ศศินทร์จับมือAonHewitt เผยกลยุทธ์การบริหารงานบุคคลรับAEC ชี้แรงงานมีทางเลือกมากขึ้น ย้ำธุรกิจต้องเน้นสรรหา-พัฒนา-รักษา

พฤหัส ๓๑ มกราคม ๒๐๑๓ ๐๙:๕๐
สถาบันบัณฑิตฯ ศศินทร์และบริษัท Aon Hewitt ชี้หลังเปิด AEC แรงงานจะมีทางเลือกมากขึ้น เผยกลยุทธ์การบริหารงานบุคคลต้องให้ความสำคัญกับการสรรหา พัฒนา และรักษา ย้ำนายจ้างต้องสร้างแบรนด์เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับแรงงาน ฟันธงอนาคตอาชีพ HR รุ่งยืนยันตลาดยังต้องการผู้เชี่ยวชาญ

รศ.ดร.ศิริยุพา รุ่งเริงสุข กรรมการบริหารและหัวหน้าหลักสูตรการบริหารงานบุคคล สถาบันบัณฑิตฯศศินทร์ ได้แสดงความคิดเห็นในระหว่างการสัมมนาเรื่อง “HR พยากรณ์ 2558 ฟันธงทิศทางตลาดแรงงานไทยและ AEC” ว่า หลังจากเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) บุคลากรสาขาต่าง ๆ จะมีทางเลือกในการทำงานมากขึ้น โดย มร. คูลชาน ซิงห์ กรรมการผู้จัดการบริษัท AonHewitt ประจำภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ระบุว่าขณะนี้นายจ้างร้อยละ 94 เป็นธุรกิจขนาดย่อม(SME) และมีจำนวนผู้ใช้แรงงานถึงร้อยละ 60 ดังนั้นจึงต้องให้ความสำคัญกับการสรรหาและการพัฒนาไป พร้อมๆ กัน เมื่อแรงงานมีทางเลือกมากขึ้นย่อมส่งผลกระทบถึงการสรรหาบุคลากรซึ่งจะมีความยากขึ้น ทำให้การบริหารทรัพยากรบุคลากรของธุรกิจต่าง ๆ ในอนาคตหากจะใช้เงินดึงดูดเพียงอย่างเดียวอาจไม่ได้ผลอีกต่อไป ดังนั้นนายจ้างจะต้องเร่งสร้างแบรนด์ให้เป็นที่ยอมรับเพื่อให้เกิดความต้องการอยากร่วมงานด้วย ในขณะเดียวกันก็ต้องมีข้อเสนอที่น่าสนใจ ที่สำคัญผู้บริหารหรือบุคลากรในระดับผู้นำจะต้องมีความสามารถรอบด้าน เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ร่วมงาน นอกจากนี้การสรรหาคนจะต้องสอดคล้องกับนโยบายในการบริหารและจัดการบุคลากรของธุรกิจนั้น ๆ กล่าวคือต้องให้ความสำคัญกับคุณสมบัติที่เหมาะสมกับงานและสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากสิ่งที่บ่งบอกถึงการประสบความสำเร็จของคนจะอยู่ที่ความสำเร็จของงานที่ทำ และธุรกิจต่าง ๆ ต้องตระหนักว่าบุคลากรเหล่านั้นจะอยู่กับองค์กรได้อย่างไร

รศ.ดร.ศิริยุพา กล่าวถึงปัจจัยสำคัญที่ทำให้การบริหารทรัพยากรบุคคลประสบความสำเร็จว่า นอกจากเรื่องสวัสดิการและความมั่นคงแล้ว จะต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาและฝึกอบรมให้เกิดทักษะสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังต้องสร้างวัฒนธรรมในองค์กรเพื่อให้คนทำงานได้อย่างมีความสุข ทั้งนี้ นายจ้างจะต้องเข้าใจลูกจ้างแต่ละคนและแต่ละวัยซึ่งมีพฤติกรรมแตกต่างกัน ที่สำคัญคูลชานย้ำว่าองค์กรไม่ควรเห็นความสำคัญของลูกค้ามากกว่าลูกจ้าง และต้องเน้นเรื่องของความเข้าใจซึ่งกันและกัน อย่างไรก็ตาม องค์กรที่จะประสบความสำเร็จในการบริหารงานบุคคลจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับ 3 ปัจจัยหลัก ๆ คือ การสรรหา การพัฒนา และการรักษา ซึ่งจะต้องนำกลยุทธ์ต่าง ๆ เข้ามาใช้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสร้างความสุขและความพึงพอใจในการทำงาน หลังจากเปิด AEC จะทำให้บุคลากรมีความหลากหลายด้านภาษาและเชื้อชาติ ดังนั้น องค์กรจะต้องอุดรอยรั่วเพื่อมิให้ความแตกต่างด้านวัฒนธรรมเป็นอุปสรรค์ต่อการทำงาน

มร.คูลชาน ซิงห์ เปิดเผยต่อว่า องค์กรธุรกิจที่จะประสบความสำเร็จในอนาคตจะต้องเข้าใจธรรมชาติและความต้องการของมนุษย์ ซึ่งนอกจากเรื่องรายได้ที่มั่นคงแล้ว คนส่วนใหญ่ต้องการเพื่อนและมีสังคม ดังนั้น การทำงานจึงต้องเป็นทีมมีทั้งเพื่อน ลูกน้อง เจ้านาย และต้องให้อิสระในการทำงานเพื่อให้ทุกคนแสดงความสามารถอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะองค์กรที่ต้องทำงานร่วมกับคนรุ่นใหม่จะต้องไม่ปิดกั้น ในขณะเดียวกันต้องสนับสนุนให้คนเหล่านี้โชว์ฝีมือ นอกจากนี้ทุกคนต้องการเติบโตในการทำงาน จึงจำเป็นต้องให้โอกาสทุกคนทำงานอย่างเต็มที่และเปิดโอกาสให้เกิดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาไปสู่ความก้าวหน้าในอาชีพ

นอกจากนั้นวิทยากรในงาน อาทิ ดร. สบิณฑ์ ศรีวรรณบูรณ์ ผู้ช่วยหัวหน้าหลักสูตรการบริหารงานบุคคล สถาบันบัณฑิตฯศศินทร์ คุณ พจนารถ ซีบังเกิด ประธานบริษัท Jimi the Coach จำกัด และ คุณอาทิรัตน์ จารุกิจพิพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายทรัพยากรบุคคล รพ.บำรุงราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ยังได้เผยถึงเรื่องนี้ว่า อีกปัจจัยหนึ่งที่เป็นความต้องการของคนทำงาน นั่นก็คือต้องการมีความสำคัญและได้รับการยอมรับ การให้เกียรติซึ่งกันและกันในองค์กร ส่วนเรื่องบรรยากาศและรูปแบบการทำงานก็มีความสำคัญเช่นกัน ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานบุคคลจะต้องสร้างความหลากหลายให้เกิดขึ้นในการทำงาน เพื่อมิให้เกิดความซ้ำซากจำเจ และต้องคิดเสมอว่าต้องใช้กลยุทธ์อะไร เพื่อให้พนักงานเกิดความรู้สึกสนุกและตื่นเต้นกับการทำงาน รวมทั้งจำเป็นต้องรักษาคนที่มีความสามารถให้อยู่ในองค์กรได้ยาวนานที่สุด ในขณะเดียวกันต้องเข้าใจว่าคนเรานั้นมีข้อดีและข้อด้อยแตกต่างกัน ดังนั้น ผู้ที่ด้อยจะต้องได้รับการพัฒนาและให้ความสำคัญ ส่วนข้อเด่นของพนักงานควรได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนเพื่อให้สามารถใช้ศักยภาพได้อย่างเต็มที่ ทั้งนี้เพื่อให้ทุกคนในองค์กรอยู่ได้อย่างมีความสุข และการทำงานของทีมจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพประสบความสำเร็จ

