย่างไรก็ตาม บทบาทของไทยในการเป็นผู้นำตลาดกำลังจะลดลงเรื่อยๆ เพราะทั่วโลกมีการผลิตกุ้งเพิ่มขึ้นทุกประเทศ”
นายบรรจง นิสภวาณิชย์ กรรมการบริหารสมาคมฯ และนายกสมาคมกุ้งตะวันออกไทย กล่าวถึงการเลี้ยงกุ้งภาคตะวันออกว่า“ปี 2555 นี้ การผลิตค่อนข้างมีปัญหา เกิดจากผลของสภาวะอากาศที่แปรปรวนตั้งแต่ปี 2554 ทำให้ผลผลิตลดลงร้อยละ 30-50 แต่ที่สำคัญที่สุดต่ออุตสาหกรรมคือการตลาด ภาครัฐต้อเป็นตัวแทนของภาคอุตสาหกรรมกุ้ง คอยตอบโต้ และป้องกันการกีดกันการค้าต่างๆ จากคู่ค้าและกลุ่มผู้ไม่หวังดี”
นายเอกพจน์ ยอดพินิจ อุปนายกสมาคมฯ กล่าวว่า “สำหรับปริมาณผลผลิตตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา จนถึงปีนี้ ก็เป็นการยืนยันว่าปริมาณผลผลิตกุ้งที่เหมาะสมของประเทศไทยคือประมาณ 5 แสน ถึง 6 แสนตัน ปัญหามาจากหลายด้าน ทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม การเลี้ยง รวมถึงทรัพยากรที่ใช้ในการเลี้ยง ถ้าเราสามารถควบคุมปริมาณการผลิตให้อยู่ในสภาวะสมดุลย์ ก็จะเป็นผลดีกับอุตสาหกรรมกุ้งไทยโดยรวม”
นายปกครอง เกิดสุข อุปนายกสมาคมฯ กล่าวว่า “การเลี้ยงกุ้งภาคใต้ในฝั่งอันดามัน เป็นแหล่งผลิตกุ้งขาวและกุ้งกุลาดำคุณภาพดีตรงตามความต้องการของลูกค้าในต่างประเทศ แต่ยังคงติดขัดในกระบวนการส่งออกโดยเฉพาะกุ้งมีชีวิตไปประเทศจีน อยากให้ภาครัฐรีบดำเนินการแก้ปัญหาโดยด่วนก่อนที่ตลาดจะตกไปอยู่ในมือของประเทศอื่น”
นายสมชาย ฤกษ์โภคี กรรมการบริหารสมาคมฯ และ ประธานชมรมผู้เลี้ยงกุ้งจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า “ผลผลิตกุ้งในภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยโดยเฉพาะในเขตจังหวัดสุราษฎร์ ค่อนข้างดี มีความเสียหายเฉพาะไตรมาสที่สี่จากโรคตัวแดงดวงขาว ซึ่งเป็นผลมาจากความแปรปรวนของสภาพอากาศ และการขาดแคลนลูกกุ้งเมื่อเดือน ส.ค.-ก.ย. ทำให้เกษตรกรต้องใช้ลูกกุ้งที่ไม่มีคุณภาพ”
สำหรับข้อเรียกร้องที่อยากฝากถึงภาครัฐ ได้แก่มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดของสหรัฐ หรือเอดี(AD) ที่ยังคงเป็นอุปสรรคการส่งออกกุ้งไปยังตลาดนี้นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องแรงงาน ซึ่งไทยติดอยู่ในสถานะ Tier 2 Watch list เป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน ซึ่งหากถูกจัดสถานะเป็นTier 3 จะทำให้ถูกใช้มาตรการกีดกันทางการค้ารูปแบบอื่นๆ ต่อไป รวมถึงมาตรการจีเอสพีของสหภาพยุโรป ซึ่งมีแนวโน้มสูงที่ไทยจะถูกตัดสิทธิตามกฎระเบียบจีเอสพีใหม่และถูกเรียกเก็บภาษีในอัตราที่สูงมาก และส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของไทยอย่างมาก ถือเป็นเรื่องที่ร้ายแรงมากสำหรับอุตสาหกรรม
“ภาครัฐของไทยจะต้องดำเนินการเจรจาอย่างจริงจังเพื่อแก้ปัญหาการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ และอียู ทั้งในเรื่องการปลดแอกประเทศไทยออกจากมาตรการเอดี รวมถึงการดำเนินการแก้ปัญหาเรื่องแรงงาน เพราะปัจจุบันมีการส่งสัญญาณจากผู้นำเข้าว่าอาจมีการหาแหล่งนำเข้าจากประเทศอื่นๆ หากทางสหรัฐฯ เห็นว่าการดำเนินการของภาครัฐไทยต่อการแก้ปัญหาแรงงานไม่เพียงพอในการปรับจาก Tier2Watch List ไปสู่สถานะที่ดีขึ้น นอกจากนี้ ไทยควรเร่งเปิดเจรจาการค้าเสรีกับสหภาพยุโรปโดยเร็ว เนื่องจากกฎระเบียบจีเอสพีรอบใหม่ค่อนข้างแน่นอนว่าไทยจะถูกตัดสิทธิ.ในขณะที่ ประเทศอาเซียนอื่นๆ ซึ่งเป็นคู่แข่งเราทั้งเวียดนาม และมาเลเซีย ก็ได้เริ่มการเจรจากับอียูไปแล้ว ซึ่งหากประเทศเหล่านี้เจรจาสำเร็จ ภาษีก็อาจเป็นศูนย์ ในขณะที่ไทยยังไม่มีการเจรจา ซ้ำยังถูกตัดสิทธิจีเอสพี โอกาสที่จะแข่งขันในตลาดอียู ถือว่าหมดหวัง ดังนั้นภาครัฐ ต้องดำเนินการอย่างจริงจัง ต่อการแก้ปัญหาและขจัดอุปสรรคการส่งออกกุ้งไปยังสองตลาดนี้” นายกสมาคมกุ้งไทย กล่าวทิ้งท้าย