ปฏิรูประบบสวัสดิการผู้สูงอายุ ถกปัญหาสิทธิ-เงินสวัสดิการ นักวิชาการเผยอายุเฉลี่ยสูงขึ้น แนะกำหนดฐานอายุให้ยืดหยุ่น

อังคาร ๒๙ มกราคม ๒๐๑๓ ๑๑:๕๗
วันที่ 28 มกราคม 2556 คณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านสวัสดิการสังคม เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิ เรื่อง ร่างกฎหมายสวัสดิการผู้สูงอายุ โดยนางสุนี ไชยรส รองประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย เปิดเผยว่า การรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้เป็นการอภิปรายในเชิงแนวคิด 4-5 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ สิทธิผู้สูงอายุ, เงินสวัสดิการดำรงชีพ,การกำหนดฐานอายุผู้สูงอายุตามร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว,กลไกการขับเคลื่อนแผนยุทศาสตร์ นอกจากนี้ยังมีประเด็นเกี่ยวกับการขยายศักยภาพของผู้สูงอายุ การรวมกลุ่มของชุมชนเพื่อมีส่วนร่วมในการดูแลผู้สูงอายุ จะเป็นประเด็นหลักในการรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้

นางสุนี กล่าวเพิ่มเติมว่า ระบบสวัสดิการผู้สูงอายุในทางปฏิบัติพบปัญหาค่อนข้างมาก หลายเรื่องจำเป็นต้องแก้กฎหมาย ซึ่งเป็นภาพรวมที่ผู้เข้าร่วมประชุมเห็นสอดคล้องกัน ทั้งนี้จะทำอย่างไรให้เขียนระบุไว้ชัด ตั้งแต่วัตถุประสงค์กองทุน ที่มากองทุน กระบวนการที่จะนำไปใช้และรายละเอียดในขั้นตอนต่างๆ

นายไพโรจน์ พลเพชร กรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวว่า แนวคิดกฎหมายโดยรวมยังให้ความสำคัญกับภาครัฐในการดำเนินเกี่ยวกับสวัสดิการผู้สูงอายุตรงนี้ตนคิดว่าไม่สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลง เพราะเรื่องนี้ต้องเป็นเรื่องของทุกคน ดังนั้นการออกแบบกฎหมายต้องกำหนดพื้นที่ต่างๆกับทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วม ภาครัฐจะมีหน้าที่บางระดับเท่านั้นเพื่อให้การดำเนินการขับเคลื่อนไปได้

“ปัญหาของแผนหรือยุทธศาสตร์ที่ผ่านมาคือ ไม่มีแผนปฏิบัติการ และแนวโน้มแผนประเทศอยู่ที่ฝ่ายการเมือง ตรงนี้เป็นบริบทใหม่ ดังนั้นเมื่อมีแผนจะพบว่าเหตุใดจึงไม่ฟังก์ชั่น ฉะนั้นต้องให้พื้นที่กับคนในชุมชน ภาคประชาสังคม หน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติอย่างแท้จริง” นายไพโรจน์ กล่าว

ศ.ดร.ปราโมทย์ ประสาทกุล นักประชากรศาสตร์ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ประชากรในปัจจุบันมีโอกาสที่จะมีอายุยืนยาวถึง 100 ปีมากกว่าในอดีต เนื่องจากความก้าวหน้าทางการแพทย์และสาธารณสุขทำให้คนรอดชีวิตมากขึ้น และประเมินว่าอีกไม่เกิน 20 ปีประเทศไทยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ซึ่งเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ราว 14 ล้านคน หรือคิดเป็น 20% ของประชากรทั้งประเทศ ปัจจุบันผู้อายุ 60 ปีขึ้นไปมีจำนวน 7 ล้านคน หรือคิดเป็น 12% จากประชากร 64 ล้านคน อายุเฉลี่ยของคนไทยอยู่ที่ 73 ปี ส่วนตัวมีความเห็นว่า กฎหมายปัจจุบันตามสังคมไม่ทัน จะเป็นได้หรือไม่ว่าควรมีการแก้ไขคำจำกัดความ ถ้ากำหนดอายุควรจะระบุให้สูงกว่านี้หรืออาจจะไม่ต้องกำหนดอายุที่ตายตัวเพื่อให้มีความยืดหยุ่นก็จะทำให้กฎหมายทันกับสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป และไม่คิดว่าจะขัดต่อรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด

