“ร่างพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. .... (ร่างกฎหมาย PPP) ได้ผ่านการพิจารณาของฝ่ายนิติบัญญัติ (ทั้งสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา) ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนที่นายกรัฐมนตรีนำร่างพระราชบัญญัติขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป” ท่านประสงค์ พูนธเนศ กล่าว
ในเบื้องต้นคาดว่าร่างพระราชบัญญัติจะสามารถประกาศใช้เป็นกฎหมายได้ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ — มีนาคม ๒๕๕๖ นี้ซึ่งเมื่อมีการประกาศใช้แล้วจะมีผลยกเลิกพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. ๒๕๓๕ (พ.ร.บ. ร่วมทุนฯ) ร่าง พ.ร.บ. การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. .... จะเป็นร่างกฎหมายที่ตราขึ้นภายใต้หลักการของการผลักดันให้ภาครัฐกำหนดทิศทางในการพัฒนาประเทศได้อย่างเป็นระบบ โดยจัดให้มีคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (คณะกรรมการ PPP) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีหน้าที่ในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (แผน PPP) และกำหนดทิศทางในการพัฒนาประเทศภายในระยะเวลาทุกๆ ๕ ปีซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญของภาครัฐในการกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐเพื่อสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ สังคม ให้กับประเทศชาติและประชาชนอย่างยั่งยืน
“นอกจากนี้ ได้มีการปรับปรุงบทบัญญัติต่างๆ ที่เป็นประเด็นปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติตาม พ.ร.บ. ร่วมทุนฯ ให้มีความชัดเจนมากขึ้น ทั้งในส่วนของหลักเกณฑ์การคำนวณมูลค่าโครงการ บทบัญญัติในหมวดของการแก้ไขสัญญาและการทำสัญญาใหม่ ตลอดจนการจัดทำข้อกำหนดมาตรฐานสัญญาเพื่อสร้างมาตรฐานในการทำสัญญาที่คำนึงถึงการจัดสรรความเสี่ยงระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนที่เหมาะสมและรักษาประโยชน์ของภาครัฐเป็นสำคัญ” นายประสงค์ พูนธเนศ กล่าวสรุป
อนึ่ง นายประสงค์ พูนธเนศ ได้กล่าวเสริมว่า การประชุมในคราวนี้เป็นการประชุมเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับบุคลากรของ สคร. ในเบื้องต้น ก่อนที่จะได้ชี้แจงให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและนักลงทุนในโอกาสต่อไป