นายวีรพงษ์ กล่าวว่า นอกจากตอบสนองด้านการปลูกผักเพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านอาหาร การสร้างคลังยาสมุนไพรรักษาโรคในชุมชนแล้ว กิจกรรมจะเน้นการรวมกลุ่มในรูปแบบต่างๆ อาทิ กลุ่มแรงงาน กลุ่มพนักงานบริษัท กลุ่มสถาบันการศึกษา จำนวนมากกว่า7คน ที่เห็นพ้องกับแนวคิดการพัฒนาพื้นที่ไร้ประโยชน์ในเขตเมือง ควบคู่ไปกับการผลิตอาหารอาหารได้เองในภาวะเศรษฐกิจไม่แน่นอน โดยเมื่อทำกิจกรรมแล้วคาดหวังว่ากลุ่มคนเมืองเหล่านี้จะใช้การปลูกผักเป็นปัจจัยสร้างเครือข่าย มีความสัมพันธ์จนเกิดกระบวนการกลุ่มเพื่อสร้างงานอื่นๆต่อไป
นางสุภา ใยเมือง ผู้อำนวยการมูลนิธิ เกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) ผู้จัดการโครงการสวนผักคนเมือง กล่าวว่า จากการทำกิจกรรมจนเข้าสู่ระยะที่3 พบว่ากลุ่มผู้อาศัยในเขตเมืองทั้งกรุงเทพและปริมณฑลต่างพอใจกับองค์ความรู้ที่ถูกถ่ายทอด อาทิ การปลูกผักปลอดสารพิษในพื้นที่จำกัด บนดาดฟ้าอาคาร การเก็บเมล็ดพันธุ์ การจำกัดของเสียโดยการนำมาพัฒนาใหม่เป็นปุ๋ยชีวภาพ และตลอดระยะเวลา 1-2เดือนจากนี้จะมีการจัดอบรมเพื่อแนะนำเทคนิคต่างๆที่เกี่ยวข้องในแต่ละศูนย์การเรียนรู้ทั่วพื้นที่กรุงเทพ ซึ่งผู้สนใจสามารถทราบรายละเอียดได้ทาง http://www.thaicityfarm.com