นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2556 รับทราบแผนปฏิบัติการของยุทธศาสตร์ประเทศ ของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯแล้ว ท่านนายกรัฐมนตรีให้เร่งดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติการและจัดส่งให้สำนักงานคณะกรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติต่อไป ซึ่งขณะนี้ตนได้ให้นโยบายแต่ละหน่วยงานให้ดำเนินการตามแผนดังกล่าวแล้ว
นายวรวัจน์กล่าวว่า แผนปฏิบัติการของกระทรวงวิทย์ฯนั้น แบ่งออกเป็น 46 แผน ครอบคลุมเนื้อหาสาระ 3 ข้อหลักคือ 1.ขับเคลื่อนค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนา 2.การใช้ประโยชน์จากกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ 3.การใช้ประโยชน์ อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการและความสามารถการแข่งขันของธุรกิจ/อุตสาหกรรม ส่งเสริมและพัฒนาเทคโนโลยี เกิดการขยายผลงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ และมีอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค โดยทั้ง 46 แผนงาน จะสนับสนุนงานของแต่ละกระทรวงและของจังหวัดได้ ซึ่งตนได้ให้นโยบายกับหัวหน้าหน่วยงานในฐานะมิสเตอร์แผนงาน เพื่อให้เดินตามแผนปฏิบัติการดังกล่าวให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
รมว.วิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า ในส่วนงานของศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ หรือ TCELS นั้น ในฐานะเป็นองค์กรหลักของประเทศที่มุ่งส่งเสริมการลงทุนและพัฒนาธุรกิจชีววิทยาศาสตร์ ซึ่งมีเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นผู้นำและเป็นศูนย์กลางการลงทุนด้านชีววิทยาศาสตร์ อันเป็นยุทธศาสตร์ที่จะส่งผลต่อการสร้างความเข้มแข็งในการแข่งขันทางเศรษฐกิจและเพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยการจัดตั้งเขตพื้นที่พัฒนานวัตกรรมบริการสุขภาพแนวใหม่ในประเทศไทย หรือ Medicopolis เวชนคร และพัฒนานวัตกรรมการผลิตเครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์การแพทย์จากงานวิจัยของประเทศไทย นวัตกรรมหุ่นยนต์ทางการแพทย์ เพื่อช่วยเหลือคนพิการและผู้สูงอายุที่เหมาะสมกับคนไทย นวัตกรรมการผลิตยา วัคซีน สารชีวภัณฑ์ทางการแพทย์ สมุนไพร และอาหารเสริมจากงานวิจัยของประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม รมว.วิทย์ฯ กล่าวว่า ตนได้พิจารณาอนุมัติงบประมาณในโครงการหลักของ TCELS เพื่อให้สามารถดำเนินการตามแผนปฏิบัติงานได้ทันทีคือ การพัฒนาการให้บริการเซลส์บำบัดและยีนบำบัด การพัฒนาหุ่นยนต์ทางการแพทย์ และเทคโนโลยีชีววิศวกรรมศาสตร์ การพัฒนาห้องแล็ปวัคซีนไข้เลือดออกให้ได้มาตรฐานรวมถึงเทคโนโลยีพลาสมาที่มาประยุกต์ใช้ได้ในทางการแพทย์
ด้านนายนเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการ TCELS กล่าวว่า นอกจากนี้ เพื่อดำเนินการตามแผนงานของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ในปี 2556 นี้ TCELS มีแผนที่จะร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก ซึ่งโครงการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น นอกจากจะเป็นโครงการที่ช่วยต่อยอดองค์ความรู้ สร้างมูลค่าเพิ่มและมูลค่าทางเศรษฐกิจแล้ว ยังรวมถึงการขยายเครือข่ายไปสู่ประชาคมอาเซียนด้วย อาทิ โครงการเภสัชพันธุศาสตร์ ที่มีการเชื่อมโยงเครือข่ายในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านการประชุมระดับนานาชาติ เพื่อรับฟังความคืบหน้าและแบ่งปันประสบการณ์ ในการพัฒนาชุดตรวจสอบและบริการเพื่อประชาชน อย่างเป็นระบบต่อไป
นอกจากนี้ TCELS ยังให้การสนับสนุน การพัฒนาหุ่นยนต์ทางการแพทย์ และเทคโนโลยีชีววิศวกรรมศาสตร์ เนื่องจากมีเป้าหมายผลิตและบริการคนไทยในราคาที่เหมาะสม เพื่อเป็นศูนย์กลางการรักษาพยาบาล การแพทย์ฉุกเฉิน และการดูแลฟื้นฟูผู้ป่วย ผู้สูงอายุ และผู้พิการ ในระดับแนวหน้าของอาเซียน โดยจะมีการเชื่อมโยงการทำงานระหว่างกระทรวงมากขึ้น เช่น กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กับกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงพาณิชย์ รวมถึงการจัดตั้งห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐานสากลเพื่อรองรับการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกแห่งแรกของอาเซียน ขณะเดียวกัน TCELS ยังได้ เชื่อมโยงเครือข่ายพันธมิตร ผ่านเวที “Life Sciences Business Forum” เพื่อให้เกิดการต่อยอดงานวิจัย ตลอดจนแก้ไขปัญหา ในเชิงนโยบาย ของหลายโครงการที่น่าสนใจคือ ยกระดับอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ไทย ความร่วมมือในการผลักดันไทยให้เป็นห้องสมุดจีโนมของสิ่งมีชีวิตในทะเล ฯลฯ และในช่วงกลางปีนี้ TCELS จะจัดงานมหกรรม ASEAN LIFE SCIENCES โดยเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องในแวดวงชีววิทยาศาสตร์ทั้งไทยและต่างประเทศ มาร่วมประชุมวิชาการ แสดงนิทรรศการ และหารือธุรกิจ เพื่อการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนอย่างเต็มตัว ผู้อำนวยการ TCELS กล่าว
ติดต่อ:
www.tcels.or.th, 02-6445499