งานพบปะนักลงทุน (Roadshow) ณ เขตบริหารพิเศษฮ่องกง สาธารณรัฐประชาชนจีน

พฤหัส ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๐๑๓ ๐๙:๓๙
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายชัชชาติ สุทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นางสาวจุฬารัตน์ สุธีธร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง พร้อมด้วยนายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย ได้ร่วมจัดงานพบปะนักลงทุน (Roadshow) ในหัวข้อ “Thailand’s Strategies: A Roadmap for the Real Opportunities” เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2556 ณ โรงแรมไอแลนด์ แชงกรีล่า เขตบริหารพิเศษฮ่องกง สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อเสริมสร้างความมั่นใจด้านเศรษฐกิจแก่นักลงทุนต่างชาติกว่า 120 ราย โดยมีสาระสำคัญของงานพบปะนักลงทุนโดยสรุป ดังนี้

นายกิตติรัตน์ฯ กล่าวเปิดงานพบปะนักลงทุนว่า ภายใต้ภาวะของเศรษฐกิจโลกที่ผันผวนและผลกระทบจาก ภัยพิบัติทางธรรมชาติ เศรษฐกิจไทยสามารถขยายตัวได้อย่างมีเสถียรภาพ โดยในปี 2555 เศรษฐกิจไทย ได้ขยายตัวในอัตราที่สูงถึงร้อยละ 6.4 ต่อปี ทั้งนี้ นโยบายของรัฐบาลในปีแรก ที่มุ่งเน้นการเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย และขยายโอกาส ได้ส่งผลให้เศรษฐกิจภายในประเทศมีความเข้มแข็งและสามารถรองรับความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกและภัยพิบัติทางธรรมชาติได้

อย่างไรก็ดี เพื่อรองรับต่อความท้าทายเชิงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในอนาคต รัฐบาลจะดำเนินการตามยุทธศาสตร์ของประเทศ (Country Strategy) ใน 4 ด้าน ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ 1 การเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขัน (Growth and Competitiveness) ด้วยการเพิ่มรายได้จากฐานเดิมและสร้างรายได้จากโอกาสใหม่ ยุทธศาสตร์ที่ 2 การสร้างโอกาสความเสมอภาคและความเท่าเทียมกันในสังคม (Inclusive Growth) ด้วยการสร้างโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากร และการคุ้มครองสิทธิผลประโยชน์อย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม ยุทธศาสตร์ที่ 3 การสร้างความเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Growth) ด้วยการลดการใช้พลังงาน การฟื้นฟูป่าและต้นน้ำ และการพัฒนาพลังงานสะอาดและพลังงานทดแทน และ ยุทธศาสตร์ที่ 4 การปรับสมดุลและการพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ

นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ตระหนักถึงความจำเป็นในการปรับปรุงและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการเสริมสร้างขีดความสามารถและการกระจายความพัฒนาไปสู่พื้นที่ต่างๆ ของประเทศ และอยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ 2 ล้านล้านบาท ทั้งนี้ ระดับหนี้สาธารณะต่อจีดีพีในระหว่างปี 2556-2563 จะเพิ่มขึ้นสูงสุดไม่เกินร้อยละ 50 ซึ่งยังคงอยู่ภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลัง

นายชัชชาติฯ กล่าวถึงโอกาสของไทยภายใต้การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียนว่า การพัฒนาระบบโลจิสติกส์เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ไทยและอาเซียนได้รับประโยชน์จากการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจอย่างแท้จริง โดยในปัจจุบัน ประเทศไทยยังพึ่งพาการขนส่งทางถนนที่สูงกว่าร้อยละ 86 ของการขนส่งทั้งหมด ซึ่งทำให้ต้นทุนทางโลจิสติกส์ของประเทศอยู่ในระดับที่สูงถึงร้อยละ 15.2 ของจีดีพี การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ 2 ล้านล้านบาท ทั้งรถไฟรางคู่ (Double Track) รถไฟความเร็วสูง (High Speed Train) และการขนส่งมวลชน (Mass Transit) จะช่วยลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์และลดการนำเข้าพลังงานเพื่อการขนส่ง อันจะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้อย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ คาดว่า การดำเนินการตามยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศจะส่งผลให้ต้นทุนโลจิสติกส์ต่อจีดีพีของประเทศลดลงจากปัจจุบันไม่น้อยกว่าร้อยละ 2.0 และระดับจีดีพีที่แท้จริงจะขยายตัวเพิ่มขึ้นในช่วงการก่อสร้างจากกรณีฐานอีกร้อยละ 1.0 ต่อปี

