สมาคมการค้ายาสูบไทย ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งต่อการประกาศของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในมาตรการเพิ่มขนาดภาพคำเตือนสุขภาพบนผลิตภัณฑ์ยาสูบเมื่อวันที่ 1 ก.พ. ที่ผ่านมา โดยกฎระเบียบใหม่ดังกล่าวจะบังคับให้มีการพิมพ์ภาพคำเตือนบนพื้นที่ร้อยละ 85 ของซอง ซึ่งแทบจะไม่เหลือพื้นที่ในการแสดงข้อมูลเกี่ยวกับตราสินค้า ทั้งนี้กฎหมายดังกล่าวจะก่อให้เกิดภาระแก่ผู้ค้าปลีก และร้านค้าขนาดเล็กทั่วประเทศในด้านการจัดการบริหารสินค้า การจัดสต็อค การให้บริการและการสื่อสารกับผู้บริโภค กล่าวสรุปคือ กฎระเบียบดังกล่าวมีแต่จะสร้างภาระเพิ่มเติมที่ไม่จำเป็นต่อผู้ค้าปลีกในการบริหารจัดการภายในร้านค้าของตัวเองเป็นอย่างมาก
นางวราภรณ์ นะมาตร์ ผู้อำนวยการบริหารสมาคมการค้ายาสูบไทย กล่าวว่า “การตัดสินใจประกาศใช้กฎระเบียบนี้สร้างความตกใจแก่กลุ่มร้านค้าปลีกเป็นอย่างมาก เนื่องจากมิได้มีการเตือนล่วงหน้าหรือมีการหารือกับกลุ่มค้าปลีกเลยแม้แต่น้อย ท่านรัฐมนตรีฯ กล่าวว่าการใช้กฎหมายดังกล่าวจะทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีภาพคำเตือนด้านสุขภาพขนาดใหญ่ที่สุดในโลก อันที่จริงแล้วผลกระทบที่จะเกิดต่อเจ้าของร้านค้าปลีกชาวไทยกว่า 480,000 รายทั่วประเทศ ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ทำมาหากินนั้นควรจะได้รับความสำคัญและได้รับการพิจารณามากกว่าความพยายามพิชิตสถานะหรืออันดับในเวทีนานาชาติ ท่านรัฐมนตรีฯ มิได้แม้แต่พูดคุยกับผู้ค้าปลีก เพื่อทำความเข้าใจในภาระอันเกิดจากการบังคับใช้ภาพคำเตือนดังกล่าวที่กระทบต่อเจ้าของร้านค้าก่อนที่จะประกาศใช้นโยบายนี้แต่อย่างใด”
สมาคมการค้ายาสูบไทยเชื่อว่าผู้กำหนดนโยบายด้านสุขภาพนั้น ควรพิจารณาถึงกลุ่มผู้ที่จะได้รับผลกระทบอย่างแท้จริงจากการกำหนดนโยบายของรัฐบาล อีกทั้งกระทรวงสาธารณสุขควรจะคำนึงถึงความเป็นอยู่และอาชีพของผู้ค้าปลีกและเจ้าของร้านค้าขนาดย่อยด้วยเช่นเดียวกันก่อนจะตัดสินใจด้านนโยบายควบคุมยาสูบใด ๆ เนื่องด้วยวัตถุประสงค์ด้านสุขภาพเป็นสิ่งที่สามารถทำให้บรรลุผลได้ด้วยมาตรการที่ไม่สุดโต่งจนเกินไปและไม่ทำร้ายกลุ่มผู้ค้าปลีก
“กลุ่มอุตสาหกรรมยาสูบซึ่งเพิ่งเริ่มจะฟื้นตัวจากการปรับขึ้นของภาษีในปีที่ผ่านมา กำลังได้รับแรงกดดันจากร่างพระราชบัญญัติควบคุมการบริโภคยาสูบที่กำลังดำเนินการอยู่ และตอนนี้ยังจะต้องมากังวลเกี่ยวกับภาพคำเตือนที่ขนาดใหญ่เกินความจำเป็นอีก ทางสมาคมฯ มุ่งหวังที่จะเป็นพันธมิตรกับรัฐบาลเพื่อมีส่วนร่วมในการพัฒนานโยบายยาสูบที่จะช่วยลดอัตราการสูบบุหรี่ได้อย่างแท้จริงโดยไม่เป็นการคุกคามวิถีชีวิตของกลุ่มผู้ค้า แต่น่าเสียดายที่นโยบายต่าง ๆ ที่อยู่ภายใต้การพิจารณาของรัฐบาลนั้น ไม่เพียงแต่จะเกินความจำเป็นและสุดโต่งจนเกินไป แต่ยังสร้างความเสี่ยงทางอาชีพให้แก่สมาชิกของสมาคมฯ ซึ่งประกอบไปด้วยร้านค้าขนาดเล็กทั่วประเทศ เราขอความเห็นใจจากท่านนายกรัฐมนตรีและท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้ช่วยรับฟังปัญหาและข้อกังวลต่าง ๆ จากกลุ่มผู้ค้าปลีก และพิจารณานโยบายดังกล่าวอีกครั้งหนึ่ง” นางวราภรณ์ กล่าวสรุป
ข้อมูลการบังคับใช้ข้อความและภาพคำเตือนสุขภาพบนซองบุหรี่ในประเทศไทย
พ.ศ. 2517: บังคับใช้ข้อความคำเตือนสุขภาพครั้งแรกบนบริเวณข้างซอง โดยไม่ระบุลักษณะและขนาดของตัวอักษร
พ.ศ. 2532: บังคับใช้ข้อความคำเตือนสุขภาพบริเวณด้านหน้าซองเท่านั้น ขนาดตัวอักษร 2x2 มิลลิเมตร
พ.ศ. 2535: บังคับใช้ข้อความคำเตือนสุขภาพบริเวณด้านหน้าและด้านหลังของซอง บนพื้นที่ร้อยละ 25 บริเวณด้านล่างของซอง กำหนดตัวอักษรสี่พระยาขนาด 16 พอยต์
พ.ศ. 2540-2547: บังคับใช้ข้อความคำเตือนสุขภาพบริเวณด้านหน้าและด้านหลังของซอง บนพื้นที่ร้อยละ 33.3 บริเวณด้านบนของซอง กำหนดตัวอักษรสี่พระยาขนาด 20 พอยต์
พ.ศ. 2548: บังคับใช้ภาพคำเตือนสุขภาพ 4 สีบริเวณด้านหน้าและด้านหลังของซองครั้งแรกในประเทศไทย พื้นที่ร้อยละ 50 ของซอง ซึ่งเป็นประเทศที่ 4 ของโลกที่มีการบังคับใช้ภาพคำเตือน
พ.ศ. 2549: บังคับใช้ข้อความคำเตือนสุขภาพบริเวณข้างซอง บนพื้นที่ร้อยละ 50 ของซอง
พ.ศ. 2553: บังคับใช้ภาพคำเตือนสุขภาพ 4 สีบริเวณด้านหน้าและด้านหลังของซอง บนพื้นที่ร้อยละ 55 ของซอง ซึ่งภาพคำเตือนที่ใช้มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 9 ของโลก
พ.ศ. 2554: บังคับใช้ข้อความคำเตือนสุขภาพบริเวณข้างซอง บนพื้นที่ร้อยละ 60 ของซอง
สำหรับสื่อมวลชน กรุณาติดต่อ 124 คอมมิวนิเคชั่นส คอนซัลติ้ง โทร 0 2 718 1886