ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ชื่น ศรีสวัสดิ์ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้สืบเนื่องจากความร่วมมือระหว่างศูนย์ประสานงานสื่อสร้างสุขภาวะเด็กและเยาวชนภาคอีสาน ร่วมกับสำนักบริการวิชาการชุมชน มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี โดยโครงการขับเคลื่อนงานด้านเด็กและเยาวชนแบบบูรณาการระดับจังหวัด:อุบลราชธานี ได้ดำเนินการพัฒนาและทดลองหลักสูตร 6 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรเยาวชนจิตอาสาพัฒนาท้องถิ่น หลักสูตรรู้รักวัยใส ใส่ใจสุขภาวะทางเพศ หลักสูตรละครเพื่อการเปลี่ยนแปลง หลักสูตรเยาวชนเฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่อ หลักสูตรเยาวชนสืบค้นภูมิปัญญาท้องถิ่น และหลักสูตร NJ ผู้ประกาศปอดสะอาด ซึ่งมีการดำเนินในพื้นที่ไปแล้ว 5 หลักสูตร ในอนาคตอันใกล้มีแนวทางที่จะพัฒนาหลักสูตรใหม่ ๆ ให้สอดคล้องกับความต้องการของเด็กและเยาวชนในพื้นที่ ร่วมทั้งขยายผลกาเรียนรู้ใน 5 พื้นที่ ไปสู่ 50 อปท.ต้นแบบของจังหวัดอุบลราชธานีในปี 2556
นางสาวคนึงนุช วงค์เย็น ผู้จัดการสื่อสร้างสุขอุบลราชธานี ผู้รับผิดชอบหลักสูตร NJ ผู้ประกาศปอดสะอาด กล่าวว่า กระบวนการที่ทำเน้นทักษะการสื่อสาร ผ่านการจัดรายการในชุมชน ซึ่งทักษะนี้น้องๆสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้โดยไม่ต้องเป็นเรื่องบุหรี่โดยตรง
"ทีแรกหนักใจมีน้องๆผู้ชายเข้าร่วมเยอะ และมีเยาวชนสูบบุหรี่ด้วย หลังจากเสร็จอบรมวันนั้นเขาบอกเราว่าแต่ก่อนเรื่องบุหรี่เขามองเป็นเรื่องธรรมดา ถ้าเขาจะสูบก็เป็นเรื่องปกติแต่พอเขามารับรู้ข้อมูลทั้งหมดจริงๆ คือไมใช่แค่เขา มันกระทบหลายส่วนและก็เรื่องของบุหรี่มันเชื่อมไปสู่อบายมุขอื่นๆเรื่องการเที่ยวเตร่ตอนกลางคืน เรื่องการพนันด้วย แต่ไปถ้าเขาอยากลองเขาจะลองแบบมีภูมิคุ้มกันไม่ใช่ว่าเชื่อหรือทำตามเพื่อน ๆ อย่างนั้น เขาสะท้อนออกมาแบบนี้แล้วรู้สึกดีใจมาก" นางสาวคนึงนุช กล่าว
ทางด้านนายเฉลิม ประทุมมา จากเทศบาลตำบลนาเยีย ผู้ร่วมดำเนินงานหลักสูตรละครเพื่อการเปลี่ยนแปลง กล่าวว่า สิ่งที่ทำเป็นโอกาสอันดีในการเชื่อมประสานคณะผู้บริหารชุดใหม่ให้เห็นภาพงานพัฒนาเด็กและเยาวชน แม้หลักสูตรจะจัดแบบเรียนรู้นอกสถานที่เดินทางไกลกว่าหนึ่งร้อยกิโลเมตร ก็นับว่าคุ้มค่าเนื่องจากเด็กได้เปลี่ยนบรรยากาศที่ไม่ใช่ห้องอบรม ทำให้เด็กเรียนรู้ได้เร็ว พอวันที่สองเป็นการแสดงละครในตอนเย็น มีผู้ปกครองและคณะผู้บริหารติดตามไปร่วมชมให้กำลังใจ
"ดีใจที่มีคณะผู้บริหารเห็นด้วยที่ไปทำกิจกรรมครั้งนี้ เมื่อเสร็จการอบรมเด็ก ๆ ได้สะท้อนการเปลี่ยนแปลงจากภายในที่เกิดจากกระบวนการละครเป็นเครื่องมือทำให้เขารู้สึกว่าตัวเองมีความสำคัญทุก ๆ คนมีความสำคัญในละครทุก ๆ ครั้ง ขณะนี้กลุ่มเยาวชนมีการต่อยอดทำละครสร้างสรรค์กันเอง มีการแบ่งกลุ่มเพื่อวางแผนเพื่อให้การแสดงออกมาดีที่สุด โดยที่เขาไม่ต้องมาพึ่งที่ปรึกษา เขาสามารถขับเคลื่อนงานกลุ่มของเขาไปได้เอง จุดนี้เป็นจุดแข็งจากกิจกรรมที่ทำ เรียกว่ามีการเปลี่ยนแปลงทั้งเด็กและผู้บริหาร"นายเฉลิม กล่าว
ในช่วงบ่ายเป็นการเสวนาในหัวข้อ "เด็กกำลังแย่ท้องถิ่นจะร่วมแก้ได้อย่างไร" มีผู้ร่วมเสวนา จาก องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ องค์การบริหารส่วนตำบลคอนสาย อำเภอตระการพืชผล เทศบาลตำบลนาเยีย เทศบาลตำบลขามใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งการเสวนาในครั้งนี้มีการแลกเปลี่ยนบทเรียนการทำงานด้านเด็กและเยาวชน รวมทั้งรูปแบบการสนับสนุนการทำงานด้านเด็กและเยาวชนในพื้นที่ เพื่อเป็นแนวทางให้กับท้องถิ่นอื่น ๆ ได้นำไปปรับใช้ โดย ศสอ.ได้บันทึกเทปรายการไปออกอากาศในรายการคุยเฟื่องเรื่องสื่อเด็ก ของวันพฤหัสบดีที่ 24 มกราคม และวันที่ 31 มกราคม 2556 ในช่วงคนต้นคิด เวลา 12.30 น.-13.00 น. ทาง www.Sangsook.net และ วีเคเบิ้ลทีวี อีกด้วย