6 องค์กรใหญ่ผนึกกำลังส่งเสริมนวัตกรรมระดับชาติ

ศุกร์ ๑๘ มกราคม ๒๐๑๓ ๑๕:๑๖
นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานในพิธีลงนาม “โครงการความร่วมมือขับเคลื่อนนวัตกรรมสำหรับประเทศ” ระหว่าง 6 องค์กรใหญ่ของประเทศ ได้แก่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) และบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ร่วมกันเดินหน้าส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาด้านนวัตกรรมของชาติ พร้อมเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ SMEs มีช่องทางและตลาดทดลองสิ่งใหม่ๆ เพื่อต่อยอดผลงานไปสู่นวัตกรรมระดับประเทศ ด้วยการประกาศจัดประกวดรางวัลนวัตกรรม “สุดยอดนวัตกรรม 7 Innovation Awards” ชิงเงินรางวัล 1.2 ล้านบาท

นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวในงานการลงนาม “โครงการความร่วมมือขับเคลื่อนนวัตกรรมสำหรับประเทศ” ว่า สำหรับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีนโยบายในการผลักดันและสนับสนุนให้มีการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมไปช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเพราะวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมจะเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยมีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

ปัจจุบันประเทศไทยมีงานวิจัย องค์ความรู้ และสิ่งประดิษฐ์จำนวนมากที่มีศักยภาพ เป็นของดี แต่ยังไม่ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์ เนื่องจากขาดการต่อยอดหรือขยายผลไปสู่ผลงานเชิงนวัตกรรม โดยส่วนตัวมีความเชื่อมั่นในศักยภาพด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมของไทย เพราะคนไทยเป็นคนเก่ง มีความสามารถ และมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ แต่นวัตกรรมที่เรียกว่าสำเร็จ ไม่ใช่เพียงมีความเป็นไปได้ทางเทคนิคเท่านั้น หากแต่นวัตกรรมที่ทำมาจะต้องเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ความต้องการของสังคม ผู้บริโภค และตลาดได้ ดังนั้น หากมีการสนับสนุนให้เกิดการต่อยอด หรือขยายผลงานไปสู่การใช้ประโยชน์จริงนั้น จะมีส่วนช่วยในการยกระดับประเทศเป็นอย่างมาก

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สำหรับสภาอุตสาหกรรมฯ เป็นองค์กรเอกชนที่มีหน้าที่ในการพัฒนาและยกระดับผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และสมาชิกเกินกว่าร้อยละ 60 เป็นผู้ประกอบการ SMEs ที่ยังต้องการความช่วยเหลือในด้านต่างๆ ทั้งองค์ความรู้ การตลาด เงินทุน รวมถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรม เนื่องจาก SMEs จำนวนไม่น้อยที่ประสบกับปัญหาและความท้าทายกับการแข่งขันในตลาดที่มีคู่แข่งที่แข็งแกร่งกว่า และในขณะเดียวกันการมีต้นทุนที่สูงขึ้นจากผลกระทบจากการขึ้นค่าแรง 300 บาท ทำให้ SMEs จำเป็นต้องปรับปรุงและพัฒนาตนเองให้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น โดยการเร่งสร้างความแตกต่างด้วยการนำนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีใหม่ๆ มาประยุกต์ใช้กับการดำเนินธุรกิจ จากปัญหาดังกล่าว สภาอุตสาหกรรมฯ จึงได้พยายามเร่งหาแนวทางช่วยเหลือ SMEs โดยคาดหวังว่าความร่วมมือในครั้งนี้ จะเป็นอีกแนวทางหนึ่ง ที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเพิ่มศักยภาพขององค์กรให้สามารถพัฒนาสินค้าและบริการให้แปลกใหม่ ทันสมัยและตรงกับความต้องการของผู้บริโภคได้มากขึ้น ซึ่งจะเป็นการเพิ่มโอกาสทางด้านการตลาด สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า รวมไปถึงสามารถแข่งขันกับคู่แข่ง ทั้งในประเทศ ระดับอาเซียน และระดับโลกได้

