สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เสนอผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง ประเด็นร้อนทางการเมือง พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตรออกทีวีสดช่อง 11

อังคาร ๑๘ ธันวาคม ๒๐๑๒ ๑๕:๓๑
สิ่งที่อยากได้จากทุกฝ่ายในสังคมช่วงเวลาที่เหลืออยู่ปี2555 และการเลือกตั้งผู้ว่า กทม.

กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในกรุงเทพมหานคร และอีก 16 จังหวัดของประเทศ

ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง ประเด็นร้อนทางการเมือง พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ออกทีวีสดช่อง 11 สิ่งที่อยากได้จากทุกฝ่ายในสังคมช่วงเวลาที่เหลืออยู่ปี 2555 และการเลือกตั้งผู้ว่า กทม. กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในกรุงเทพมหานครจำนวน 1,112 ตัวอย่างและอีก 16 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ จันทบุรี ลพบุรี ปทุมธานี ชลบุรี พิจิตร เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ มุกดาหาร หนองคาย ชัยภูมิ สุรินทร์ อุดรธานี ขอนแก่น พัทลุง สุราษฎ์ธานี และนครศรีธรรมราช จำนวนทั้งสิ้น 2,195 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 10 — 15 ธันวาคม 2555 ที่ผ่านมา โดยใช้การเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น ที่สุ่มเลือกจังหวัด อำเภอ ตำบล ชุมชน ครัวเรือน และประชาชนที่ตอบแบบสอบถามระดับครัวเรือน ความคลาดเคลื่อนร้อยละ 7 พบว่า

เมื่อสอบถามถึงประเด็นสำคัญที่ทราบจาก พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ช่วงเวลาออกทีวีสดช่อง 11 พบว่า ร้อยละ 43.1 ทราบและจำได้ว่าเป็นการแสดงความจงรักภักดีและร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี อย่างไรก็ตามร้อยละ 11.9 ทราบแต่คิดว่าเป็นเรื่องไม่เหมาะสม ในขณะที่ร้อยละ 30.8 ไม่ทราบ แต่เห็นคนวิจารณ์กันว่าไม่เหมาะสม และร้อยละ 14.2 รู้สึกเฉยๆ ตามลำดับ

ที่น่าพิจารณาคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 75.4 ระบุว่าการวิพากษ์วิจารณ์ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร หลังออกทีวีสดช่อง 11 กลายเป็นเรื่องการเมือง ต่างฝ่ายต่างพยายามเอาชนะคะคานกัน ทีใครทีมัน ต่างสร้างกระแสเบี่ยงเบนความสนใจของประชาชน กลบลบจุดอ่อนทางการเมืองของฝ่ายตน ในขณะที่ร้อยละ 24.6 ระบุไม่ใช่เรื่องการเมือง นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 56.2 ระบุ ควรให้ทุกอย่างจบเร็ว เพราะไม่ควรนำสถาบันฯ และไม่ควรนำเรื่องความจงรักภักดีเข้ามาสู่ความขัดแย้งในหมู่ประชาชน เพราะต้องการให้หยุดพูด หยุดวิพากษ์วิจารณ์กัน เพราะอยากเห็นบ้านเมืองสงบสุข เพราะเกรงจะยืดเยื้อบานปลาย และเป็นเพียงเรื่องที่ควรให้โอกาส พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตรได้แสดงออกเรื่องความจงรักภักดีบ้าง และทุกคนเคยผิดพลาดด้วยกันทั้งนั้นจึงควรให้โอกาสแก้ไขปรับปรุงตัวกัน เป็นต้น ในขณะที่ร้อยละ 43.8 ระบุควรตรวจสอบขยายผล เพราะ เป็นเรื่องไม่เหมาะสม มีหน่วยงานรัฐร่วมรู้เห็นเป็นใจ เป็นต้น

