นายธงชัย ศรีดามา กรรมการ ปฏิบัติหน้าที่แทนผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) กล่าวว่า “หลังจากที่ สสปน. ได้ร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตร ร่วมกันจัดทำ “หลักสูตรไมซ์มาตรฐานสากล” และพัฒนา “วิชาการจัดประชุมและนิทรรศการ (Introduction to MICE industry)” ซึ่งถือเป็นตำราไมซ์ต้นแบบฉบับสมบูรณ์เล่มแรกของประเทศไทยและของภูมิภาคเอเชีย และได้บรรจุหลักสูตรการเรียนการสอนในสถาบันอุดมศึกษาไปแล้ว 28 สถาบันทั่วประเทศ นับเป็นผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมของ สสปน.ในการเร่งพัฒนาศักยภาพบุคลากรไมซ์ และขยายผลต่อเนื่องสู่ภาคการศึกษา”
ทั้งนี้เพื่อยกระดับให้ไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการศึกษาด้านไมซ์ในภูมิภาคอาเซียน (ASEAN MICE Education Hub) อย่างสมบูรณ์ สสปน.จึงได้เร่งขยายและบรรจุหลักสูตรไมซ์มาตรฐานสากลเพิ่มเติมในอีก 16 สถาบันอุดมศึกษา โดยแบ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษาในภาคเหนือทั้งสิ้น 11 สถาบัน และภาคกลาง 5 สถาบัน ซึ่งเป็นการขยายหลักสูตรการเรียนการสอนด้านไมซ์ได้ครอบคลุมสถาบันอุดมศึกษาทั่วภาคเหนือ เพื่อรองรับการเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และส่งเสริมให้ภาคเหนือของไทยเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมไมซ์ในกลุ่ม GMS, CLMV และ BIMSTEC
สำหรับรายวิชาการจัดประชุมและนิทรรศการ (Introduction to MICE industry) เป็นหลักสูตรที่พัฒนาขึ้นโดย “คณะกรรมการโครงการพัฒนาหลักสูตรไมซ์มาตรฐานสากล (MICE Course Board)” ซึ่งเป็นหนึ่งในรายวิชาการดำเนินงานภายใต้ “โครงการหลักสูตรไมซ์มาตรฐานสากล” โดยความร่วมมือระหว่าง สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) สมาคมการแสดงสินค้า (ไทย) สมาคมส่งเสริมการประชุมนานาชาติ (ไทย) และสมาคมธุรกิจสร้างสรรค์การจัดงาน โดยได้ร่วมกันดำเนินการจัดหา และ รวบรวมข้อมูลองค์ความรู้เกี่ยวกับอุตสาหกรรมไมซ์จากทั่วโลกที่เป็นมาตรฐานสากล ผนวกกับประสบการณ์ทำงานมืออาชีพในวงการไมซ์นับสิบปี พัฒนาเป็นองค์ความรู้และข้อมูลพื้นฐานในการจัดทำหลักสูตรมาตรฐานกลางของประเทศไทย จนได้เป็นหลักสูตรและตำราเรียนในวิชาการจัดประชุมและนิทรรศการเล่มแรกของภูมิภาคเอเชีย ที่มีเนื้อหาครอบคลุมอุตสาหกรรมการประชุมสัมมนา การท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล การประชุมนานาชาติ และการแสดงสินค้านานาชาติ
นายธงชัย กล่าวเสริมว่า “สำหรับพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง สสปน. และสถาบันอุดมศึกษาทั้ง16 สถาบันในครั้งนี้ กรอบความร่วมมือไม่เพียงแต่มีการจัดทำตำราเรียนทั้งในรูปแบบภาษาไทยและภาษาอังกฤษ แต่รวมถึงการจัดทำสื่อการเรียนการสอนให้แก่คณาจารย์และสถาบันอุดมศึกษาที่เข้าร่วมโครงการฯ นอกจากนี้ ยังมีแนวทางส่งเสริมการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้นักศึกษาทั้งในด้านการเพิ่มพูนองค์ความรู้ และทักษะในการทำงานได้จริงอย่างมืออาชีพ เพื่อให้การเรียนการสอนรายวิชาดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และมีมาตรฐานเดียวกันทุกสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ ซึ่งนับว่าเป็นความร่วมมือในการผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการศึกษาด้านไมซ์แห่งภูมิภาคอาเซียน (ASEAN MICE Education Hub) ได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน”
