นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขกล่าวถึงกรณีหามส่งเด็กนักเรียนชาย หญิงซึ่งเดินทางมาเข้าค่ายลูกเสือในพื้นที่ อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรีกว่า 400 คน เข้าโรงพยาบาลเมื่อกลางดึกของคืนวันที่ 13 ธันวาคม 55 ที่ผ่านมา เนื่องจากอาหารเป็นพิษว่า ในการเข้าค่ายลูกเสือจะมีการประกอบอาหารเพื่อนำมาเลี้ยงคนหมู่มาก ในสภาวการณ์เช่นนี้อาจเกิด“โรคอาหารเป็นพิษ” (Food poisoning) จากการบริโภคอาหาร เครื่องดื่มและน้ำที่ไม่ปลอดภัยได้
อาหารเป็นพิษเป็นโรคที่เกิดได้ทุกเทศกาล สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการปน เปื้อนเชื้อโรคในอาหารและจากตัวผู้ปรุง หรือจากการใช้อุปกรณ์ช้อน ส้อม มีด ชาม ถ้วยที่ผ่านการล้างที่ไม่สะอาดพอ หรือจากอาหารที่เตรียมไว้แล้วไม่ได้บริโภคทันทีจนเกิดการบูดเสียโดยไม่ทัน สังเกต โรคนี้พบได้กับคนทุกวัย ที่ต้องระวังคือการปรุงอาหารที่มีผู้บริโภคจำนวนมาก เช่น ร้านอาหาร โรงเรียน โรงงาน เป็นต้น ในประเทศที่กำลังพัฒนาจะมีเด็กป่วยอาหารเป็นพิษสูงถึง 5 ครั้ง ต่อปี ถ้าเป็นเชื้อชนิดรุนแรงเด็กอาจถึงขั้นเสียชีวิต สำหรับประเทศไทยพบว่าอัตราป่วยโรคอาหารเป็นพิษมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 2 ธันวาคม 2555 มีรายงานผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษแล้วกว่า 107,110 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 168 ต่อแสนประชากร เสียชีวิต 1 ราย พื้นที่ที่พบผู้ป่วยมากที่สุดได้แก่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเฉลี่ย 257 รายต่อแสนประชากร และพบน้อยที่สุดในภาคใต้มีอัตราป่วยเฉลี่ย 53 ราย ต่อแสนประชากร เพื่อความไม่ประมาทจึงได้กำชับให้กรมควบคุมโรคเฝ้าระวัง“โรคอาหารเป็นพิษ” อย่างใกล้ชิด หากได้รับรายงานผู้ป่วยให้จัดส่งหน่วย สอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วลงพื้นที่ เพื่อทำการสอบสวนหาสาเหตุของการเกิดโรค และควบคุมไม่ให้มีการแพร่ระบาดของโรคทันที
ด้านนายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองอธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่าการระบาดของโรคอาหารเป็นพิษพบได้จากการที่คนจำนวนมากรับประทานอาหารร่วมกัน และมีอาการ อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายเหลว ขึ้นพร้อมกันอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่ 2-6 ชั่วโมงหลังกินอาหาร ไปจนเป็นวัน หรือ สัปดาห์หรือเป็นเดือน แต่โดยทั่วไปมักเกิดอาการภายใน 2-6 ชั่วโมงหรือ 2-3 วัน ผู้ป่วยโรคนี้จะ เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน และปวดท้อง มวนท้อง บางรายอาจถ่ายเป็นน้ำ อาจมีมูกเลือดปน ปวดเมื่อยเนื้อตัวและมีไข้ ประมาณร้อยละ 80-90 ของโรคอาหารเป็นพิษมักไม่รุนแรง และหายได้ภายใน 2-3 วัน แต่ขึ้นอยู่กับชนิดและปริมาณของเชื้อโรค หาก เป็นเชื้อชนิดรุนแรง สารพิษของเชื้อโรคจะทำลายประสาท ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นอัมพาต หายใจไม่ได้ หยุดหายใจ และเสียชีวิตในที่สุด
การป้องกันโรคอาหารเป็นพิษ ง่ายที่สุดคือการรักษาสุขอนามัยอย่างสม่ำเสมอ ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนและหลังกินอาหาร หลังเข้าห้องน้ำ กินอาหารสุก สะอาด หากอาหารค้างคืนหรืออาหารที่แช่เย็นไว้ต้องอุ่นให้ร้อนจัดก่อนนำมาบริโภค ไม่กินอาหารสุกๆดิบๆ ระวังความสะอาดของน้ำดื่มหรือน้ำแข็ง เมื่อกินอาหารนอกบ้านควร เลือกร้านที่สะอาด ไว้ใจได้ ไม่ควรกินน้ำสลัด ซอสต่างๆ น้ำส้มสายชู ที่ทำทิ้งค้างไว้นานๆ ส่วนแม่ครัวและผู้ดูแลด้านอาหาร ต้องคำนึงถึงความสะอาดและคุณภาพอาหาร เครื่องปรุงอาหารต่างๆ เครื่องใช้ในครัว และสถานที่ประกอบอาหารควรรักษาความสะอาดอยู่เสมอ ไม่ควรปะปนภาชนะ เครื่องปรุงอาหาร ที่ปรุงแล้ว กับอาหารดิบ เพราะจะทำให้เกิดการปนเปื้อนเชื้อโรคได้
ในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่จะมาถึงนี้มีวันหยุดหลายวัน ในการเลี้ยงฉลองปีใหม่ มักมีการประกอบอาหารรับประทานร่วมกันเป็นกลุ่มใหญ่ ในเทศกาลแบบนี้อาจก่อให้เกิดผลกระทบจากการบริโภคอาหาร เครื่องดื่มและน้ำที่ไม่ปลอดภัย จึงขอให้ประชาชนระมัดระวัง ใน เรื่อง ดังกล่าว และ หากมีอาการไม่มาก สามารถดูแลตนเองหรือปฐมพยาบาลเบื้องต้นโดย ดื่มน้ำผสมผงเกลือแร่บ่อย ๆ แต่หากอาการรุนแรง อาเจียน ปวดท้องมาก หรือมีอาการชาที่ปาก ที่ลิ้น กล้ามเนื้ออ่อนแรง ให้รีบไปพบแพทย์ทันที และปฏิบัติตามคำแนะนำดังกล่าวอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ปีใหม่นี้ปลอดภัยจากโรคอาหารเป็นพิษนายแพทย์สุวรรณชัยกล่าวปิดท้าย
กลุ่มเผยแพร่ สำนักงานเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค
โทรศัพท์:0-2590-3862 / โทรสาร: 0-2590-3386