ที่น่าสนใจคือ เมื่อถามถึงการกระทำและคุณธรรมที่อยากได้มากที่สุดจากทุกฝ่ายในสังคมในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ของปี 2555 เป็นของขวัญส่งท้ายปีเก่าและตลอดไป พบว่า อันดับแรกหรือร้อยละ 33.9 อยากได้รอยยิ้ม น้ำใจไมตรีจิตต่อกัน ความรักความสามัคคีของคนในชาติ อันดับสองหรือร้อยละ 25.5 อยากให้ทุกฝ่ายให้อภัยต่อกัน มีเมตตาปราณีต่อกัน ร้อยละ 16.1 อยากให้มีความกล้าหาญ เสียสละ ร้อยละ 9.5 อยากเห็นความกตัญญู รองๆ ลงไปคือ ความซื่อสัตย์สุจริต ความมีวินัย และ อื่นๆ เช่น ความขยันหมั่นเพียร ความเป็นธรรม การไม่เลือกปฏิบัติ การรู้จักยับยั้งชั่งใจ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม “คำเตือน” เงื่อนไขพึงระวังจะทำให้เกิดการชุมนุมขับไล่รัฐบาล พบว่า ร้อยละ 60.4 ระบุเป็นปัญหาปากท้อง /ของแพง ร้อยละ 57.4 เกิดการทุจริตคอรัปชั่นอย่างกว้างขวาง ร้อยละ 51.2 ระบุการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ร้อยละ 49.1 ระบุพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ ร้อยละ 47.0 ระบุการเลือกปฏิบัติเอื้อประโยชน์พวกพ้อง ไม่เป็นธรรม และร้อยละ 40.2 เกิดการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมและองค์กรอิสระ เป็นต้น

ที่น่าพิจารณาคือ ความรู้สึกของประชาชนต่อสิ่งที่นักการเมืองกำลังอยากจะทำในกระแสข่าวเวลานี้ เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ กฎหมายปรองดอง คดีความทางการเมือง คดีอาญาของนักการเมือง เป็นต้น พบว่า ร้อยละ 42.3 อยากให้จบเร็ว เพราะ เบื่อ เครียด เซ็ง เพราะจะได้ใช้เวลาทำมาหากิน อยากเห็นบ้านเมืองก้าวไปข้างหน้า อะไรจะเกิดก็ให้มันเกิด และช่วยกันแก้ไขต่อไป ยิ่งช้ายิ่งวุ่นวาย ไม่อยากวกวนกันอยู่อย่างนี้ รู้สึกอึดอัด เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ร้อยละ 41.6 อยากให้ค่อยเป็นค่อยไป เพราะ บ้านเมืองจะไม่วุ่นวาย ไม่ต้องรีบร้อน จะได้ปรับตัวได้ เป็นต้น และร้อยละ 16.1 ปล่อยวาง ไม่อยากยุ่งเกี่ยว อยากทำอะไรก็ทำไป ตามลำดับ

นอกจากนี้ สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ยังได้ทำการศึกษาเฉพาะกลุ่มผู้มีสิทธิเลือกตั้งในกรุงเทพมหานครในหัวข้อเรื่องการเลือกตั้งผู้ว่า กทม. พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 94.7 ทราบว่าจะมีการเลือกตั้งผู้ว่า กทม. คนใหม่

ที่น่าสนใจคือ เมื่อถามถึงสื่อที่จะใช้ในการติดตามข้อมูล สนทนาเรื่อง ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่า กทม. จำแนกตามช่วงอายุ โดยตอบได้มากกว่า 1 สื่อ พบว่า คนสูงวัยส่วนใหญ่ยังคงใช้สื่อดั้งเดิม เช่น โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ วิทยุ เป็นต้น ในขณะที่ กลุ่มคนอายุต่ำกว่า 20 ปีจะใช้โซเชียลมีเดีย โซเชียลเน็ตเวิร์ค มากที่สุด โดยร้อยละ 74.3 ในกลุ่มคนอายุต่ำกว่า 20 ปี จะใช้โซเชียลมีเดีย โซเชียลเน็ตเวิร์ค เช่น เฟซบุค เว็บไซด์ ทวิสเตอร์ ไลน์ อีเมล อินสตาแกรม เว็บบอร์ด และบล็อก เป็นต้น ในขณะที่พบร้อยละ 63.4 ในกลุ่มคนอายุ 20 — 49 ปี และร้อยละ 49.2 ในกลุ่มคนอายุ 50 ปีขึ้นไป สำหรับสื่อดั้งเดิม เช่น โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ วิทยุ เป็นต้น ยังคงเป็นที่นิยมในคนกลุ่มอายุ 50 ปีขึ้นไปมากที่สุดคือร้อยละ 95.8 ในขณะที่พบร้อยละ 92.6 ในกลุ่มคนอายุ 20 - 49 ปี และคนอายุต่ำกว่า 20 ปีมีอยู่ร้อยละ 87.9 ที่ยังคงใช้สื่อดั้งเดิมเช่นกัน

