พ.อ. ดร. เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธาน กสทช. ในฐานะประธาน กทค. กล่าวว่าการบริหารจัดการคลื่นความถี่วิทยุคมนาคมระบบ เซลลูล่า Digital PCN (Personal Comunication Network) 1800 หรือที่เรียกกันว่า คลื่น 1800 MHz นั้น มีความแตกต่างจากการบริหารคลื่นความถี่ย่าน 2.1 MHz เนื่องจากคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz เป็นคลื่นความถี่ที่มีผู้ใช้บริการอยู่เป็นจำนวนมาก ดังนั้นหลักการสำคัญที่ กทค. และ กสทช. คำนึงถึงเป็นอันดับแรกคือจะต้องบริหารจัดการคลื่นดังกล่าว ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้บริการให้น้อยที่สุด ให้ประชาชนได้ใช้บริการอย่างต่อเนื่องไม่เกิดปัญหาการใช้บริการในขณะดำเนินการบริหารจัดการคลื่น ทำให้ประชาชนมีทางเลือกในการใช้บริการเพิ่มขึ้น นั่นคือ ประชาชนผู้ใช้บริการสามารถเลือกว่าจะใช้บริการในระบบ 2G เดิม หรือในระบบ 4G กทค. ไม่ได้บริหารจัดการโดยคำนึงว่าจะต้องไปใช้เทคโนโลยี 4G อย่างเดียว หัวใจสำคัญของการบริหารจัดการคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz อยู่ที่ผู้บริโภค
จากข้อมูลการใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศไทยพบว่า ผู้ใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ใช้งานผ่านระบบ 1800 MHz มีจำนวนทั้งสิ้น 41.7 ล้านราย แบ่งเป็นผู้ใช้บริการประเภท post-paid จำนวน 3.41 ล้านราย และผู้ใช้งานประเภท pre-paid จำนวน 38.29 ล้านราย และพบว่าเมื่อสิ้นสุดอายุสัญญาร่วมการงานพบว่า มีผู้ใช้บริการจำนวน 17.84 ล้านราย ใช้งานกับผู้ให้บริการที่กำลังจะสิ้นสุดอายุสัญญาร่วมการงานในปี พ.ศ. 2556 และมีผู้ใช้บริการจำนวน 23.86 ล้านราย ใช้งานกับผู้ให้บริการที่กำลังจะสิ้นสุดอายุสัญญาร่วมการงานในปี พ.ศ. 2556 ซึ่งจำนวนผู้ใช้บริการเหล่านี้นี่เองที่ กทค. คำนึงถึงมากที่สุดในการบริหารจัดการคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz
พ.อ. ดร. เศรษฐพงค์ กล่าวว่า การจัดประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ IMT ย่าน 2.1 GHz (การประมูลคลื่นความถี่ 3G) ที่ กทค. ได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม ในปีที่ผ่านมา ถือเป็นประสบการณ์ที่สำคัญของ กทค. กสทช.และของประเทศไทยในการจัดสรรคลื่นความถี่ด้วยการประมูล การการบริหารจัดการคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ในครั้งนี้ กทค. ก็จะนำผลจากการที่ กทค. ได้ทำการศึกษาถึงข้อดีข้อเสียของการประมูล รวมถึงการจัดทำความร่วมมือกับสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Telecommunication Union: ITU) ในการศึกษาการประเมินผลการจัดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz เพื่อวิเคราะห์ถึงประเด็นข้อโต้แย้งต่าง ๆ เกี่ยวกับการประมูลมาเป็นแนวทางในการบริหารจัดการด้วย
ประธาน กทค. กล่าวต่อว่า ขณะนี้ทาง ITU ส่งรายงานสรุปผลการศึกษาการประเมินการจัดประมูลคลื่นความถี่ (Thailand 3G Auction Review Report by ITU) ที่จัดทำขึ้นเพื่อนำเสนอแนวปฏิบัติการจัดประมูลคลื่นความถี่ของประเทศไทยภายหลังจากการที่ กสทช. ได้ดำเนินการจัดประมูลความถี่ย่าน 2.1 GHz ที่ผ่านมา มายัง กทค. แล้ว
สรุปแล้วจากการประเมินผลของ ITU วัตถุประสงค์ และผลที่ได้จากการประมูล 3G
ในประเทศไทย มีความสอดคล้องกับหลักปฏิบัติสากล และบรรลุวัตถุประสงค์ของการจัดการทรัพยากรคลื่นความถี่วิทยุ ของ กสทช. ดังนี้
- กระบวนการออกใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ มีประสิทธิภาพ และเป็นธรรม และมิได้มีการโต้แย้งทางกฎหมายจากผู้เข้าร่วมในการประมูล
- การออกใบอนุญาตมีการกำหนดมาตรการที่เป็นประโยชน์เพื่อส่งเสริมให้มีการแข่งขัน ผ่านการเข้าถึง ความจุโครงข่าย (Capacity) เพื่อรองรับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบไม่มีโครงข่าย (MVNO)
- ใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 2.1 GHz ได้มีการกำหนดเงื่อนไขที่รวมถึงการทำให้ผู้บริโภคได้รับประโยชน์ด้วยการกำหนดให้มีการลดอัตราค่าบริการลงอย่างน้อย 15% เมื่อเทียบกับการบริการ 2G และ
- ราคาที่ได้จากการประมูลคลื่นความถี่เมื่อเทียบกับราคาที่ได้จากการประมูลคลื่นความถี่ ย่าน 2.1 GHz ตามมาตรฐานระหว่างประเทศ พบว่าเป็นราคาที่เหมาะสม
ในรายงานยังได้ให้ข้อคิดเห็นว่า สิ่งที่จะต้องพิจารณาสำหรับการจัดการประมูลครั้งต่อไปในอนาคต คือ การเพิ่มให้สาธารณชนเข้ามามีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นในการดำเนินการประมูลมากขึ้น แม้ที่ผ่านมา กสทช. จะได้จัดให้มีการให้สาธารณชนเข้ามามีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น และมีการทำประชาพิจารณ์ตามหลักเกณฑ์ที่ได้กำหนดไว้ตามกฎหมาย อีกทั้งยังนำข้อมูลที่ได้รับมาพิจารณาร่วมกับการออกแบบการประมูลแล้ว แต่อาจต้องพิจารณาเพิ่มการจัดประชุมร่วมกับบริษัทหรือผู้ประกอบการที่มีศักยภาพในการเข้าร่วมประมูลให้มากขึ้นก่อนที่จะเริ่มออกแบบการประมูล และในระหว่างขั้นตอนในการยกร่างกติกาในการประมูล
ประธาน กทค. กล่าวว่า ที่ผ่านมา กทค. น้อมรับผลการตรวจสอบ และขอบคุณทุกหน่วยงานที่ตรวจสอบการดำเนินการของ กทค. ทั้งนี้ กทค. กสทช. มุ่งมั่นดำเนินการให้ประชาชนได้รับบริการที่มีคุณภาพ หลากหลาย และใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่อย่างเต็มที่ เพื่อให้การพัฒนาเครือข่ายโทรคมนาคมที่มีประสิทธิภาพ เป็นกลไกสำคัญในการเพิ่มศักยภาพในการติดต่อสื่อสาร
การเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ซึ่งจะช่วยผลักดันเศรษฐกิจให้เติบโต และเป็นพื้นฐานการยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศไทยให้ทัดเทียมนานาประเทศ พร้อมก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเชียน (AEC)
ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ :
กลุ่มงานสื่อสารองค์กร สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.)
โทรศัพท์ : 0-2271-0151 ต่อ 315 - 317 โทรสาร : 0-2290-5241