การป้องกันรักษาป่าโดยการเฝ้าระวังและใช้กฎหมายบังคับยังคงจำเป็น แต่การแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพจำเป็นต้องอาศัยมาตรการอื่นๆ ช่วยส่งเสริมและสนับสนุนร่วมด้วย โดยเฉพาะการเข้าใจถึงแก่นแท้ของปัญหาการบุกรุกทำลายป่าของประชาชน ซึ่งมีสาเหตุมาจากความยากจนและความไม่รู้ ดังนั้น หน่วยป้องกันรักษาป่าของกรมป่าไม้ต้องปรับเปลี่ยนบทบาทหน้าที่ใหม่ โดยการส่งเสริมสร้างความเข้าใจให้ชุมชนและประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันรักษาป่า ด้วยความร่วมมือ ร่วมใจ และสร้างจิตสำนึกรักษ์ป่าด้วยความเต็มใจ และสมัครใจ ของประชาชนในท้องถิ่น จะเป็นเกราะป้องกันการบุกรุกทำลายป่าได้ดีกว่ากฎข้อบังคับใด ๆ
ด้านนางอำนวยพร ชลดำรงค์กุล ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านจัดการและควบคุมป่าไม้ กล่าวว่า จากการตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจพนักงานพิทักษ์ป่า ของหน่วยป้องกันรักษาป่า ที่ ชย.3 (ภูเขียว) จังหวัดชัยภูมิ พบว่า ในพื้นที่รับผิดชอบของหน่วยฯ นี้ มีจำนวนคดีน้อยที่สุด จากการตรวจสอบสถานที่ทำงานปรากฏว่า นอกจากจะทำหน้าที่ในการป้องกันรักษาป่าแล้ว เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าได้จัดเตรียมกล้าไม้หลากหลายชนิด จำนวนมาก ไว้สำหรับแจกจ่ายให้ชาวบ้านนำไปปลูก ทำให้ชาวบ้านและเจ้าหน้าที่เกิดความเป็นมิตร เป็นเครือข่ายในการดูแลรักษาป่า และช่วยปลูกต้นไม้เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับจังหวัดชัยภูมิด้วย
นางอำนวยพร กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของจังหวัดทางภาคเหนือซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวของประชาชน พบว่า หน่วยป้องกันรักษาป่า ที่ มส.1 (ม่วงต๊อบ) จังหวัดแม่ฮ่องสอน นอกจากการปฏิบัติหน้าที่ปกติในการป้องกันรักษาป่าแล้ว เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่ายังทำหน้าที่เป็นเจ้าของบ้านที่ดีในการต้อนรับนักท่องเที่ยว โดยในบริเวณหน่วยป้องกันรักษาป่า มส.1 ได้อนุญาตให้นักท่องเที่ยวที่ไม่มีที่พัก นำเต้นท์มากางพักค้างบริเวณสนามหน้าที่ทำการได้ รวมทั้งทำการปรับปรุงห้องน้ำเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในช่วงเทศกาลท่องเที่ยวด้วย
“หากชุมชนและประชาชนในท้องถิ่น เกิดจิตสำนึกในการดูแลรักษาป่าด้วยความ เต็มใจ และสมัครใจ แล้ว จะเป็น เกราะป้องกัน การบุกรุกทำลายป่าได้ดีกว่ากฎข้อบังคับใดๆ” นางอำนวยพร กล่าว