นิทรรศการศิลปกรรมครอบครัว “วิเชียรเขตต์ปี 56” ในชุด “ประติมากรรมร่วมสมัยของบ้านศิลปกรรมวิเชียรเขตต์ 56” นี้ นำเสนอผลงานประติมากรรม จิตรกรรม และวาดเส้นสร้างสรรค์ ซึ่งมีผลงานโดยรวมกว่า 60 ชิ้น จะจัดแสดงในระหว่างวันที่ 2 — 17 มีนาคมศกนี้ ณ ซิตีแกลเลอรี่ โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ รายได้ส่วนหนึ่งจากการจัดงานมอบให้กับมูลนิธิคนตาบอดและศูนย์การเรียนรู้ทางศิลปะของบ้านศิลปกรรมวิเชียรเขตต์
ครอบครัววิเชียรเขตต์ประกอบไปด้วย อาจารย์ชำเรือง วิเชียรเขตต์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประติมากรรม) ปี 2539 มีแนวความคิดที่ได้รับความบันดาลใจจากสรรพสิ่งในธรรมชาติและปรากฏการณ์ต่างๆ ของธรรมชาติ พลังของจักรวาล รวมทั้งสิ่งสร้างสรรค์ต่างๆของมนุษยชาติ ทางรูป ทางเสียง รวมทั้งดยตรีและทางภาษา และจากมโนภาพบริสุทธิ์ของจิตภายในส่วนตัว รวมด้วยความคิดฝันและศิลปวัฒนธรรมประจำชาติที่บริสุทธิ์ ล่าสุด อ.ชำเรือง เปิดบ้านตนเอง เป็น “บ้านศิลปินแห่งชาติ” เพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้ศิลปะและการออกแบบระดับชาติ ให้ความรู้และเสริมสร้างจริยธรรมแก่ผู้คนในชุมชน นอกจากนี้ยังมีโครงการปฏิบัติธรรมให้แก่ประชาชนทั่วไปในชุมชนละแวกนั้นอีกด้วย
อาจารย์เสาวภา วิเชียรเขตต์ ประติมากรหญิงอาวุโสที่เลื่องชื่อ ที่ได้รับรางวัล “บุคคลดีเด่นทางวัฒนธรรมสาขาศิลปะ (ทัศนศิลป์) ประติมากรรม จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี” ส่วนแนวความคิดของ อ.เสาวภา นั้น เกิดจากลีลาท่าทางต่างๆ ในชีวิตประจำวันที่อยู่รอบตัวเรา นำมาผสมผสานกับศิลปกรรมไทยในอดีต จากนั้นจึงนำมาสร้างสรรค์ให้มีลักษณะของความเป็นไทยร่วมสมัย ที่เรียบง่ายและสวยงาม
อาจารย์ญาณพล วิเชียรเขตต์ ประติมากรผู้สร้างผลงานแนวแปลกใหม่ นำเสนอประติมากรรมจากจินตนาการแนวใหม่ โดยได้แนวความคิดจากแรงผลักดันในการสร้างผลงานทุกๆ ครั้งของเขา จากผลสะท้อนของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อ.ญาณพลกล่าวด้วยใบหน้าที่แฝงไปด้วยพลังปนกับรอยยิ้มของเขาว่า “สิ่งเหล่านี้มีส่วนช่วยกระตุ้นเตือนความรู้สึกต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในใจของผม ให้ถ่ายทอดเป็น”รสนิยมแห่งรูปทรง” ที่สามารถแสดงอารมณ์ความรู้สึกได้อย่างลงตัว ในรูปแบบที่แตกต่างกัน...สิ่งเหล่านี้เป็นผลผลิตจากใจอย่างแท้จริงของผม และแล้ววันหนึ่งแห่งการรอคอยของผมก็มาถึง สิ่งนั้นก็คือการค้นพบแนวความคิดของการพัฒนารูปทรงของ ”ประติมากรรมแห่งอนาคต” ในสไตล์ที่สมบูรณ์แบบและแปลกใหม่อย่างแท้จริง..” อ.ญาณพลกล่าวทิ้งท้ายกับเราว่า เค้าขอให้ชื่อประติมากรรมเหล่านี้ของเขาว่า Yanpol Sculpture
