เปิด “หอประวัติศาสตร์สุขภาพ” แหล่งเรียนรู้ร่องรอยระบบสุขภาพไทย อันทรงคุณค่า

พุธ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๐๑๓ ๑๕:๑๒
หอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์สุขภาพไทย ร่วมกับเครือข่ายองค์กรภาคี ประกอบด้วย กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ (สวสส.) สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) (สรพ.) และ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ร่วมงานเปิด “หอประวัติศาสตร์สุขภาพไทย”

นพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานคณะกรรมการบริหารหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์สุขภาพไทย กล่าวว่า หอประวัติศาสตร์สุขภาพแห่งนี้ นับเป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์สุขภาพครั้งแรกของเมืองไทย ซึ่งทีมงานที่เกี่ยวข้องได้ทำงานค้นคว้ากันอย่างเข้มข้นเพื่อทบทวนเรื่องราว รวบรวมข้าวของชิ้นสำคัญๆ และประมวลทุกอย่างที่คัดสรร ภายใต้แนวคิด “๑๐๐ บุคคล ร้อยความคิด ร้อยสิ่งประดิษฐ์ ร้อยเรื่องราว” จนพัฒนามาเป็นการนำเสนอและสะท้อนคุณค่าผ่านการจัดแสดงเป็นโซนต่างๆ ที่เชื่อมร้อยทั้งข้อมูล ความรู้ และแรงบันดาลใจ เพื่อส่งต่อให้ผู้ที่เข้าชมหอประวัติศาสตร์แห่งนี้ ได้เห็นถึงความทรงจำทางสังคมเกี่ยวกับสุขภาพและการแพทย์ผ่านห้วงเวลาต่างๆ สะท้อนให้เห็นการเรียนรู้และการใช้ภูมิปัญญาที่แตกต่างไปตามบริบททางวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมของแต่ละท้องถิ่น ซึ่งเรื่องราวที่นำมาจัดแสดงทั้งหมดเป็นเพียงส่วนหนึ่งของ “หอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์สุขภาพไทย” ยังมีเรื่องราวอีกมากมายที่รอการจัดแสดงในโอกาสต่อไป

“หวังว่าจุดเริ่มต้นจากการรวบรวมประวัติศาสตร์สุขภาพครั้งนี้จะนำไปสู่การขยายผลที่เป็นประโยชน์ต่อระบบสุขภาพและสังคมโดยรวม ซึ่งการทำงานในระยะต่อไปจะเน้นไปที่การเชื่อมต่อข้อมูลกับสถาบันการศึกษาด้านการแพทย์และการสาธารณสุขทุกสาขา เพื่อให้เห็นความสำคัญและการใช้ประโยชน์ต่อยอดการเรียนรู้ โดยแต่ละสถาบันอาจสนับสนุนให้มีการจัดหลักสูตรเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์สุขภาพ รวมทั้งการจัดกิจกรรมที่ส่งผลให้เกิดการเรียนรู้กับผู้คนและท้องถิ่นต่างๆ ตลอดจนหันมาตระหนักและลงมือรวบรวมหลักฐานทางประวัติศาสตร์ด้วยตนเองให้เพิ่มมากขึ้น” นพ.วิชัย กล่าว