รศ.ดร.วิพรรณ ประจวบเหมาะ คณบดีวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า พ.ร.บ.ดังกล่าวควรกำหนดฐานอายุของผู้สูงอายุให้มีความยืดหยุ่นไว้ ขณะที่ประเด็นเรื่องแผนยุทธศาสตร์การคุ้มครองและส่งเสริมผู้สูงอายุตามมาตรา16 ในร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวจะพบว่าประเทศไทยไปไกลกว่านี้แล้ว และตัวแผนผู้สูงอายุได้เป็นแผนฉบับปรับปรุงเรียบร้อยแล้ว ระบบคุ้มครองผู้สูงอายุ การบริหารจัดการงานผู้สูงอายุด้วย ซึ่งพบว่ามียุทศาสตร์ค่อนข้างกว้างและครอบคลุมและเป็นแผนที่มองถึงผู้อายุในอนาคตด้วย ล่าสุดที่ประเมินไปคือ ยังไม่นำไปสู่การปฏิบัติ กับอีกส่วนหนึ่งคือเงินในกองทุนดังกล่าวคงต้องชัดเจนว่าหน่วยงานตรงนี้ต้องนำไปสู่การปฏิบัติ อีกจุดใหญ่ที่พบคือ เรื่องปัญหาสุขภาพ พบว่าช่องทางพิเศษไม่สามารถให้บริการอย่างเร่งด่วนได้จริง จึงควรจะวางแผนการบริการครบวงจรในจุดเดียว นอกจากนี้เรื่องบทบาทในท้องถิ่น ซึ่งท้องถิ่นหลายพื้นที่อ้างว่าข้อบัญญัติที่เป็นอยู่ไม่เอื้อต่อการนำเงินของท้องถิ่นเองมาใช้ ส่วนตัวมองว่าเป็นประเด็นที่ต้องพิจารณาและมีการกำกับดูแลด้วยเช่นกัน

แพทย์หญิงลัดดา ดำริการเลิศ ผู้จัดแผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุ กล่าวว่า แผนผู้สูงอายุแห่งชาติฉบับที่ 2 ซึ่งวางแผนในระยะ 20 ปี กำหนดโดยคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาตินั้น มีผลในทางกฎหมายแต่ยังมีปัญหาในทางปฏิบัติ เช่น การให้ความร่วมมือขององค์กรปกครองท้องถิ่น โดยองค์กรเหล่านี้อ้างว่าอำนาจหน้าที่ไม่เอื้อให้ปฏิบัติตามแผนได้ ดังนั้น ในการแก้ไขจึงควรแก้ไขเป็นรายมาตราเพื่อให้องค์กรท้องถิ่นมีส่วนร่วมตั้งแต่การวางแผนด้วย อย่างไรก็ตาม ปัญหากฎหมายเกี่ยวกับผู้สูงอายุนั้นคือ ไม่สามารถนำมาปฏิบัติได้จริง จึงเห็นว่าควรกำหนดให้กฎหมายนี้เป็นกฎหมายกลางเพื่อกำหนดแนวทาง ส่วนรายละเอียดในทางปฏิบัติให้ระบุในกฎหมายลำดับรองอีกครั้ง

นายชูศักดิ์ จันทยานนท์ รองประธานสมาคมคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หากจะผลักดันกฎหมายที่จำเป็นเกี่ยวกับสิทธิผู้สูงอายุ ควรจะระบุให้ชัดเจนเกี่ยวกับสิทธิต่างที่ผู้สูงอายุจะได้รับ เพราะหากระบุไว้กว้างๆจะเป็นปัญหาในทางปฏิบัติได้ นอกจากนี้ควรคำนึงถึงกลุ่มผู้สูงอายุคนพิการ ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 300,000 คน ตรงจุดนี้หากระบุสิทธิรองรับให้ชัด รวมถึงการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ต้องเขียนให้ชัด เพราะไม่เช่นนั้นในทางปฏิบัติจะไม่มีผล นอกจากนี้ยังเห็นด้วยกับองค์ประกอบของคณะกรรมการนโยบายผู้สูงอายุแห่งชาติ ประกอบไปด้วย นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณะเป็นคณะกรรมการฯด้วยถือเป็นเรื่องที่ดี เพื่อเป็นกลไกการขับเคลื่อนในเชิงบูรณการ อีกจุดหนึ่งคือกองทุนผู้สูงอายุ ปัจจุบันพบว่ามีเงินกองทุนค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับกองทุนอื่นๆ กองทุนนี้จึงต้องโจทย์ให้ชัดว่ามีมาเพื่ออะไร และในเชิงกลไกต้องมองมิติงบประมาณให้ชัดจะทำอย่างไรให้มีการบูรณาการและผูกโยงร่วมกัน

