ณ ห้องประชุมใหญ่ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้เกียรติเป็นประธาน เปิดงานโครงการพัฒนาศักยภาพชมรมคุ้มครองผู้บริโภคกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2555 ณ ห้องประชุมใหญ่ศูนย์บริการวิชาการ ชั้น 15 มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ โดยโครงการดังกล่าว มีความเป็นมาอันสืบเนื่องจากคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ได้เล็งเห็นความสำคัญในปัญหาของผู้บริโภคที่ได้รับความเดือดร้อน ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการซื้อสินค้าหรือบริการ จึงได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคประจำกรุงเทพมหานคร เพื่อดำเนินการคุ้มครองผู้บริโภคให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรม ประชาชนผู้บริโภคได้รับการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนจากการถูกละเมิดสิทธิ ผู้บริโภคได้รับความสะดวกและมีช่องทางในการใช้สิทธิร้องเรียนเพิ่มมากขึ้น ตลอดจนพัฒนาเครือข่ายภาคประชาชนให้มีความเข้มแข็ง
สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้ออกตรวจ ติดตามการคุ้มครองผู้บริโภคด้านโฆษณา สัญญาฉลาก และการขายตรงและตลาดแบบตรง พบว่า มีผู้ประกอบธุรกิจหลายรายที่มีการเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค เช่น ไม่มีการจัดทำฉลากสินค้าให้ถูกต้องตามกฎหมาย ใช้ข้อความที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค อีกทั้งยังมีการหลอกหลวงประชาชน ให้เข้าร่วมลงทุน ในลักษณะการระดมเงินแบบผิดกฎหมาย โดยผ่านช่องทางการขายสินค้าต่างๆ เช่น ข้าวสาร รถยนต์ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคนั้น มีข้อจำกัด ดังนั้นในการปฏิบัติงานบางประการทำให้การดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคยังไม่ทั่วถึงเท่าที่ควร จึงเป็นการดีที่จะมีองค์กรภาคประชาชนและหน่วยงานในสังกัดกรุงเทพมหานครเข้าร่วมบูรณาการในการปฏิบัติงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น อันจะเป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภคโดยส่วนรวมต่อไป
และเพื่อให้การดำเนินงานของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ สคบ. จึงได้จัดให้มีการดำเนินโครงการพัฒนาศักยภาพชมรมคุ้มครองผู้บริโภคกรุงเทพมหานคร ขึ้น ในปี พ.ศ. ๒๕๕๕ และจัดต่อเนื่องมาในปี พ.ศ. ๒๕๕๖ นี้
โดย ในปี พ.ศ. ๒๕๕๕ ที่ผ่านมา โครงการได้ดำเนินการโดยคัดเลือกชมรมเข้าร่วมทั้งสิ้น ๓๐ ชมรม จาก ๕๐ ชมรม มีกิจกรรมหลัก ๔ กิจกรรม อันประกอบด้วย
๑) การจัดทำคู่มือการปฏิบัติงานของชมรมคุ้มครองผู้บริโภค ๒) การคัดเลือกชมรมคุ้มครองผู้บริโภค ๓) กิจกรรมโครงการพัฒนาศักยภาพของชมรมคุ้มครองผู้บริโภค และ ๔) การกำกับติดตามและประเมินผลการดำเนินงานของชมรมคุ้มครองผู้บริโภค โดยแบ่งรางวัลออกเป็นระดับทอง ระดับเงิน และระดับทองแดง เมื่อเสร็จสิ้นการดำเนินงานโครงการปรากฏว่า มีชมรมที่มีผลการปฏิบัติงานดีเยี่ยมในระดับทอง มีคะแนนรวมเกินกว่า ๙๐ คะแนน จำนวน ๔ ชมรม ได้แก่ เขตสายไหม เขตประเวศ เขตจตุจักร และเขตราษฎร์บูรณะ ซึ่งมีผลการดำเนินงานที่ยอดเยี่ยมทั้งในด้านการประชาสัมพันธ์ ซึ่งพิจารณาจากสถานที่ตั้งชมรมอยู่ในพื้นที่ของเขต มีการประสานงานติดตั้งป้ายชมรมที่มีความเด่นชัด สามารถสังเกตได้ง่าย มีการดำเนินงานเกี่ยวกับการเผยแพร่ความรู้ต่อประชาชนอย่างต่อเอง สามารถดำเนินการให้คำปรึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และระบบจัดเก็บข้อมูลมีความสมบูรณ์ ในภาพรวมเขตเหล่านี้มีการดำเนินงานอย่างมีรูปธรรมและเป็นระบบในทุกด้าน ในบางเขตมีที่ตั้งอยู่ทั้งในสำนักงานเขตและแหล่งชุมชน สำหรับชมรมในระดับเงิน มีผลการปฏิบัติอยู่ในเกณฑ์ดี มีจำนวน ๑๐ เขต และระดับทองแดง มีจำนวน ๑๔ เขต
สำหรับในปี พ.ศ. ๒๕๕๖ โครงการได้ปรับเพิ่มเป้าหมายจำนวนชมรมเพื่อพัฒนาศักยภาพชมรมคุ้มครองผู้บริโภคไม่น้อยกว่า ๔๐ ชมรม จากทั้งหมด ๕๐ ชมรม
ให้สามารถจัดกิจกรรมเผยแพร่ความรู้ ให้คำปรึกษาแนะนำ รับเรื่องร้องเรียน ตลอดจนติดตามสอดส่องพฤติกรรมการเอารัดเอาเปรียบของผู้ประกอบธุรกิจ พร้อมทั้งรายงานผลติดตามให้ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ทราบ ทั้งนี้ กิจกรรมในโครงการทั้งหมดจะประกอบไปด้วย การคัดเลือกชมรมคุ้มครองผู้บริโภคเข้าร่วมโครงการ การให้ความรู้ คู่มือการปฏิบัติงานของชมรมฯ ซึ่งจะเป็นกรอบแนวทางการปฏิบัติงานที่สามารถตอบสนองการดำเนินงานของชมรม และวัสดุ อุปกรณ์ในการทำกิจกรรม การกำกับ ติดตาม การลงพื้นที่ประเมินชมรมคุ้มครองผู้บริโภค การสรุปผลการประเมิน และการให้รางวัลแก่ชมรมที่เข้าร่วมโครงการ รวมถึงการศึกษาดูงาน อันจะใช้ระยะเวลาดำเนินงานโครงการทั้งสิ้น ๖ เดือนนับแต่วันลงนามในสัญญา ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ชมรมคุ้มครองผู้บริโภคที่ได้จัดตั้งขึ้นในเขตปกครองของกรุงเทพมหานคร อย่างน้อยจำนวน ๔๐ ชมรม จะสามารถเป็นเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคที่เข้มแข็ง และสามารถขยายความรู้แก่ชุมชนต่อไป
ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
02-259-5511