ทั้งนี้รศ.ดร. ศิริยุพาและ มร.คูลชานสรุปว่า การบริหารงานบุคคลในยุคที่มีความหลากหลายด้านวัฒนธรรม จะต้องให้ความสำคัญกับพนักงานทุกคน สิ่งที่ไม่ควรทำก็คือการดูถูกประเทศที่ด้อยกว่าเรา แต่จะต้องเรียนรู้วัฒนธรรมซึ่งกันและกัน และต้องปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมหลังจากเปิด AEC อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าในอนาคตนั้นวิชาชีพบริหารงานบุคคลจะเป็นที่ต้องการของตลาด หากเป็นมืออาชีพที่มีประสิทธิภาพและมีความสามารถที่ตอบโจทย์ธุรกิจได้ จะมีโอกาสได้ร่วมงานกับองค์กรข้ามชาติที่ได้รับค่าตอบแทนสูง เห็นได้จากสถิติค่าจ้างของอาชีพ ต่าง ๆ พบว่าประเทศที่จ่ายแพงที่สุดคือสิงคโปร์ รองมาคือไทย และมาเลเซีย อย่างไรก็ตาม คาดว่าหลังจากเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนแล้ว ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญจะเข้ามาสู่อาชีพที่ปรึกษาในสาขาต่าง ๆ ทั้งด้านการบริการงานบุคคลและที่ปรึกษาด้านการลงทุนในต่างประเทศ

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์

ศิริลักษณ์ สุจริตตานนท์ (แอน) Asst. Chief of Public Relations โทร 02-218- 3853-4 หรือ

E-mail: [email protected]

แพรวทิพย์ ด่านวราวิจิตร PR&Marketing Coordinator โทร. 02-218- 4001-9 ต่อ 188 หรือ

E-mail:[email protected]

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๓๑ ม.ค. รู้จักโรคอ้วนดีแล้ว.จริงหรือ?
๓๑ ม.ค. บมจ.ไทยเซ็นทรัลเคมี ร่วมกับ MBK ส่งมอบปฏิทินในกิจกรรม ปฏิทินเก่ามีค่า เราขอ
๓๑ ม.ค. BSRC ออกหุ้นกู้รอบใหม่ 8,000 ล้านบาท ยอดจองเกินเป้า ตอกย้ำความเชื่อมั่นของผู้ลงทุน
๓๑ ม.ค. คปภ. ร่วมสัมมนาประกันภัย ครั้งที่ 29 เตรียมรับมือความเสี่ยงอุบัติใหม่ พลิกโฉมธุรกิจประกันภัยสู่ความท้าทายในอนาคต
๓๑ ม.ค. มอบของขวัญให้กับครอบครัวของคุณช่วงวันหยุดพิเศษที่ สเตย์บริดจ์ สวีท แบงค็อก สุขุมวิท
๓๑ ม.ค. OR เปิดตัว CEO คนใหม่ หม่อมหลวงปีกทอง ทองใหญ่ มุ่งผลักดันไทยสู่ Oil Hub แห่งภูมิภาค พร้อมขับเคลื่อนองค์กรด้วยดิจิทัล-นวัตกรรม
๓๑ ม.ค. เดลต้า ประเทศไทย คว้ารางวัล ASEAN's Top Corporate Brand ประจำปี 2567
๓๑ ม.ค. โรงแรมอลอฟท์ กรุงเทพ สุขุมวิท 11 พลิกโฉมใหม่ สุดโมเดิร์น! พร้อมเปิดตัว w xyz bar ตอกย้ำความสนุกในแบบฉบับ
๓๑ ม.ค. PAUL JOE เปิดตัว GLOSSY ROUGE ต้อนรับฤดูใบไม้ผลิ 2025
๓๑ ม.ค. บริษัท โกซอฟท์ (ประเทศไทย) ได้รับเกียรติบัตรศูนย์ รับเรื่องและแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภคระดับดีเด่น จาก สคบ. และการรับรองมาตรฐาน ISO