นางอุบล หลิมสกุล กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ กล่าวว่า หากพิจารณาในแผนหลักคงต้องกำหนดให้มียุทธศาสตร์และมาตรการหลัก มาตรการย่อย และกลไกระดับชาติและระดับภูมิภาครองรับสวัสดิการผู้สูงอายุรวมถึงควรมีหน่วยวิชาการมาสนับสนุนเพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของผู้สูงอายุด้วย หากจะแก้ไขกฎหมายควรจะแก้กฎหมายฉบับปัจจุบันโดยเน้นทางเลือกที่หลากหลาย

“หากพิจารณากระบวนการกฎหมายในภาพรวม ในสาระสำคัญที่จะได้ถึงสิทธิผู้สูงอายุจะพบวาไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญ และยังมองไม่ลึกถึงการดูแลผู้สูงอายุในระยะยาวด้วย โดยหลักตนคิดว่าต้องมีแผนหลัก ฉะนั้นปัญหากฎหมายจริงๆอยู่ที่ปัญหาเรื่องการบริหารจัดการที่ต้องเร่งดำเนินการแก้ไข”

นายอภิชัย จันทรเสน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ กล่าวว่า กฎหมายเดิมอาจมีปัญหาติดขัดอยู่บ้างแต่อาจะไม่ถึงขั้นต้องรื้อทั้งฉบับ อาจจะต้องให้สมดุลกันระหว่างหน่วยงานให้บริการทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ปัญหาที่หนักที่สุดในขณะนี้คือ กองทุนผู้สูงอายุ ซึ่งมีเงินกองทุนน้อยมากเมื่อเทียบกับกองทุนคนพิการและกองทุนอื่นๆ คิดว่าถ้าจะปรับปรุงแก้ไขก็ควรจะแก้ไขเฉพาะบางมาตรา ประเด็นถัดมา ควรเพิ่มเงินสวัสดิการดำรงชีพ และให้ผู้สูงอายุได้เงินเต็มเม็ดเต็มหน่วย ไม่ถูกหักค่าใช้จ่าย ไม่ถูกนำมาใช้ในการหาเสียงการเมือง

“มาตรา 9 (11) ในพ.ร.บ.ผู้สูงอายุ พ.ศ.2546 ไม่ได้ติดขัดในทางปฏิบัติ แต่อาจจะไม่กว้างขวางหรือในทางปฏิบัติที่เข้ารับบริการอาจจะเกิดความล่าช้าซึ่งอาจจะมีปัญหาอยู่จริงแต่ก็อาจจะไม่มาก มาตรานี้ถูกนำมาใช้บ่อย เราจะมีวิธีการส่งเสริมอย่างไร ส่วนประเด็นที่ที่อายากจะให้ขยายสิทธิเพิ่มเติมสามารถพิจารณาจากมาตรา 11(13) ซึ่งระบุเพิ่มเติมให้การอื่นตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด”

นางสาวณัฐกานต์ จิตประสงค์ เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ กล่าวว่า เห็นด้วยกับแนวความคิดของคุณชูศักด์ จัทยานนท์ ว่าร่างพ.ร.บ.นี้ ยังมิได้ระบุถึงวัตถุประสงค์ของกองทุนผู้สูงอายุอย่างชัดเจน จึงเห็นว่าควรเพิ่มส่วนนี้เข้าไปด้วยเพื่อความครบถ้วนเพื่อป้องกันปัญหาเกี่ยวกับการจัดสรรงบประมาณจากรัฐ นอกจากนี้ ยังเห็นด้วยกับการกำหนดให้สวัสดิการของผู้สูงอายุเป็น “สิทธิถ้วนหน้า” มากกว่าจะเป็นการกำหนดสิทธิตามฐานะทางการเงิน เพื่อปิดช่องทางการนำเรื่องการเข้าถึงสวัสดิการนี้มาเป็นเครื่องมือทางการเมือง อีกทั้ง จากงานวิจัยหลายฉบับระบุว่า เมื่อดูจากงบประมาณและตัวเลขจีดีพีของรัฐบาลไทยแล้วมีศักยภาพมากพอที่จะจัดให้เป็นสิทธิถ้วยหน้าได้

ติดต่อ:

สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย : OFFICE OF LAW REFORM COMMISSION OF THAILAND อาคารซอฟต์แวร์ ปาร์ค ชั้น๑๙ ตำบลคลองเกลือ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ๑๑๑๒๐ โทร.๐ ๒๕๐๒ ๖๐๐๐ ต่อ ๘๒๗๘ โทรสาร. ๐ ๒๕๐๒ ๖๐๐๐ ต่อ ๘๒๗๔

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version