นายอาคมฯ กล่าวถึงเศรษฐกิจไทยในปี 2555 ว่า การขยายตัวร้อยละ 6.4 จากปีก่อนแสดงให้เห็นถึงการฟื้นตัวจากสถานการณ์อุทกภัยในช่วงปลายปี 2554 โดยอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยได้รับการสนับสนุนจากการบริโภคภายในประเทศผ่านการดำเนินมาตรการของภาครัฐ เช่น การลดภาษีนิติบุคคล มาตรการรถยนต์คันแรก และการปรับเพิ่มแรงงานขั้นต่ำ เป็นต้น รวมทั้งการผลิตภาคเอกชนที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ซึ่งเห็นได้จากการขยายตัวของอัตราการใช้กำลังการผลิตที่กลับมาอยู่ในระดับก่อนสถานการณ์อุทกภัย ในขณะเดียวกัน เสถียรภาพภายในประเทศและต่างประเทศ ยังอยู่ในเกณฑ์ดี ทั้งจากอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ อัตราการว่างงานที่อยู่ในระดับต่ำ และเงินสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง โดยในปี 2556 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะสามารถขยายตัวได้ในอัตราร้อยละ 4.5-5.5 โดยอุปสงค์ภาคต่างประเทศคาดว่า จะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

นายอารีพงศ์ฯ กล่าวถึง เสถียรภาพความยั่งยืนเชิงเศรษฐกิจว่า เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันนับว่ามีเสถียรภาพมากกว่าในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 อย่างมาก ทั้งจาก 1) ความเข้มแข็งของเศรษฐกิจภายในประเทศและการกระจายตัวของแหล่งการส่งออกอันช่วยลดผลกระทบจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก 2) ความสมดุลระหว่างตลาดหุ้น ตลาดพันธบัตรและธนาคารพาณิชย์ ซึ่งช่วยลดการพึ่งพาการระดมทุนผ่านช่องทางธนาคารพาณิชย์เพียงอย่างเดียวดังเช่นในอดีต และ 3) ความเพียงพอของเงินทุนสํารองระหว่างประเทศต่อหนี้ต่างประเทศระยะสั้น นอกจากนี้ เสถียรภาพทางการคลังในปัจจุบันอยู่ในระดับดีในระยะต่อไป นโยบายการคลังเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการเสริมสร้างขีดความสามารถของประเทศ ทั้งในด้านการดำเนินนโยบายการคลังแบบขาดดุลเพื่อสนับสนุน

การขยายตัวทางเศรษฐกิจภายใต้ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ผันผวน การปรับอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลจากร้อยละ 30 เป็นร้อยละ 23 ในปี 2555 และร้อยละ 20 ในปี 2556 และการจัดหาแหล่งทุนให้เพียงพอสำหรับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ทั้งนี้ กระทรวงการคลังมีแผนที่จะเข้าสู่งบประมาณสมดุลในอีก 4-5 ปีข้างหน้า และจะรักษาระดับหนี้สาธารณะให้อยู่ภายใต้กรอบความยั่งยืน

นางสาวจุฬารัตน์ฯ ได้กล่าวว่าในช่วงที่ผ่านมา ตลาดตราสารหนี้ได้มีพัฒนาการที่สำคัญหลายประการ ทั้งในด้านความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ตราสารหนี้ ผ่านการออกพันธบัตรรัฐบาลในรูปแบบใหม่ อาทิ พันธบัตรรัฐบาลที่ผลตอบแทนอ้างอิงกับอัตราเงินเฟ้อ (Inflation Linked Bonds: ILB) และการจําหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ให้นักลงทุนรายย่อยผ่านตู้ ATM (Electronic Retail Bond) เป็นต้น และในด้านการเสริมสร้างสภาพคล่องของตลาดตราสารหนี้ไทย ผ่านการขยายช่วงอายุของพันธบัตรรัฐบาลอ้างอิง (Benchmark Bond) ออกไปถึง 50 ปี พัฒนาการของตลาดตราสารหนี้ไทยดังกล่าวได้ส่งผลให้ตราสารหนี้ไทยเป็นที่สนใจมากจากนักลงทุนต่างประเทศ นอกจากนี้ แม้ว่าสภาพคล่องภายในประเทศจะมีเพียงพอที่จะสนับสนุนความต้องการกู้เงินของภาครัฐ โดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน อย่างไรก็ตาม การออกพันธบัตรรัฐบาลในสกุลเงินต่างประเทศยังคงมีความสำคัญที่จะรักษาความตระหนัก (Presence) และความคุ้นเคยกับตราสารหนี้ไทย

นายไพบูลย์ฯ ได้เชิญชวนให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นของไทย โดยกล่าวว่า ในช่วงปีที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยได้ปรับสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีปัจจัยสำคัญจากความมั่งคั่งและกำลังซื้อของประชาชนที่เพิ่มขึ้นและการลงทุนภาคเอกชนที่เร่งตัว ส่งผลให้ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยปรับเพิ่มขึ้นตามลำดับ ทั้งนี้ นายไพบูลย์ฯ เห็นว่า แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทยจะปรับตัวสูงขึ้นมาก แต่ยังสามารถปรับขึ้นได้อีกจาก P/E Ratio ของไทยที่ 12 เท่า ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาคที่ 13-14 เท่า

การพบปะนักลงทุนในครั้งนี้ถือว่าประสบผลสำเร็จอย่างมาก สะท้อนจากความสนใจจำนวนมากของผู้จัดการกองทุนและนักลงทุนขนาดใหญ่จำนวนมากเข้าร่วมงาน และจากคำถามต่างๆ ทางด้านเศรษฐกิจที่นักลงทุนได้สอบถาม ซึ่งประเทศไทยได้ชี้แจงให้ข้อมูลอย่างครบถ้วนและชัดเจน

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version