ดร. ภัทเรก ศรโชติ กรรมการบริหาร หัวหน้าสายวิชาการเงิน สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Sasin) เปิดเผยถึงการเรียนการสอนในสาขาการเงินว่า เป็นสาขาวิชาหนึ่งที่อยู่ในหลักสูตร MBA ให้นิสิตเข้าใจด้านการเงินเพื่อเป็นผู้บริหารที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจำเป็นต้องมีความเชี่ยวชาญการจัดการทางด้านการเงิน เข้าใจนโยบายทางด้านการเงิน รวมทั้งการวางแผนทางด้านการเงิน นอกจากนี้ยังมีวิชาการเงินที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการลงทุนในธุรกิจที่ก่อตั้งใหม่เพื่อให้ผู้เรียนมีความเข้าใจ และมีมุมมองด้านการลงทุนที่ถูกต้อง เนื่องจากองค์กรธุรกิจที่ก่อตั้งขึ้นมาใหม่จะต้องมีวิธีการระดมเงินมาลงทุนเพื่อให้ธุรกิจเกิดความเจริญเติบโต ไม่ใช่เฉพาะด้านการเงินเท่านั้นที่ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ แต่ในหลักสูตรนี้ยังมีวิชาอื่น ๆ ที่น่าสนใจ โดยได้รวมเนื้อหาทุกวิชาเข้าด้วยกัน แล้วนำกรณีศึกษามาวิเคราะห์ เพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจได้อย่างชัดเจน และนำไปใช้ได้จริงในการทำงาน
ดร. ภัทเรก กล่าวถึงจุดเด่นของหลักสูตรการเงินว่า นอกจากอาจารย์ผู้สอนชาวไทยที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญด้านการเงินแล้ว ทางสถาบันบัณฑิตฯ ศศินทร์ ยังได้รับเกียรติจากคณาจารย์ที่มีความรู้ความสามารถทั้งจากเอเชีย ยุโรป และอเมริกา มาร่วมสอนและบรรยายเพื่อนำความรู้ประสบการณ์มาถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อให้นิสิตเกิดมุมมองใหม่ ๆ ในห้องเรียน และสามารถนำมาประยุกต์กับการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“หลักสูตรบริหารธุรกิจ (MBA) ได้รับการยอมรับโดย CFA เป็น 1 ใน 2 ของประเทศไทยที่เป็นพาร์ทเนอร์กับ CFA นอกจากนี้หลักสูตรการเงินยังมีวิชาหลากหลาย เพื่อตอบสนองต่อความสนใจของนิสิตและความเปลี่ยนแปลงของตลาดเงินและตลาดทุนในประเทศไทย อาทิเช่น วิชาการวิเคราะห์ตราสารหนี้ ซึ่งวิชานี้ได้เพิ่มเข้าไปในหลักสูตรเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่ตลาดตราสารหนี้ในประเทศไทยโตขึ้น เพื่อให้ผู้ที่สนใจเกี่ยวกับเรื่องการลงทุนในตราสารหนี้ได้เข้าใจและนำไปใช้ประโยชน์ในการลงทุน รวมทั้งวิชาที่เกี่ยวข้องกับการประเมินมูลค่าหลักทรัพย์ ดังนั้น ผู้ที่ผ่านการเรียนหลักสูตรนี้จะมีความสามารถวิเคราะห์หุ้นของแต่ละบริษัทว่ามีความน่าสนใจอย่างไร รวมถึงสามารถวิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยงจากการลงทุนได้อีกด้วย ซึ่งผู้เรียนจะมีความรู้พื้นฐานทางด้านการเงิน การลงทุน การธนาคาร และการบริหารหลักทรัพย์ฯลฯ เป็นความรู้ที่สามารถนำไปใช้ได้ทั้งงานบริหารองค์กรและการลงทุนส่วนบุคคล” ดร. ภัทเรกกล่าว
อย่างไรก็ตาม สำหรับการเรียนการสอนในสาขาการเงิน เป็นการผสมผสานทั้งการบรรยาย การแลกเปลี่ยนความคิดเห็น กรณีศึกษา รวมทั้งเชิญผู้เชี่ยวชาญมาถ่ายทอดประสบการณ์ให้กับนิสิต ทำให้ที่ผ่านมาหลักสูตรนี้ได้รับความสนใจจากผู้ที่ทำงานทางด้านสายการเงินและจากสายอาชีพอื่น ๆ ที่ต้องการเพิ่มศักยภาพให้กับตัวเอง เนื่องจากการทำงานและทำธุรกิจในปัจจุบันส่วนใหญ่ต้องเกี่ยวข้องกับการลงทุนของบริษัท ซึ่งจำเป็นต้องมีความรู้ด้านการเงิน การตลาด การลงทุนในตลาดหุ้น ดังนั้น กิจกรรมการเรียนการสอนจึงเน้นการวิเคราะห์แผนธุรกิจและหลักทรัพย์ ฯลฯ
ดร. ภัทเรก เปิดเผยเพิ่มเติมถึงปัจจัยที่ทำให้นิสิตตัดสินใจเข้ามาเรียนในสาขานี้ว่า สิ่งแรกคือการยอมรับในสถาบันบัณฑิตฯ ศศินทร์ซึ่งก่อตั้งมา 30 ปี สามารถผลิตบุคลากรครอบคลุมทุกสาขาอาชีพ ทั้งภาครัฐและเอกชน ทำให้เกิดความเชื่อมั่นในหลักสูตรและสาขาวิชาที่มีศักยภาพ รวมทั้งการปรับหลักสูตรให้เข้ากับสถานการณ์ทางการเงินในปัจจุบัน ที่สำคัญเน้นเรื่องการนำไปปฏิบัติได้จริงในการทำงาน ทำให้การเรียนในภาคปฏิบัติ รวมทั้งการไปศึกษาและดูงานต่างประเทศ การเชิญวิทยากรที่มีความเชี่ยวชาญมาบรรยายแลกเปลี่ยนความรู้ เกิดประโยชน์สูงสุดกับนิสิตที่เข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ที่ผ่านมานิสิตศศินทร์สามารถเข้าทำงานในองค์กรที่มีชื่อเสียงตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ และเป็นที่ยอมรับของตลาดเป็นอย่างดี
สื่อมวลชนสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์
คุณศิริลักษณ์ สุจริตตานนท์ (แอน) คุณแพรวทิพย์ ด่านวราวิจิตร
Asst. Chief of Public Relations PR& Marketing Coordinator
โทร 02-218- 3853-4 โทร. 02-218-4001-9 ต่อ 188
E-mail: [email protected] E-mail:[email protected]