อาจารย์นิธิ วิเชียรเขตต์ จิตรกรรมภาพเขียนสีอะคริลิก ได้นำเทคนิคการใช้สีที่หลากหลาย ที่ไม่ซ้ำใครนำเสนอผ่านทางภาพวาดที่งดงาม มีแนวความคิดจากธรรมชาติ อ.นิธิกล่าวว่า “ธรรมชาติเป็นส่วนหนึ่งเท่านั้นในการทำงานของผม โดยองค์รวมแล้วครอบครัวนับเป็นส่วนสำคัญที่ผลักดันให้ผมได้สร้างสรรค์งานชุดนี้ขึ้นมา......แต่อย่าเรียกว่างานศิลปะเลยเพราะมันเป็นการถ่ายทอดถึงอารมณ์ของผมผ่านพู่กันลงสู่กระดาษ และเป็นอารมณ์ที่สนุกสนานมากที่ได้ทำงาน ได้ใช้เส้นใช้สีที่สดใส แสดงถึงท่าทางของสิ่งที่เรียกว่า “คน” หรือ “มนุษย์” ตามแต่อารมณ์จะสั่งการ ซึ่งรวมแล้วผมขอเรียกมันว่า “อารมณ์ที่ไม่หยุดนิ่งของการทำงาน” แทนงานศิลปะ
คุณนที วิเชียรเขตต์ ได้แนวความคิดที่เป็นแรงบันดาลใจจากสิ่งต่างๆ ในธรรมชาติและโลกส่วนตัว ที่เป็นอิสระนั้นได้เกิดเป็นรูปทรงที่ดูเรียบง่าย และสีสันที่ดูสดใส คุณนที กล่าวเพิ่มเติมว่า “มันเป็นการสะท้อนอารมณ์อีกมุมหนึ่งของตัวผมเอง”
งานนิทรรศการการกุศลในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก ฯพณฯ นายสนธยา คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม และ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ คุณหญิงไขศรี ศรีอรุณ นายกสภามหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นประธานร่วมเปิดงาน ในวันจันทร์ที่ 4 มีนาคม 2556 เวลา 18.30 น. ณ ซิตีแกลเลอรี่ โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ และนิทรรศการดังกล่าว จะจัดขึ้นตั้งแต่วันเสาร์ที่ 2 มีนาคม ไปจนถึงวันอาทิตย์ที่ 17 มีนาคมศกนี้ เวลา 10.00 น.- 20.00 น. เชิญเข้าชมฟรี!!
เกี่ยวกับ โรงแรม เดอะ สุโกศล (เดิมคือ โรงแรมสยามซิตี)
โรงแรม เดอะ สุโกศล (The Sukosol) หรูหราระดับโลก ตั้งอยู่ใจกลางกรุงฯ ติดกับแอร์พอร์ทเรลลิ้งค์ (ARL) และรถไฟฟ้า BTS พญาไท ที่นี่ได้รวบรวมเอาความเป็นมาตรฐานสากลโลกกับความอบอุ่นในแบบฉบับเอเชียเข้าไว้ด้วยกัน พร้อมสรรพด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย อาทิ บริการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตไร้สาย (Wi-Fi) บริการสปาทรีทเม้นต์ ห้องฟิตเนส รวมไปถึงห้องพักและห้องอาหารชั้นเยี่ยมต่าง ๆ ของทางโรงแรมฯ ที่ได้รับการปรับปรุงรูปโฉมใหม่ พร้อมบริการอันแสนอบอุ่นแบบไทยๆ ที่ผสมผสานความเป็นตะวันตกกับตะวันออกได้อย่างลงตัว … เดอะ สุโกศล นำเสนอความเป็นตัวตนและเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของคุณกมลา และครอบครัว (คุณมาริสา คุณดารณี คุณสุกี้ คุณน้อย-กฤษดา) เพราะทุกองค์ประกอบการตกแต่ง เฟอร์นิเจอร์ทุกส่วนของโรงแรม ล้วนเกิดจากการรวบรวมจิตวิญญาณ ความรักในธุรกิจบริการ ซึ่งสะท้อนถึงรสนิยมและความชื่นชมในศิลปะของครอบครัวศิลปิน “สุโกศล” อย่างแท้จริง