"ข้าว" เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย หลายภาคส่วนจึงมีเป้าหมายที่จะนำองค์ความรู้ ความชำนาญมาช่วยเหลือเกษตรกรผู้ทำนา อาทิ ปัญหาการใช้ปุ๋ยไนโตรเจนในนาข้าวอย่างมีประสิทธิภาพ คุ้มค่ากับราคา และ ไม่ทำให้สิ่งแวดล้อมเสีย ปัจจุบันการใช้ปุ๋ยเคมีของชาวนา ยังคงเป็นสิ่งจำเป็นและเป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น ซึ่งในปัจจุบันมีการใช้ปุ๋ยในนาข้าวกันอย่างกว้างขวาง แต่ปริมาณการใช้ต่อพื้นที่ยังไม่เหมาะสม ส่วนใหญ่ไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ทำให้ผลการใช้ปุ๋ยยังไม่สามารถเพิ่มผลผลิตในข้าวได้มากนักหรือทำให้ต้นทุนในการผลิตสูงเกินไป ปุ๋ยเคมีที่เกษตรนิยมใช้คือ ปุ๋ยยูเรีย ซึ่งป็นปุ๋ยที่ให้ธาตุไนโตรเจนสูงเหมาะสำหรับช่วงการใส่ปุ๋ยให้กับพืชที่มีสภาวะน้ำน้อย สามารถสลายตัวในน้ำได้เร็ว พืชสามารถดูดซับธาตุอาหารไปใช้ได้ง่าย ช่วยบำรุงส่วนใบ ก้านใบของพืช ช่วยให้พืชใบเขียวเร็ว แต่ข้อควรระวังคือ การให้ปุ๋ยยูเรียในปริมาณมากหรือใช้ปุ๋ยยูเรียร่วมกับปุ๋ยสูตรอื่นที่มีเปอร์เซ็นต์ไนโตรเจนสูงอยู่แล้ว จะทำให้พืชน็อคปุ๋ยได้ แต่ชาวนาจะรู้ได้อย่างไรว่าข้าวในระยะต่างๆ ต้องการธาตุไนโตรเจนเท่าไหร่กัน หน่วยงานหลักที่สำคัญ คือ กรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้นำแผ่นเทียบสี (Leaf Color Chart เรียกย่อๆ ว่า LCC) ซึ่งพัฒนาโดยสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติที่ฟิลิปปินส์มาช่วยแก้ไขและลดปัญหาการใช้ปุ๋ยที่ไม่มีประสิทธิภาพ โดยการใช้แผ่นเทียบสีกับใบของต้นข้าวว่าต้องการธาตุไนโตรเจนเท่าใดจึงจะเหมาะสม
เพื่อให้ชาวนำเทคนิคดังกล่าวมาใช้งานได้สะดวกยิ่งขึ้น กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้ดำเนินการต่อยอดจากแนวคิด "แผ่นเทียบสี" มาจัดทำเป็นแอพพลิเคชันที่มีชื่อว่า ใบข้าว เป็นการพัฒนามาจากเครื่องตรวจวัดสีสารละลายและได้รับโจทย์เกี่ยวกับการดูสีของใบข้าวที่เดิมนักวิชาการเกษตรหรือเกษตรกรจะใช้การเทียบสีด้วยสายตามนุษย์ จึงพัฒนามาเป็นเครื่องตรวจวัดสีของใบข้าว ที่สามารถประเมินการขาดธาตุไนโตรเจนของต้นข้าวในนาได้ว่าขาดมากน้อยแค่ไหน พร้อมกับแสดงปริมาณปุ๋ยไนโตรเจนที่เหมาะสมที่ชาวนาควรใส่ให้กับต้นข้าวในนาในแต่ละช่วงของการเจริญเติบโตเพื่อเป็นการลดต้นทุนในการเพาะปลูก สำหรับปริมาณธาตุอาหารไนโตรเจน ได้มีการสอบเทียบและอ้างอิงปริมาณการใส่ปุ๋ยยูเรียด้วยวิธีการวัดแบบกำหนดเวลาจากแผ่นเทียบสีใบข้าวมาตรฐานที่มีแถบสี ๔ ระดับ และ ๖ ระดับของกรมการข้าว จากการทดสอบในภาคสนามพบว่าอุปกรณ์สามารถตรวจวัดสีของใบข้าวแล้วประมาณออกมาเป็นปริมาณการใส่ปุ๋ยยูเรียได้ถูกต้องตามความต้องการของต้นข้าวในนาในแต่ละช่วงของการเจริญเติบโต ?โดยทีมวิจัยพัฒนาได้ต่อยอดมาเป็นแอพพลิเคชันบนมือถือสมาร์ทโฟนที่ทำงานบนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์และมีทั้งภาษาไทยและอังกฤษ?
วิธีการใช้งานก็ไม่ยุ่งยาก เพียงเกษตรกรนำใบข้าวในนามาวางบนกระดาษสีขาวแล้วใช้แอพพลิเคชันใบข้าวถ่ายภาพ หลังจากนั้นโปรแกรมจะตรวจสอบระดับสีและคำนวนเปรียบเทียบกับแผ่นเทียบสีใบข้าวตามมาตรฐานของกรมการข้าว พร้อมบอกปริมาณปุ๋ยที่ชาวนาจำเป็นต้องใช้ เท่านี้ชาวนาก็สามารถลดต้นทุนการผลิตและยังสามารถใส่ปุ๋ยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
หมายเหตุ : Download ได้ที่ https://play.google.com/store ค้นหาคำว่า BaiKhaoNK
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
นายยุทธนา อินทรวันณี
e-mail : [email protected]
โทร ๐๒ ๕๖๔๖๙๐๐ ต่อ ๒๑๐๕
ห้องปฏิบัติการวิจัยเทคโนโลยีโฟโทนิกส์
ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ เนคเทค