หอการค้าไทยหวั่นบาทแข็งกระทบเศรษฐกิจไทย เสนอ 7 มาตรการรับมือผลกระทบ

พุธ ๓๐ มกราคม ๒๐๑๓ ๑๖:๐๕
นายพงษ์ศักดิ์ อัสสกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า หากย้อนไปดูสถานการณ์เงินบาทปี 55 ที่ผ่านมา ค่าเงินเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 30.60-31.80 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยแข็งค่าขึ้นไปสูงสุดที่ 30.60 บาทต่อดอลลาร์ และอ่อนค่าสุดที่ 31.78 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งถือว่ามีความสมดุล แต่ทันทีที่ก้าวเข้าสู่ปี 56 เงินบาท และเงินสกุลหลัก ต่างพุ่งแข็งค่าขึ้นรวดเร็ว เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ เงินบาทหลุดกรอบ 30 บาทไปที่ 29.75 บาท แข็งค่าที่สุดในรอบ 17 เดือน จากความเชื่อมั่นในตลาดการเงินโลกปรับดีขึ้น หลังสหรัฐหาข้อยุติเพื่อเลี่ยงปัญหาฐานะทางการคลังได้ในระดับหนึ่ง ขณะที่เงินทุนไหลเข้า เริ่มทะลักสู่ภูมิภาคเอเชียมากขึ้นเช่นกัน ทั้งในตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตร ประกอบกับนักลงทุนเริ่มหวังเข้าเก็งกำไร กินส่วนต่างดอกเบี้ยและค่าเงินไปพร้อม ๆ กันด้วย แน่นอนว่าเงินบาทจึงแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง และหากไทยไม่ตั้งสติรับมือแล้วละก็ อาจเพลี่ยงพล้ำทางเศรษฐกิจได้ง่าย ๆ

การแข็งค่าขึ้นของเงินบาท 1 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จะทำให้เงินในกระเป๋าของผู้ส่งออกหายไปประมาณ 18,000 ล้านบาทต่อเดือน หรือ 216,000 ล้านบาทต่อปี แน่นอนว่า เอสเอ็มอีอุตสาหกรรมอาหาร, สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม, รองเท้า, เกษตรแปรรูป, ผลไม้กระป๋อง ล้วนเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนัก เพราะใช้วัตถุดิบในประเทศจำนวนมาก ต่างจากพวกอุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ผู้ค้าน้ำมัน ที่ได้รับอานิสงส์จากการนำเข้า ชดเชยรายได้ที่หายไประดับหนึ่ง

“ผมมองว่า “เอสเอ็มอี” เป็นกลุ่มที่น่าเป็นห่วงสุด เพราะบริหารจัดการค่าเงินไม่ได้ดี เท่าผู้ส่งออกรายใหญ่ ขณะที่การแข่งขันด้านราคาก็สู้คู่แข่งขันไม่ได้ โดยเฉพาะจีน เวียดนาม ที่ค่าเงินอ่อนกว่าไทย ดังนั้น คงต้องเป็นภาระของภาครัฐที่ต้องเข้าไปช่วยเหลือ” นายพงษ์ศักดิ์ กล่าว

สัปดาห์นี้ภาคเอกชนจะเสนอมาตรการลดผลกระทบค่าเงินบาท 7 มาตรการ ต่อภาครัฐและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้แก่ 1) ดูแลค่าเงินบาทไม่ให้มีความผันผวนเร็วเกินไป 2) ดูแลเงินบาทไม่ให้แข็งค่ากว่าคู่แข่งในภูมิภาค โดยเฉพาะอินโดนีเซียและมาเลเซีย 3) ควรมีการผ่อนคลายกฎเกณฑ์การถือครองเงินตราต่างประเทศ 4) การลดวงเงินการทำธุรกรรมในการป้องกันความเสี่ยงและลดค่าใช้จ่ายให้เหมาะสมกับสถานการณ์ เพื่อให้เอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงมาตรการป้องกันความเสี่ยงมากขึ้น 5) ควรมีการแยกบัญชีต่างประเทศ ระหว่างบัญชีที่เข้ามาลงทุนและบัญชีเก็งกำไร 6) ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการออกไปลงทุนในต่างประเทศ โดยเร่งแก้ พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน และ 7) ให้ภาครัฐและเอกชนเร่งลงทุนโครงการโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ

“ภาคเอกชนต้องการให้ ธปท. ดูแลค่าเงินบาทเป็นพิเศษ เนื่องจากการแข็งค่าของเงินบาทในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตที่เกิดจากการไหลเข้าของเงินดอลลาร์สหรัฐเพียงสกุลเดียว แต่ปัจจุบันเกิดจากการไหลเข้าของเงินเยนและยูโร ที่ออกมาแสวงหาผลตอบแทนในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะไทยที่ให้ผลตอบแทนอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรระยะสั้นสูงถึงร้อยละ 2.75 ผมคิดว่า ในระยะสั้น 2-3 เดือนนี้ เงินบาทยังมีความผันผวน และมีแนวโน้มยังแข็งค่าต่อเนื่องตลอดทั้งปีนี้ อย่างไรก็ตาม ผมก็เห็นด้วยที่ผู้ส่งออกหรือภาคการผลิตหรือบริการ ที่มีรายรับ รายจ่ายเป็นสกุลเงินต่างประเทศ ควรต้องปรับตัวรับความผันผวนนี้ เช่น การซื้อประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน และมองว่าการที่เงินบาทแข็งค่าขึ้น อาจเป็นโอกาสดีในการลงทุนนำเข้าเครื่องจักรมาผลิตด้วย” นายพงษ์ศักดิ์ กล่าว

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