อย่างไรก็ดี ประเทศไทยไม่ได้ดำเนินการตามกระแสดังกล่าวซึ่งเกิดขึ้นในทั่วโลก และส่วนมากจะยังคงขึ้นเงินเดือนพนักงานให้สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ
รายงาน IBR ระบุว่าสัดส่วนของกลุ่มเศรษฐกิจ BRIC ที่คาดว่าจะเพิ่มเงินเดือนให้พนักงานในระดับที่สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อลดลงเหลือ 11% ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2012 ซึ่งลดลงจาก 21% เมื่อ 12 เดือนก่อนหน้า นอกจากนี้ ในละตินอเมริกา (จาก 32% เหลือ 20%) และเอเชียแปซิฟิก1 (จาก 20% เหลือ 12%) ก็ลดลงเช่นเดียวกัน ส่วนประเทศในกลุ่ม G7 (จาก 10% เพิ่มขึ้นเป็น 11%) และ EU (จาก 9% เพิ่มขึ้นเป็น 12%) คาดว่าจะมีการเพิ่มเงินเดือนในระดับที่สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อในช่วงเวลาเดียวกัน
เอ็ด นุสบอม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แกรนท์ ธอร์นตัน อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า "ข้อพิสูจน์ว่าความได้เปรียบทางการแข่งขันที่กลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่มีเหนือกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วกำลังเปลี่ยนไป คือการที่ประเทศต่างๆ นำภาคการผลิตกลับมายังประเทศของตน (Reshoring) ซึ่งเห็นได้เด่นชัดในสหรัฐอเมริกา เพราะการเพิ่มขึ้นของค่าแรงในอัตรา 10-20% ต่อปีในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาในหลายพื้นที่ เช่น ประเทศจีนและอินเดีย ในขณะที่ระดับเงินเดือนในสหรัฐฯ ยังค่อนข้างคงที่ ทำให้ต้นทุนในการว่าจ้างบุคลากรจากภายนอก (Outsourcing) เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว"
"ธุรกิจในกลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่เริ่มมีการปรับตัวเพราะอัตราค่าแรงได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากในระยะหลายปีที่ผ่านมา หากพิจารณาจากกำไรแล้วจะดูเหมือนว่าธุรกิจนั้นไม่ยั่งยืน ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีความไม่แน่นอนเป็นแรงถ่วงอัตราการเติบโตเนื่องจากการค้าทั่วโลกชะลอตัว ดังนั้น เพื่อที่จะรักษาระดับผลกำไร ธุรกิจในกลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่จึงจำเป็นต้องลดต้นทุนลง ซึ่งการจำกัดเพดานการขึ้นเงินเดือนจึงเป็นวิธีหนึ่ง"
การที่ประเทศจีนมีความได้เปรียบทางการแข่งขันลดน้อยลงในฐานะประเทศที่มีค่าแรงต่ำนั้นเกิดจากการที่ค่าเฉลี่ยรายรับต่อปีเพิ่มขึ้นเกือบ 20% ในทศวรรษที่ผ่านมา หากค่าเฉลี่ยยังคงเพิ่มขึ้นในอัตราเดิม ค่าแรงในสายงานการผลิตจะเพิ่มขึ้น 3 เท่าในปี 2017 2 จากปี 2011 อย่างไรก็ตาม รายงาน IBR นำเสนอว่าธุรกิจในประเทศจีนกำลังมองหาทางที่จะพลิกฟื้นสถานการณ์และรักษาความได้เปรียบทางการแข่งขัน - จึงมีธุรกิจเพียง 6% ที่คาดว่าจะเพิ่มเงินเดือนพนักงานให้สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อในปี 2013 ซึ่งลดลงจาก 15% ในระยะเวลาเดียวกันของ 12 เดือนก่อนหน้า นอกจากนี้ ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น สัดส่วนของธุรกิจในประเทศจีนที่คาดว่าจะมีผลกำไรเพิ่มขึ้นนั้นสูงขึ้นจาก 61% เป็น 90% ซึ่งสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์
ราคาสินค้าในกลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่คาดว่ามีทั้งสูงขึ้นและลดลง
ธุรกิจในละตินอเมริกาส่งสัญญาณว่าจะลดระดับราคาสินค้าและบริการลง โดยเมื่อไตรมาสที่ 4 ปี 2011 ธุรกิจจำนวน 48% คาดว่าราคาสินค้าและบริการจะเพิ่มขึ้นในอีก 12 เดือนข้างหน้า ซึ่งลดลงมาอยู่ที่ 44% เมื่อไตรมาสที่ 4 ปี 2012 อย่างไรก็ตาม กลุ่มเศรษฐกิจ BRIC ธุรกิจที่คาดว่าราคาสินค้าและบริการจะสูงขึ้นมีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 38% เป็น 40% และในเอเชียแปซิฟิกเพิ่มขึ้นจาก 31% เป็น 41% ในช่วงเวลาเดียวกัน
เอ็ด นุสบอม กล่าวเสริมว่า "การปรับลดราคาสินค้าและค่าจ้างจะช่วยกระตุ้นให้การส่งออกของกลุ่มเศรษฐกิจหนึ่งๆ มีความสามารถในการแข่งขันได้ อย่างไรก็ดี หากระดับเงินเดือนของพนักงานไม่อาจไล่ตามราคาสินค้าที่ตนจะต้องจับจ่ายใช้สอย การบริโภคภายในประเทศย่อมได้รับผลกระทบ ซึ่งเป็นสิ่งที่ท้าทายอย่างยิ่งสำหรับกลุ่มเศรษฐกิจ เช่น บราซิล หรือจีน ที่จะต้องใช้ความพยายามในการกระจายความเสี่ยงจากโมเดลการเติบโตที่พึ่งพาการส่งออกเป็นหลักมาสู่การขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนที่ได้รับแรงกระตุ้นจากการบริโภคของกลุ่มชนชั้นกลางภายในประเทศ"
ทอม โซเรนเซน พาร์ทเนอร์และหัวหน้าสายงานการจัดจ้างบุคลากรระดับผู้บริหาร ของแกรนท์ ธอร์นตัน ประเทศไทย กล่าวว่า "ธุรกิจในประเทศไทย 19% ระบุว่าจะเพิ่มเงินเดือนให้สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ และ 42% วางแผนจะขึ้นเงินเดือนให้เท่ากับอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งอาจเป็นสิ่งที่น่าคิดเมื่อพิจารณาว่าระดับเฟ้ออยู่ที่อัตราเท่าใด ทั้งนี้ ตัวเลขเงินเฟ้อ (Headline Inflation) จากธนาคารแห่งประเทศไทยอยู่ที่ 3.8% เมื่อปี 2011, 3.0% เมื่อปี 2012, และคาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ 2.8% ในปี 2013 และ 2.6% ในปี 2014 มีบริษัทไทยเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้นที่มีความคิดที่จะปรับเงินเดือนพนักงานในระดับที่เท่ากับหรือน้อยกว่าอัตราเงินเฟ้อเหล่านี้ เป็นที่ชัดเจนว่าบริษัทในประเทศไทยดูเหมือนว่าไม่ค่อยมีความวิตกกังวลกับความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลกดังเช่นที่เราเห็นได้ในประเทศจีนและประเทศกำลังพัฒนาประเทศอื่นๆ"