ผลการดำเนินการปี 2547 บมจ.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ มีรายได้รวม 21,288 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 6,100.7 ล้านบาท

พุธ ๐๒ มีนาคม ๒๐๐๕ ๑๒:๐๙
กรุงเทพฯ--2 มี.ค.--แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์
นายนพร สุนทรจิตต์เจริญ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยผลการดำเนินงานของบริษัทในปี 2547 ว่า บริษัทมีรายได้รวม 21,288 ล้านบาทและมีกำไรสุทธิรวม 6,100.74 ล้านบาท
ภาวะตลาดที่อยู่อาศัย ปี 2547
ตลาดที่อยู่อาศัย ในปี 2547 มีการขยายตัวที่สูงขึ้นต่อเนื่องจากปี 2546 จากตัวเลขบ้านจดทะเบียนเพิ่มที่เกิดขึ้นในปี 2547 มีจำนวนทั้งหมด 62,796 หน่วย เพิ่มขึ้นจากปี 46 ร้อยละ 24.1 โดยแบ่งแยกเป็นที่อยู่อาศัยประเภทสร้างเอง 19,859 หน่วย เพิ่มขึ้น 6.8% และที่อยู่อาศัยประเภทจัดสรร 42,937 หน่วย เพิ่มขึ้น 34.2 % จากปีก่อนหน้านี้ อนึ่งสำหรับบ้านจดทะเบียนเพิ่มประเภทจัดสรร ในปี 2547 เมื่อพิจารณาแบ่งแยกตามประเภทที่อยู่อาศัย แบ่งแยกได้เป็น
- ประเภทบ้านเดี่ยว มีจำนวน 26,631 หน่วย เพิ่มขึ้น 48.7%
- ประเภททาวน์เฮ้าส์ มีจำนวน 13,360 หน่วย เพิ่มขึ้น 18.5%
- ประเภทคอนโดมิเนียม มีจำนวน 2,185 หน่วย เพิ่มขึ้น 14.5%
การขยายตัวของตลาดที่อยู่อาศัยในปี 2547 ที่ผ่านมา มีปัจจัยที่เกื้อหนุนที่สำคัญๆ ได้แก่
- อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2547 ยังคงอยู่ในระดับที่สูงต่อเนื่องจากปี 6
กล่าวคืออยู่ในระดับประมาณร้อยละ 6.25 ต่อปี
- อัตราดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้อ ยังคงอยู่ในระดับต่ำ (อัตราดอกเบี้ย MLR = 5.75% และเงินเฟ้อ =2.7%) ถึงแม้ว่าจะมีการปรับขึ้นมาบ้างในระหว่างปี แต่เป็นการปรับขึ้นเพียงเล็กน้อย
- ความต้องการที่อยู่อาศัยของผู้บริโภค ยังคงอยู่ในระดับสูงที่ต่อเนื่อง
______________________________________________________________________
ที่อยู่อาศัยจดทะเบียนเพิ่มในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล
เปรียบเทียบบ้านจดทะเบียนเพิ่ม ระหว่างปี 2546 — 2547 หน่วย : หลัง
______________________________________________________________________
บ้านจดทะเบียนเพิ่ม จำแนกตามประเภทการดำเนินการ 2546 2547 %
การเปลี่ยนแปลง
สร้างเอง 18,598 19,859 6.8%
จัดสรร 31,996 42,937 34.2%
รวมบ้านจดทะเบียนเพิ่มทั้งหมด 50,594 62,796 24.1%
จำแนกตามประเภทที่อยู่อาศัย — จัดสรร
บ้านเดี่ยว 17,911 26,631 48.7%
บ้านแฝด 905 761 -15.9%
บ้านแถวและอาคารพาณิชย์ 11,272 13,360 18.5%
แฟลตและอาคารชุด 1,908 2,185 14.5%
รวมจำนวนที่อยู่อาศัยที่จดทะเบียนเพิ่ม—จัดสรร 31,996 42,937 34.2%
______________________________________________________________________
ข้อมูลที่เก็บจากในเขตกรุงเทพมหานครและ 5 จังหวัดในปริมณฑล คือ สมุทรปราการ , นนทบุรี , ปทุมธานี , นครปฐม, สมุทรสาคร
ที่มา : ธนาคารอาคารสงเคราะห์
อย่างไรก็ตามในช่วงปีที่ผ่านมา มีปัจจัยลบบางประการที่กระทบต่อตลาดที่อยู่อาศัย ที่สำคัญคือ
- ความผันผวนและการปรับตัวสูงขึ้นของราคาน้ำมัน ซึ่งส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตในอุตสาหกรรมที่สูงขึ้น
- ความเข้มงวดของธนาคารพาณิชย์ ในการให้สินเชื่อ ทั้ง Pre Finance และ Post Finance ที่มากขึ้น
- ปัญหาความไม่สงบ ใน 3 จังหวัดชายแดน ภาคใต้
- ปัญหาการแพร่ระบาดของไข้หวัดนก
- การแข่งขันในอุตสาหกรรมมีมากขึ้นทำให้ในช่วงไตรมาส 1 และ 2 ของปี 47 ผู้ประกอบใช้กลยุทธ์ด้านราคาเป็นหลัก ส่งผลให้มีการแข่งขันด้านราคา อย่างมาก แต่กระนั้นในช่วงครึ่งหลังของปี ผู้ประกอบการได้ใช้กลยุทธ์ด้านราคาน้อยลง เนื่องจากการปรับตัวสูงขึ้นของระดับราคาน้ำมันและต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น
ผลการดำเนินงานของบริษัท ในปี 2547
ผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ในปี 2547 ที่ผ่านมา บริษัทฯได้ส่งมอบบ้านให้แก่ลูกค้าประมาณ 3,300 หน่วย โดยในปีที่ผ่านมาบริษัทฯ มีจำนวนโครงการที่เปิดดำเนินการ ณ ต้นปี 2547 จำนวนทั้งสิ้น 25 โครงการ แบ่งแยกเป็นในเขตกรุงเทพและปริมณฑล 21 โครงการ ต่างจังหวัด 4 โครงการ ในระหว่างปี 2547 มีโครงการที่เปิดใหม่ จำนวน 16 โครงการ รวมจำนวนโครงการที่ดำเนินการในปี 47 ทั้งหมด 41 โครงการ
แนวโน้มตลาดที่อยู่อาศัย ปี 2548
ตลาดที่อยู่อาศัยในปี 2548 จะเป็นตลาดที่เกิดจากความต้องการที่อยู่อาศัยที่แท้จริงของผู้บริโภค แนวโน้มของตลาดน่าจะมีขยายตัวต่อเนื่องจากปี 47 โดยอัตราการขยายตัว จะอยู่ในระดับประมาณ 10-15% ทั้งนี้เนื่องจากทั้งปัจจัยที่เกื้อหนุนประการสำคัญคือ
- อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP Growth Rate) มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมาก ในอัตราร้อยละ 6.0 ต่อปี
- การลงทุนของภาครัฐบาล จะมีผลต่อการกระตุ้นความเติบโตของเศรษฐกิจ นอกจากนี้การลงทุนในด้านสาธารณูปโภคของรัฐบาล เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจร ยังส่งผลดีต่อตลาดที่อยู่อาศัยโดยรวม
- ถึงแม้ว่าอัตราดอกเบี้ย มีแนวโน้มที่จะปรับตัวสูงขึ้น แต่กล่าวได้ว่ายังคงอยู่ในระดับเมื่อเทียบกับช่วงที่ตลาดที่อยู่อาศัยเติบโตสูงสุด และในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ จากการประมาณการ อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นไม่เกิน 1%
- อัตราเงินเฟ้อ ที่ยังคงในระดับประมาณ ร้อยละ 3.0- 3.5 จะไม่ส่งผลกระทบต่อตลาดที่อยู่อาศัยมากนัก แต่ทั้งนี้คงต้องขึ้นกับว่าความผันผวนของระดับราคาน้ำมันเป็นอย่างไรประกอบด้วย
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยลบที่มีผลกระทบต่อตลาดที่อยู่อาศัย ในปี 48 ที่สำคัญ ได้แก่
- การปรับสูงขึ้นของราคาน้ำมัน โดยเฉพาะการปล่อยราคาน้ำมันดีเซลลอยตัว ซึ่งจะมีผลต่อต้นทุนการผลิตที่อยู่อาศัยที่สูงขึ้น
- แนวโน้มของราคาวัสดุก่อสร้าง ที่จะปรับตัวสูงขึ้น
- การเข้มงวดของธนาคารพาณิชย์ ในการพิจารณาสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการและลูกค้าที่มากขึ้น
- ปัญหาความไม่สงบ ใน 3 จังหวัดชายแดน ภาคใต้
แผนการดำเนินงานของบริษัทปี 2548
บริษัท มีโครงการที่ดำเนินการ ณ ต้นปี 2548 ที่เปิดดำเนินการในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และต่างจังหวัด รวมทั้งสิ้น 28 โครงการ และระหว่างปี 2548 นี้ บริษัทมีแผนเปิดโครงการใหม่อีก 13 โครงการ มูลค่าโครงการโดยรวม 28,032 ล้านบาท รวมจำนวนโครงการที่ดำเนินการในปี 48 ทั้งหมด 41 โครงการ
การดำเนินงานบริษัทฯ ยังคงเน้นการดำเนินงาน “บ้านสบายสร้างเสร็จก่อนขาย” และจะเน้นการดำเนินงานด้านบริการหลังการขายในเชิงรุกมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการสร้างความแตกต่างและเพิ่มประสิทธิภาพความสามารถในการแข่งขันได้ดียิ่ง เนื่องจากบริษัทมีต้นทุนผลิตที่เป็นต้นทุนเดิม และการดำเนินงานสร้างก่อนขาย ทำให้บริษัทสามารถควบคุมต้นทุนการผลิตได้ ทั้งยังสามารถปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ด้านราคา ให้เป็นสอดคล้องกับกลไกของตลาดได้อย่างแท้จริง นอกจากนี้เพื่อรับรองกับการเข้าอยู่ของลูกบ้าน ให้มีความสะดวกสบายและมีคุณภาพชีวิตที่ดี เมื่อย้ายเข้าอยู่ในโครงการปัจจุบันลูกค้าของบริษัท ได้มีการย้ายเข้าอยู่ในโครงการอย่างรวดเร็ว เฉลี่ยประมาณ 2 เดือน สะท้อนให้เห็นว่ากลุ่มลูกค้าของบริษัท เป็นกลุ่มที่มีความต้องการที่แท้จริง
การดำเนินงานของบริษัทฯ ได้ให้ความสำคัญในด้านการวิจัยและพัฒนาระบบงาน โดยเฉพาะการศึกษาความต้องการที่อยู่อาศัยของผู้บริโภค ความคิดเห็นของผู้บริโภคที่มีต่อการใช้ฟังก์ชันบ้านอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำมาพัฒนาสินค้าให้ตอบสนองตามความต้องการและการใช้ชีวิตประจำวันของลูกค้าได้อย่างดีต่อไปในอนาคต นอกเหนือจากนั้นการดำเนินงานโครงการ ภายใต้แนวคิด “บ้านสบาย สร้างเสร็จก่อนขาย” บริษัทฯ ได้ให้ความสำคัญในการศึกษาประเด็นต่างๆ อย่างละเอียด เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น โดยได้ศึกษาการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ทางการตลาด ความต้องการที่อยู่อาศัย (Housing Demand) ในแต่ละทำเล, ระดับราคาสินค้า (Segmentation) ตลอดจนความคิดเห็นเกี่ยวกับความต้องการในแบบบ้านต่างๆ ของลูกค้า เพื่อนำมาวางแผนงานก่อสร้างให้สอดคล้องกับอัตราการขายที่จะเกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลา และประการสำคัญอีกประการหนึ่ง บริษัทฯ ได้มีการวางแผนระบบงานในส่วนต่างๆ ให้สอดคล้องกับนโยบายและเป้าหมายของบริษัทที่กำหนดไว้ ทั้งในด้านการพัฒนาบุคลากร การผลิต การตลาด และการเงิน โดยมีระบบการตรวจสอบและการพัฒนาระบบงานให้มีความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพสูงสุด
นายอดิศร ธนนันท์นราพูล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ได้เปิดเผยถึงผลการดำเนินการของบริษัทฯ และบริษัทย่อยว่า ในปี 2547 บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีรายได้รวมทั้งสิ้น 21,288 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 838 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 เมื่อเทียบกับปี 2546 ซึ่งมีรายได้รวมเท่ากับ 20,450 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม เนื่องจากภาษีธุรกิจเฉพาะปี 2547 ได้ถูกปรับมาสู่อัตราปกติ ทำให้บริษัทฯ มีภาระภาษีในส่วนนี้เพิ่มขึ้นจาก 22 ล้านบาท ในปี 2546 เป็น 705 ล้านบาทในปี 2547 ทำให้กำไรสุทธิของบริษัทฯ เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย
ในรอบปีที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้ลงทุนซื้อที่ดินไปเกือบ 4,000 ล้านบาท และมีการจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้น 2 ครั้ง คิดเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 7,692.34 ล้านบาท กล่าวคือ
- ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2547 โดยจ่ายจากกำไรสะสมและผลการดำเนินงานของปี 2546 ในอัตราหุ้นละ 0.70 บาท คิดเป็นจำนวนเงินปันผลทั้งสิ้น 5,313.89 ล้านบาท
- ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2547 ในอัตราหุ้นละ 0.30 บาท คิดเป็นจำนวนเงินปันผลทั้งสิ้น 2,378.45 ล้านบาท
ณ สิ้นปี 2547 บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวมจำนวน 36,845 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5,452 ล้านบาท จาก 31,393 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2546 ทั้งนี้อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนของบริษัทฯ เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 29 เมื่อสิ้นปี 2546 เป็นร้อยละ 51 เมื่อสิ้นปี 2547
สำหรับแผนงานทางด้านการเงินปี 2548 ของบริษัทฯ นั้น บริษัทฯ จะเน้นการระดมทุนจากตลาดทุนโดยการออกตราสารหนี้ โดยหนี้ระยะสั้นจะระดมโดยการออกตั๋วแลกเงิน (B/E) ส่วนหนี้ระยะยาวจะใช้การออกหุ้นกู้ โดยคาดว่าบริษัทฯ จะออกหุ้นกู้ในช่วงปลายไตรมาสที่ 1/2548 จำนวน 5,000 ล้านบาท
ในส่วนของการลงทุนนั้น บริษัทฯ ได้เตรียมเงินสำหรับการซื้อที่ดินในปีนี้เป็นจำนวนเงินประมาณ 3,000 — 4,000 ล้านบาท และจะกันเงินอีกประมาณ 1,000 ล้านบาท ไว้สำหรับการลงทุนด้านอื่นๆ เช่น การลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ทั้งนี้ คาดว่าสัดส่วนหนี้สินต่อทุน ณ ปลายปี 2548 จะยังคงอยู่ในระดับร้อยละ 50 ถึง 60
รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ 0-2230-8649--จบ--

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