นายนพดล ตันวิเชียร รองผู้อำนวยการทำการแทนผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งชาติ หรือ อ.ส.ค. ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายนมไทย-เดนมาร์ค เปิดเผยถึงกลยุทธ์และทิศทางการตลาดในปี 2556 ของนมไทย-เดนมาร์คว่า ในปีที่ผ่านมา นมไทย-เดนมาร์คมียอดรายได้เติบโตราว 20-30% ต่อปี ในขณะที่ภาพรวมของอุตสาหกรรมนมพร้อมดื่มมีมูลค่าราว 15,000 ล้านบาท ไทย-เดนมาร์คมีส่วนแบ่งอยู่ราว 30% ในกลุ่มนม UHT ที่ใช้นมสดผลิตถือเป็นมาร์เก็ตแชร์อันดับสอง เพราะผู้เล่นหลักมีกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย คือ ทั้งนมพาสเจอร์ไรส์ UHT และนมเปรี้ยว
โดยกลยุทธ์สำคัญในการทำตลาดต่างประเทศนั้น นายนพดล ได้อธิบายว่า ที่ผ่านมานมไทย-เดนมาร์คได้จำหน่ายในประเทศเพื่อนบ้าน ผ่านตัวแทนจำหน่ายแล้ว ทั้งในกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ส่วนในพม่า นั้น ที่ผ่านมาค้าขายกันตามแนวชายแดน แต่ขณะนี้ได้มีตัวแทนจำหน่ายเข้ามาเจรจาขอเป็นตัวแทนจำหน่ายในพม่าแล้ว ซึ่งในประเทศเพื่อนบ้านเหล่านี้ มีความนิยมและเชื่อมั่นในสินค้าจากประเทศไทยเป็นอย่างมาก ส่วนหนึ่งเพราะได้รับอิทธิพลจากสื่อโทรทัศน์ และศิลปินจากเมืองไทย แม้ว่าสินค้าไทยที่เข้าไปจำหน่ายจะราคาสูงกว่าราว 20-30% โดยรายได้จากการจัดจำหน่ายในต่างประเทศนั้นอยู่ที่ราว 300 ล้านบาท
สำหรับตลาดจีนและเวียดนามนั้น ช่วงปลายปีที่ผ่านมา มีการร่วมประชุมหารือกับนักธุรกิจตัวแทนจำหน่ายนมของประเทศเวียดนามและจีน เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลเชิงลึกและหาแนวทางส่งเสริมการขายสินค้านมและผลิตภัณฑ์ของ อ.ส.ค.เข้าสู่ตลาดประเทศเวียดนามและจีน อยู่ระหว่างการเจรจาถึงความเป็นไปได้ในการผลิตว่าจะเป็นการผลิต เชื่อว่าหากการเจรจาบรรลุข้อตกลง จะเป็นโอกาสสำคัญในการบุกตลาดจีน เนื่องจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังกังวลต่อคุณภาพและมาตรฐาน ในแบรนด์สินค้าที่ผลิตในจีนเอง นับเป็นโอกาสที่ดีเพราะตลาดการบริโภคจีนนั้นยังมีมูลค่ามหาศาล ที่ อ.ส.ค.เองต้องวางแผนการผลิตให้รัดกุมเป็นอย่างดี
“ในปีนี้ อ.ส.ค.ได้เดินหน้าเพื่อสร้างโรงงานในพื้นที่ จ.ลำปาง และปรับปรุงเครื่องจักร มูลค่า 800 ล้านบาท เพื่อรองรับการผลิตและจัดจำหน่ายในพื้นที่เขตภาคเหนือตอนบน ที่ตลาดกำลังเติบโตต่อเนื่องประกอบกับมีแผนที่จะทำตลาดในพม่าและจีนอนาคต ซึ่งจะสามารถผลิตได้ไม่น้อยกว่า 140 ตันต่อวันเสริมโรงงานเชียงใหม่ผลิตได้ราว 10 ตันต่อวัน ซึ่งจะทำให้เราสามารถเข้มแข็งในพื้นที่ภาคเหนือยิ่งขึ้นในการกระจายสินค้า”