ด้านนายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่มีส่วนสนับสนุนโครงการในครั้งนี้ ให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่จะร่วมกันพัฒนาผู้ประกอบการให้มีความพร้อมที่จะก้าวสู่ความสำเร็จ โดยเฉพาะการมีความรู้ความเข้าใจในการบริหารการเงินอย่างมีประสิทธิภาพและการใช้ประโยชน์จากตลาดทุนเพื่อต่อยอดธุรกิจ และเมื่อธุรกิจเติบโตถึงจุดที่ต้องการขยายกิจการอย่างก้าวกระโดด ตลาดหลักทรัพย์ฯและตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) พร้อมที่จะเป็นกลไกช่วยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเติบโตอย่างยั่งยืนควบคู่ไปกับความแข็งแกร่งทางด้านเงินทุน ตลอดจนการเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในอนาคต และสามารถแข่งขันได้ในตลาดสากล ที่จะเป็นพลังขับเคลื่อนกลไกในระบบเศรษฐกิจของไทยให้เติบโตอย่างเข้มแข็งและมั่นคงต่อไป

ส่วน ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) กล่าวว่า มีนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม อาทิ การบูรณาการ การสร้างเครือข่ายความรู้และนวัตกรรม มาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์จากผลงานวิจัย และทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น สวทน. จึงมีรูปแบบความร่วมมือในด้านวิชาการ การให้คำแนะนำ การเชื่อมโยงเครือข่ายมหาวิทยาลัยทั้งในและต่างประเทศ สถาบันวิจัย เพื่อช่วยเหลือภาคเอกชน ในการพัฒนาเทคโนโลยี การพัฒนารูปแบบธุรกิจ เพื่อให้การสร้างนวัตกรรมประสบผลสำเร็จ ตรงกับความต้องการของตลาดมากที่สุด

“สำหรับโครงการความร่วมมือนี้ เอกชนที่เข้าร่วมโครงการ สามารถใช้ประโยชน์จากการศึกษา จากเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้คำแนะนำและยกระดับผลิตภัณฑ์ กระบวนการที่เอกชนพัฒนาขึ้น หรือที่สถาบันการศึกษาพัฒนาขึ้น เพื่อเป็นประโยชน์เชิงพาณิชย์อย่างมีประสิทธิผลสูงสุด รวมถึงผู้ประกอบการรายย่อยและนักวิจัยจะได้รับประโยชน์จากความรู้และประสบการณ์ของ สวทน. ในการศึกษาเชิงนโยบายและโครงการนำร่องในด้านโครงสร้างพื้นฐาน และปัจจัยเอื้อ อาทิ การเข้าร่วมโครงการบ่มเพาะธุรกิจ และการเข้าร่วมโครงการนำร่องในการพัฒนาระบบให้คำปรึกษาธุรกิจ เป็นต้น”

ด้าน ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ปัจจุบันหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนตระหนักถึงความสำคัญของการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศในเวทีการค้าโลก ซึ่งมุ่งเน้นไปที่การส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการผลิตและการค้า โดยมีเป้าหมายที่จะยกระดับขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีของภาคเอกชนไทย อันเป็นการเพิ่มมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าไทย โดยสนับสนุนให้มีการสร้างทรัพย์สินทางปัญญาของคนไทยและใช้ภูมิปัญญาในการสร้างสรรค์สินค้าและบริการใหม่ๆ ให้เป็นที่ต้องการแก่ผู้บริโภค ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของทั้งภาครัฐและเอกชนในการร่วมกันทำงานวิจัยและส่งเสริมให้นำผลงานวิจัยไปสู่การพัฒนาประเทศได้อย่างแท้จริง ซึ่งเชื่อมั่นว่าการร่วมมือกันครั้งนี้ จะเป็นก้าวสำคัญในการผลักดันการวิจัยและพัฒนา สร้างสรรค์นวัตกรรม ผลงานวิจัย และสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง

ทั้งนี้ ดร.พรชัย รุจิประภา ประธานกรรมการนวัตกรรมแห่งชาติ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า โครงการที่ ซีพี ออลล์ ได้ริเริ่มจัดทำขึ้นมานี้ ถือว่ามีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยสนับสนุน ส่งเสริม และกระตุ้นให้ผู้ประกอบการไทยหันมาสนใจทำโครงการนวัตกรรมกันมากยิ่งขึ้น เนื่องจากมีโอกาสที่จะผลักดันให้เข้าสู่ตลาดได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งจะช่วยเพิ่มความมั่นใจในการตัดสินใจลงทุนในธุรกิจนวัตกรรมของผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่ได้รับการสนับสนุนเงินทุนจาก สนช. ผ่านโครงการ “แปลงเทคโนโลยีเป็นทุน” และ“นวัตกรรมดี...ไม่มีดอกเบี้ย” ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้เกิดการนำผลงานวิจัยที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในประเทศไทยมาพัฒนาต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์เพิ่มมากขึ้นอีกทางหนึ่งด้วย จึงนับว่า “นวัตกรรม” เป็นกลไกสำคัญที่ทำให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากภาครัฐสู่เอกชน เกิดการขับเคลื่อนองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีในประเทศสู่ภาคการผลิตและบริการ ซึ่งทำให้ลดการพึ่งพาการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศได้อย่างมหาศาลในอนาคต