เมื่อสอบถามว่า จะเลือกผู้สมัครผู้ว่า กทม. คนเดิมหรือคนใหม่ พบว่า ร้อยละ 35.8 จะเลือกคนใหม่ ในขณะที่ร้อยละ 27.3 จะเลือกคนเดิม และร้อยละ 36.9 ยังไม่แน่ใจ และเมื่อถามว่า อยากได้ผู้ว่า กทม. ที่ทำงานร่วมกับรัฐบาลได้หรืออยู่คนละฝ่ายกับรัฐบาล พบว่า ร้อยละ 45.7 อยากได้ผู้ว่า กทม. ที่ทำงานร่วมกับรัฐบาลได้ เพราะ เบื่อความวุ่นวาย เบื่อการทะเลาะกัน อยากเห็นการช่วยกันแก้ปัญหาให้ประชาชน ไม่ต้องมาคอยขัดแย้ง และกลัวงานแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนจะไม่สำเร็จ เป็นต้น ในขณะที่ร้อยละ 28.9 อยากได้ผู้ว่าที่อยู่คนละฝ่ายกับรัฐบาล เพราะจะได้ตรวจสอบกันและกันได้ เพราะจะได้ถ่วงดุล ไม่ชอบรัฐบาล และร้อยละ 25.4 ระบุใครก็ได้ที่ตัวเองชอบ เพราะ ไม่จำเป็น ขอให้เป็นคนที่ตนนิยมศรัทธาก็เพียงพอ

นอกจากนี้ เมื่อถามว่า ถ้าต้องเลือก ตั้งใจจะเลือกบุคคลที่ตกเป็นข่าวว่าอาจจะเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ท่านใด พบว่า ร้อยละ 32.1 ระบุ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ รองลงมาคือ ร้อยละ 31.7 ระบุ มรว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ร้อยละ 14.5 ระบุพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ร้อยละ 12.8 ระบุ คุณหญิง สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ร้อยละ 6.9 ระบุ นาย กรณ์ จาติกวณิช และร้อยละ 2.0 ระบุอื่นๆ

สำหรับปัญหาเร่งด่วนของคนกรุงเทพมหานคร พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 87.7 ระบุ ค่าครองชีพ ปัญหาปากท้อง รายจ่ายสูง รองลงมาคือ ร้อยละ 79.6 ระบุปัญหาจราจร ร้อยละ 65.7 ระบุปัญหายาเสพติดและอาชญากรรม ความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน รองๆ ลงไปคือ สิ่งแวดล้อม สภาพแวดล้อมไม่น่าอยู่ สุขภาพโรคภัยไข้เจ็บ อาหารปนเปื้อนเป็นพิษ และอื่นๆ เช่น การศึกษา คุณภาพคน ความไม่มีน้ำใจ ไม่มีวินัยของคน ทุจริตคอรัปชั่น เป็นต้น

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 52.7 เป็นหญิง ร้อยละ 47.3 เป็นชาย ตัวอย่างร้อยละ 3.7 อายุต่ำกว่า 20 ปี ร้อยละ 20.2 อายุระหว่าง 20 — 29 ปี ร้อยละ 20.0 อายุระหว่าง 30 — 39 ปี ร้อยละ 20.6 อายุระหว่าง 40 — 49 ปี และร้อยละ 35.5 อายุ 50 ขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 63.7 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 30.6 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี และร้อยละ 5.7 สำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี ตัวอย่างร้อยละ 32.7 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป ร้อยละ 30.2 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 8.7 ระบุเป็นพนักงานเอกชน ร้อยละ 9.7 ระบุข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 8.5 เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ ร้อยละ 6.4 ระบุเป็นนักเรียนนักศึกษา ในขณะที่ร้อยละ 3.8 ระบุว่างงาน/ไม่ประกอบอาชีพ

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๕๐ รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๑๖:๑๔ ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๑๖:๑๓ Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๑๖:๑๐ ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๑๖:๕๒ โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๑๕:๒๖ กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๑๕:๐๑ สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๑๕:๒๙ 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๑๕:๐๘ โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๑๕:๕๒ electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version