ด้าน นพ.วิชัย เทียนถาวร ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประธานพิธีเปิดหอฯ ย้ำว่า การศึกษาเรียนรู้เรื่องสุขภาพในแง่มุมเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมได้ถูกละเลยมานาน รวมทั้งคนส่วนใหญ่และหน่วยงานต่างๆ ไม่ค่อยเห็นความสำคัญในการเก็บรักษาเอกสารและวัตถุต่างๆ ซึ่งเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุข ทำให้เกิดการหลงลืมเรื่องราวและเหตุการณ์สำคัญที่แสดงให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของแนวคิดและวิถีปฏิบัติจากยุคหนึ่งไปสู่อีกยุคหนึ่ง ดังนั้นการทำงานเพื่อรักษาความทรงจำและความรู้ประวัติศาสตร์สุขภาพไทย จึงเป็นเรื่องสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการศึกษาค้นคว้าเพื่อพัฒนาการแพทย์และการสาธารณสุขในปัจจุบันและอนาคต นอกจากนี้หลังจากการจัดตั้งแล้วหอประวัติศาสตร์แล้ว ความยั่งยืนของหอประวัติศาสตร์ก็เป็นเรื่องที่ต้องได้รับความร่วมมือและการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ในการสนับสนุนให้เกิดการค้นคว้าและรวบรวมอย่างต่อเนื่อง คู่ขนานไปกับการสร้างพื้นที่การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ให้เพิ่มมากขึ้นอย่างจริงจัง ทั้งในสถาบันการศึกษา และพื้นที่เรียนรู้สาธารณะอื่นๆ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่ต่อไป และในฐานะที่กระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานหลักในการร่วมจัดตั้งหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์สุขภาพไทย จึงมีความยินดีและพร้อมให้การสนับสนุนเพื่อผลักดันให้การศึกษาประวัติศาสตร์สุขภาพในสังคมไทยมีความก้าวหน้ายิ่งขึ้นไป

นอกจากนี้ นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์สุขภาพไทย ได้นำชมและให้ข้อมูลเกี่ยวกับหอประวัติศาสตร์ว่า หอประวัติศาสตร์สุขภาพแห่งนี้มีพื้นที่เกือบ 400 ตารางเมตร แม้จะไม่ได้ใหญ่โตมโหฬาร แต่อัดแน่นไปด้วยเนื้อหา บุคคล ข้าวของ ความคิด สิ่งประดิษฐ์ และเรื่องราวที่พร้อมเป็นพื้นที่หรือแหล่งเรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับการแพทย์การสาธารณสุขหรือสุขภาพของสังคมไทยในเชิงประสบการณ์ได้อย่างมีชีวิตและมีความต่อเนื่อง ภายในหอประวัติศาสตร์ได้มีการจัดแสดงวัตถุ จดหมายเหตุ ภาพ เอกสารและข้าวของที่มีความเป็นมาหลากหลาย พร้อมแหล่งอ้างอิงที่ชัดเจนและเชื่อถือได้ โดยนิทรรศการทั้งหมดได้แบ่งพื้นที่ออกเป็น 9 โซนหลักๆ แต่ก็เชื่อมโยงเดินทั่วถึงกัน ภายใต้บรรยากาศของการเดินชมตามอัธยาศัย อาทิเช่น โซนสุขภาวะทางจิตวิญญาณ ที่เปิดประเด็นคำถามเชิงปรัชญาที่ปรากฏในทุกภูมิปัญญาทุกศาสนาและวัฒนธรรม ว่าอะไรคือสิ่งที่เป็นแก่นแท้ของชีวิต และจะไปสู่หนทางแห่งความหลุดพ้นได้อย่างไร โซนการแพทย์ในสถานการณ์วิกฤต ในสถานการณ์คับขัน การแพทย์มีบทบาทสำคัญ ไม่เพียงแต่ความรู้ทางการแพทย์ในการรักษาผู้คนที่ได้รับบาดเจ็บเท่านั้น แต่ยังรวมถึงทักษะในการจัดการสถานการณ์ที่ไม่ปกตินั้นด้วย โซนความตายและวาระสุดท้ายของชีวิต เพราะไม่ว่าการแพทย์และระบบการดูแลสุขภาพจะพัฒนาไปแค่ไหน ก็ไม่สามารถเอาชนะความตายได้ การเตรียมตัวเพื่อเผชิญกับวาระสุดท้ายของชีวิตจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้การตายเป็น “สุขคติ” อย่างแท้จริง ฯลฯ นอกจากนั้น การออกแบบภายในได้จัดให้มีฉากหลังและฝ้าเพดานสีดำสนิท นอกจากเพื่อขับให้เรื่องราวที่นำมาจัดแสดงดูโดดเด่นขึ้น ยังสะท้อนอีกว่า ยังมีเรื่องราวอีกมากมายที่สูญหายไปตามกาลเวลา หรือยังไม่ได้นำมาจัดแสดง รอให้มีการค้นพบเพิ่มเติมอีกเรื่อยๆ ส่วนพื้นและฐานที่ติดตั้งเรื่องราว ส่วนใหญ่เป็นท่อนกระดาษกลมหรือแท่นกลม แสดงถึงการหมุนเวียนเปลี่ยนผ่านของเหตุการณ์ไปตามกาลเวลา ซึ่งหลังจากมีพิธีเปิดหอประวัติศาสตร์อย่างเป็นทางการแล้วในวันที่ 12 ก.พ.นี้ ท่านที่สนใจสามารถเข้าชมและร่วมเรียนรู้เรื่องราวต่างๆ ในหอประวัติศาสตร์สุขภาพได้ในวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 8.30-16.30 น. บริเวณชั้น 1 อาคารสุขภาพแห่งชาติ โดยไม่เสียค่าบริการ สำหรับผู้ที่สนใจและกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ เช่น บุคลากรทางด้านสาธารณสุข นักศึกษา ฯลฯ สามารถติดต่อขอเข้าชมเป็นหมู่คณะได้ตามวันและเวลาดังกล่าว ส่วนกิจกรรมอื่นๆ คาดว่าจะจัดกิจกรรมเชิงรุกกับสถาบันการศึกษาทุกๆ 2-3 เดือน

สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมหลังจากนี้ได้ที่ เว็บไซต์และเฟซบุ๊คของหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์สุขภาพไทย www.nham.or.th / www.facebook.com/nham.thailand

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๑๒ ฉลองเทศกาลตรุษจีนปีงูเล็ก ที่โรงแรมดุสิตธานี กระบี่ บีช รีสอร์ท
๑๗:๐๐ IMPACT เผยปี 68 ข่าวดี! โครงการ Sky Entrance รถไฟฟ้าสายสีชมพูมาตามนัด หนุนทราฟฟิคแน่น - จับมือพาร์ทเนอร์
๑๗:๕๒ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม สนับสนุนโครงการ กู้วิกฤตและอนุรักษ์พะยูน ครั้งที่ 2
๑๗:๕๘ แสนสิริ เจ้าตลาดคอนโดแคมปัส อวดโฉม ดีคอนโด วิวิด รังสิต คอนโดใหม่ตรงข้าม ม.กรุงเทพ
๑๖:๔๓ เอ็นไอเอ - สสส. ดึงนิวเจน สรรค์สร้างนวัตกรรมส่งเสริมสุขภาพ ในแคมเปญ The Health Promotion INNOVATION PLAYGROUND
๑๗:๕๘ กรมวิทย์ฯ บริการ เร่งพัฒนาระบบ e-Learning ยกระดับการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศ
๑๖:๕๘ เขตจตุจักรกวดขันคนไร้บ้านเชิงสะพานข้ามคลองบางซื่อ สร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน
๑๗:๑๗ เขตพระนครประสานกรมเจ้าท่า-เอกชน เร่งปรับปรุงภูมิทัศน์ท่าเรือสุพรรณเดิม
๑๗:๔๐ กทม. กำชับเจ้าของอาคารตรวจสอบโครงสร้างบันไดเลื่อน เพิ่มความปลอดภัยประชาชน
๑๖:๓๗ แลกเก่าเพื่อโลกใหม่ ช้อปคุ้ม พร้อมลดหย่อนภาษี! 'เปลี่ยนของเก่าเป็นความคุ้ม' ผ่าน Easy E-Receipt ได้ที่โฮมโปร เมกาโฮม