ขณะที่นายก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่น ร้านอิ่มสะดวกของคนไทย เปิดเผยว่า ซีพี ออลล์ ในฐานะที่เป็นผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่น ร้านอิ่มสะดวกที่มีจำนวนกว่า 6,800 สาขาทั่วประเทศ และมีลูกค้าใช้บริการเรามากกว่าวันละ 8 ล้านคน มีบริษัทในกลุ่มธุรกิจที่หลากหลาย จึงยินดีที่จะเป็นช่องทางจัดจำหน่ายเพื่อทดสอบตลาดของผลิตภัณฑ์ที่ผ่านความร่วมมือของโครงการนี้ ทั้งยังได้จัดตั้ง “ศูนย์นวัตกรรมกลุ่มธุรกิจ ซีพี ออลล์” ขึ้น เพื่อเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ ระหว่างกลุ่มธุรกิจ ซีพี ออลล์ กับหน่วยงานภายนอก รวมถึงยังเป็นช่องทางเชื่อมโยงและประสานงานในความร่วมมือสำหรับต่อยอดผลงานนวัตกรรมไปสู่ระดับประเทศอีกด้วย

“บริษัทฯ มีความยินดีที่จะสนับสนุนการประกวดและเงินรางวัลสำหรับผลงานนวัตกรรมที่สืบเนื่องจากโครงการนี้ โดยจะจัดให้มีการประกวดรางวัล 7 Innovation Awards ขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อส่งเสริมผลงานนวัตกรรมด้านธุรกิจและด้านสังคมที่สามารถพัฒนาต่อยอดไปสู่ระดับประเทศต่อไป” นายก่อศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ

ศิวพร แสนเสนา (โม)

ฝ่ายประชาสัมพันธ์

0-2345-1017

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๔:๕๒ ดิเอมเมอรัลด์ช่วยสนับสนุนงานกาชาด
๑๔:๓๑ เอพี ไทยแลนด์ รับ 3 รางวัลจาก Meta ตอกย้ำจุดยืน แบรนด์อสังหาฯ ที่ขับเคลื่อนด้วยความคิดสร้างสรรค์และดาต้า
๑๔:๓๕ มาคาเลียส แหล่งรวม อี-วอเชอร์ที่พัก ร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว อันดับ 1 ของประเทศไทย เผย 10 เทรนด์ท่องเที่ยวไทยปี
๑๔:๓๙ MOSHI ผู้นำธุรกิจค้าปลีกไลฟ์สไตล์รายใหญ่ของไทย ทุบสถิติไตรมาส 4 โชว์ SSSG พุ่งทะยานกว่า 20% รับความสำเร็จกลยุทธ์ Collaboration Project ตลอดปี 2567 มั่นใจกวาดรายได้ทะลุเป้าโต
๑๔:๒๑ Zentry เตรียมเปิดตัว Ragnarok Landverse บน Ronin เกม MMORPG ระดับตำนานที่มีผู้เล่นกว่า 100 ล้านคน เตรียมเปิดตัวในไตรมาสแรกของปี
๑๔:๔๕ การประชุมข้าวยั่งยืนระดับโลกเรียกร้องสู่การเปลี่ยนแปลงวงการข้าว เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
๑๔:๓๔ LPN คาดอสังหาฯ EEC ส่งสัญญาณบวกรับดีมานด์นักลงทุนจีนขยายฐานการผลิตชลบุรี-ระยอง ดัน EARN Condo by LPN รับอานิสงส์ปล่อยเช่า Yield ดีสูงสุด
๑๔:๕๐ โอเพ่นสเปซ กองทุนชั้นนำระดับภูมิภาค พร้อมผลักดันสตาร์ทอัพไทย เดินหน้าเพิ่มการลงทุนร่วมเสริมแกร่งอนาคตเทคโนโลยีไทย
๑๔:๓๘ เอเชี่ยน เคมิคัล ฝึกซ้อมแผนภาวะฉุกเฉินสารคลอรีนรั่วไหล ประจำปี 2567
๑๓:๒๗ กสิกรไทยสำรองเงินสด 35,900 ล้านบาท รับเทศกาลปีใหม่