ปัจจุบัน อ.ส.ค.มีโรงงานผลิตทั้งหมด 5 โรงงาน คือ มวกเหล็ก,เชียงใหม่,ขอนแก่น,สุโขทัยและปราณบุรี ที่สามารถรองรับน้ำนมดิบได้ราวเฉลี่ย วันละ 500 ตันต่อวัน โดยโรงงานที่ จ.ลำปาง จะเริ่มก่อสร้างราวไตรมาส 3 ของปีนี้ และแล้วเสร็จในปี 2558 เชื่อว่าจะเสร็จทันต่อการเปิดเขตประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในขณะเดียวกันก็ได้ดำเนินการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรที่เคยใช้งานมาตลอดระยะเวลา 20-25 ปีให้ทันสมัยและมีประสิทธิภาพสมบูรณ์มากขึ้น โดยรูปแบบของเครื่องจักรก็จะเป็นระบบที่พึ่งแรงงานคนน้อยที่สุด เนื่องจากปัญหาการขาดแรงงานในกระบวนการผลิตหลังเปิด AEC แล้วจะเป็นปัญหาที่รุนแรงยิ่งขึ้น
นอกจากการส่งออกผลิตภัณฑ์นม UHT แล้วด้านองค์ความรู้การเลี้ยงโคนมของอ.ส.ค.ที่พัฒนามาต่อเนื่องตลอดการน้อมรับอาชีพโคนม ซึ่งถือเป็นอาชีพพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ กว่า 50 ปี ทำให้ อ.ส.ค.คือ ฐานองค์ความรู้ด้านการเพาะเลี้ยงโคนมที่สำคัญในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ ที่สามารถพัฒนาสายพันธุ์โคนมจากยุโรปให้มีความทนทานต่อโรคระบาดในพื้นที่เขตร้อนชื้นได้เป็นอย่างดี ตลอดจนสามารถให้น้ำนมได้สูงกว่าสายพันธุ์อื่น โดยคู่แข่งด้านการเลี้ยงโคนมในภูมิภาคนี้แล้วยังไม่มีใครเข้มแข็งเท่า อ.ส.ค. โดยปีที่ผ่านมา อ.ส.ค.ได้ส่งออกพ่อพันธุ์โคไปยังเวียดนาม อินโดนีเซีย ซึ่งในอนาคตจะมีการพัฒนาต่อยอดเพิ่มขึ้น
“ขณะนี้เรากำลังจะน้อมเกล้าฯเพื่อถวายพระราชสมัญญานาม ‘พระบิดาแห่งการเลี้ยงโคนมไทย’ แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ แล้วจากนั้นเราก็ได้มีการนำเอาองค์ความรู้ด้านการเลี้ยงโคนมให้แก่ประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียนที่มีความสนใจต่อการเลี้ยงโคนม เพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหารให้กับภูมิภาคนี้ยิ่งขึ้น”
สำหรับกลยุทธ์สำคัญในการรุกตลาดในประเทศนั้น ในปี 2556 อ.ส.ค.จะออกผลิตภัณฑ์นมใหม่ คือ โยเกิร์ตพร้อมดื่ม ยู.เอช.ที ภายใต้แบรนด์ ไทย-เดนมาร์ค เพื่อเพิ่มช่องทางการขายให้มากขึ้น โดยในกลุ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ของ อ.ส.ค.นั้นจะเปิดตัว นมโยเกิร์ตพร้อมดื่มผสมคอลลาเจน พร้อมเปิดตัวพรีเซ็นเตอร์และภาพยนตร์โฆษณาใหม่ ประมาณเดือนพฤษภาคมนี้ โดยย้ำในจุดแข็งสำคัญของนมไทย —เดนมาร์ค คือ ใช้นมโคสดแท้ 100 % ในการผลิต ซึ่งทำให้รสชาติของโยเกิร์ตพร้อมดื่มของนมไทย-เดนมาร์ค มีรสชาติหอม นุ่ม และเข้มข้นในเนื้อนมสดกว่านมผสมนมผง โดยมีทั้งหมด 4 รสชาติ คือ รสสับปะรด รสสตรอเบอรี่ รสเลม่อน และ รสส้ม โดยเตรียมงบประมาณในการทำตลาดดังกล่าวราว 100 ล้านบาท
“ตั้งเป้าใน 5 ปี อ.ส.ค.จะเพิ่มยอดขายนมไทย-เดนมาร์คในตลาดต่างประเทศให้ได้ 1,000 ล้านบาทต่อปี จากเดิมที่มียอดขายเพียง 200 ล้านบาทต่อปี รวมทั้งเพิ่มยอดขายทั้งในและต่างประเทศให้เป็น 10,000 ล้านบาทต่อปี จากปัจจุบันที่มียอดขายรวมที่ 6,500 ล้านบาท และมั่นใจว่า นมไทย-เดนมาร์ค จะเป็นเหมือนโลโก้ ไทยเฟรชมิลค์ของคนไทย” นายนพดลกล่าวในที่สุด