สำหรับเนื้อหาของรายวิชาการจัดประชุมและนิทรรศการ (Introduction to MICE Industry) จะแบ่งออกเป็น 3 ส่วนสำคัญ ได้แก่ 1) อุตสาหกรรมไมซ์ไทยในปัจจุบัน 2) การบริหารจัดการงานในอุตสาหกรรมไมซ์ และ 3) องค์ประกอบที่สำคัญในอุตสาหกรรมไมซ์ โดยเนื้อหาทั้ง 3 ส่วนจะครอบคลุมตั้งแต่ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับ อุตสาหกรรม ลักษณะของการจัดงานไมซ์ในแต่ละประเภท การบริหารจัดการงานในอุตสาหกรรมไมซ์ การบริหารจัดการศูนย์ประชุมและแสดงสินค้า บริษัทและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมไมซ์ มาตรฐานที่สำคัญต่างๆรวมไปถึงเรื่องจรรยาบรรณของการดำเนินงานในอุตสาหกรรมไมซ์
“สสปน. มั่นใจว่าความร่วมมือในครั้งนี้ จะเป็นการวางรากฐานครั้งสำคัญของอุตสาหกรรมไมซ์ไทย ที่จะนำไปสู่ความสามารถในการผลิตบัณฑิตไมซ์คุณภาพที่มีความรู้ความเข้าใจโดยตรง เพื่อป้อนสู่อุตสาหกรรมไมซ์ได้อย่างทันท่วงที พร้อมรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้บุคลากรไมซ์ไทยในอนาคตสามารถต่อสู้กับการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างชาติในภูมิภาค และคาดว่าจะสามารถเพิ่มจำนวนบุคลากรสู่อุตสาหกรรมไมซ์จากจำนวนนิสิต นักศึกษาที่เข้าเรียนรายวิชาการจัดประชุมและนิทรรศการทั้งจาก 44 สถาบัน ซึ่งคาดว่าจะสามารถเพิ่มจำนวนนิสิตนักศึกษาได้ทั้งสิ้นรวม 8,000 คนต่อปีการศึกษา และคาดว่าจะสามารถผลิตบัณฑิตไมซ์ได้ราว 24,000 คน ภายในปี 2558 อันจะนำไปสู่การปฏิรูปการศึกษา และเตรียมความพร้อมบุคลากรสายอาชีพให้กับอุตสาหกรรมไมซ์ทั่วประเทศ ทั้งในส่วนกลางและระดับภูมิภาค เพื่อรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” นายธงชัย กล่าวทิ้งท้าย
ทั้งนี้ ในระยะเริ่มต้นสถาบันอุดมศึกษาจะเปิดการเรียนการสอนรายวิชาการจัดประชุมและนิทรรศการ (Introduction to MICE Industry) ให้กับนักศึกษาในระดับชั้นปีที่ 1 และชั้นปีที่ 2 ซึ่งในอนาคต สสปน.จะยังคงสานต่อการพัฒนาโครงการหลักสูตรไมซ์มาตรฐานสากลนี้ต่อไปจนสามารถผลักดันให้ยกระดับเป็นสาขาวิชาเอกทั้งในระดับปริญญาตรีและปริญญาโทในอนาคตอันใกล้ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้นิสิตนักศึกษาที่สนใจได้รับความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติการเชิงลึกของอุตสาหกรรม ซึ่งสสปน. เชื่อมั่นว่าจากการเตรียมความพร้อมบุคลากรแบบบูรณาการในภาคการศึกษา จะนำไปสู่การยกระดับบุคลากรเชิงวิชาชีพที่มีมาตรฐานในภาคอุตสาหกรรมไมซ์ สร้างผู้นำไมซ์รุ่นใหม่ (Future MICE Leaders) ในระดับชาติและนานาชาติ เตรียมพร้อมรองรับการเปิดเสรีประชาคมอาเซียน (AEC) ของประเทศไทยที่จะเกิดขึ้นในปี 2558 นี้ได้อย่างแน่นอน