รองศาสตราจารย์ ดร.ชูศักดิ์ ลิ่มสกุล อธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) เปิดเผยว่า จากการคัดเลือกผู้ได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2555 ซึ่งเป็นรางวัลอันทรงเกียรติสูงสุดสำหรับนักวิจัย ที่จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ปรากฏว่า รองศาสตราจารย์ ดร.พูนสุข ประเสริฐสรรพ์ นักวิชาการภาควิชาการเทคโนโลยีชีวภาพอุตสาหกรรม คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้รับคัดเลือกให้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2555 ในสาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา
โดยในปีนี้ มีนักวิจัย 10 คน ได้รับรางวัล "นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ" ใน 9 สาขา ได้แก่ สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพและคณิตศาสตร์ สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ สาขาวิทยาศาสตร์เคมีและเภสัช สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา สาขาวิศวกรรมศาสตร์และอุตสาหกรรมวิจัย สาขารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ สาขาสังคมวิทยา สาขาการศึกษา
สำหรับรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ เป็นรางวัลที่สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ มอบให้นักวิจัยไทยที่มีคุณสมบัติโดดเด่น เป็นผู้ที่อุทิศตนให้แก่การวิจัยในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือหลายเรื่อง ในกลุ่มวิชาการหรือสหวิทยาการอย่างต่อเนื่อง มีผลงานวิจัยดีเด่นที่แสดงถึงความคิดริเริ่มและเป็นผลงานวิจัยที่ทําสะสมกันมาไม่น้อยกว่า 5 ปี มีจริยธรรมของนักวิจัยจนเป็นที่ยอมรับและยกย่องในวงวิชาการนั้นๆ โดยผลงานวิจัยดังกล่าวได้สร้างคุณูปการต่อวงวิชาการและประชาชน สมควรเป็นแบบอย่างแก่นักวิจัยผู้อื่นได้ และเป็นผู้ซึ่งได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริหารสภาวิจัยแห่งชาติ และสํานักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติให้เป็นนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ เพื่อส่งเสริมและเชิดชูเกียรติ และเป็นแบบอย่างแก่นักวิจัยอื่นๆ ต่อไป
อธิการบดี ม.อ. กล่าวด้วยว่า รองศาสตราจารย์ ดร.พูนสุข ประเสริฐสรรพ์ นักวิชาการ ภาควิชาการเทคโนโลยีชีวภาพ คณะอุตสาหกรรมเกษตร ม.อ. ซึ่งเป็นผู้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติประจำปี 2555 ในสาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยานั้น เป็นผู้ทำงานด้านวิจัยมากว่า 30 ปี ด้วยผลงานวิจัยดีเด่นทางด้านผลิตภัณฑ์ชีวภาพ (Bioproducts) และพลังงานชีวภาพ (Bioenergy) จากวัสดุเศษเหลือทางด้านอุตสาหกรรมเกษตร โดยทำการศึกษาแบคทีเรียสังเคราะห์แสง เพื่อหาสายพันธุ์ที่เจริญได้ในน้ำทิ้งของโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มเพื่อผลิตก๊าซไฮโดรเจน และนำไปใช้ในกระบวนการผลิตไฮโดรเจนแบบสองขั้นตอน
ส่วนงานวิจัยด้านการผลิตพลังงานชีวภาพครอบคลุมตั้งแต่สวนปาล์ม โรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม และโรงงานผลิตไบโอดีเซล และในอนาคตจะทำการศึกษาการขยายขนาดการผลิตก๊าซไฮโดรเจนจากน้ำทิ้งของโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มเพื่อใช้ในกระ บวนการไฮโดรจิเนชั่น การกำจัดสีของน้ำทิ้งสุดท้ายของโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม การศึกษารูปแบบและขยายการผลิตสารออกฤทธิ์จากเชื้อ Streptomyces philanthi RM-1-138 ที่ทำให้อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มมีความเข้มแข็งมากขึ้น
นอกจากนี้ นักวิชาการ ม.อ. ที่ส่งผลงานวิจัยเข้าร่วมงานครั้งนี้ ยังได้รับรางวัลด้านผลงานวิจัยระดับดีอีกหลายรางวัล ได้แก่ ผลงานวิจัยเรื่อง อิทธิของชนิดและปริมาณน้ำมันสารตัวเติม พอลิโพรไพลีน ยางธรรมชาติและระบบการวัลคาไนเซชันต่อสมบัติของเทอร์โมพลาสติกอิลาสโตเมอร์จากการเบลนด์ยางธรรมชาติกับพอลิโพรไพลีน ของรองศาสตราจารย์ ดร.เจริญ นาคะสรรค์ และคณะ ที่ได้รับรางวัลในสาขาวิทยาศาสตร์กายภาพและคณิตศาสตร์
ขณะที่ ผลงานวิจัยเรื่อง การศึกษาวิจัยประเมินผลกระทบของพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ต่อการจัดการและการแก้ปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ปี พ.ศ. 2552 และ เรื่อง โครงการวิจัยเพื่อติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานของศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า/ศูนย์ปฏิบัติ การตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้และกองกำลังตำรวจ (ศปก.ตร.สน./ศชต. และกลต.ตำรวจ) ปี พ.ศ.2553 (รอบ 12 เดือน) ของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ได้รับรางวัลผลงานวิจัยระดับดี ในสาขารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์
และรองศาสตราจารย์ ดร.สุธัญญา ทองรักษ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ปรัตถ พรหมมี และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ปริญญา เฉิดโฉม ซึ่งร่วมทีมคณะทำวิจัย ที่ส่งผลงานเรื่อง โครงการวิจัยเชิงบูรณาการเรื่อง เศรษฐกิจสมดุลใหม่ ความสมดุลทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมสู่การพัฒนาที่มั่นคงและยั่งยืน สามารถคว้ารางวัลผลงานวิจัยระดับดี ในสาขาเศรษฐศาสตร์
ทั้งนี้ พิธีมอบรางวัลแก่นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ จะจัดขึ้นในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2556 ในงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2556 ณ ประชุมอิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี