วิทยาลัยดุสิตธานี ตอกย้ำ 20 ปีของการเป็นผู้นำในสถาบันการศึกษาทางด้านอุตสาหกรรมบริการ โดยได้รับ “การรับรองมาตรฐานการศึกษา รอบสาม ((พ.ศ. ๒๕๕๔ — ๒๕๕๘)” จากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ ในระดับสถาบัน คณะอุตสาหกรรมบริการและบัณฑิตวิทยาลัย เป็นการยกระดับมาตรฐานการศึกษาของสถาบันให้สูงยิ่งขึ้น โดยการรับรองมาตรฐานการศึกษาจะมีผลอยู่จนถึงรอบการประเมิน เพื่อรับรองมาตรฐานคราวต่อไป ซึ่งจะต้องดำเนินการภายในระยะเวลา ๕ ปี นับแต่การรับรองมาตรฐานในรอบการประเมินนี้ ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายกำหนด
สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ (www.onesqa.or.th) เป็นองค์การทางวิชาการและแหล่งอ้างอิงระดับชาติและนานาชาติ ที่เชี่ยวชาญด้านการประเมินคุณภาพการศึกษา เพื่อพัฒนาระบบการจัดการศึกษาของไทยให้มีคุณภาพ และให้ผู้เรียนได้รับการศึกษาในสถานศึกษาที่มีการบริหาร และการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ เพื่อให้ผู้เรียนเป็นคนดี มีความสามารถ และมีความสุข สนุกกับการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยมีพันธกิจในการจัดตั้งขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ในการพัฒนาเกณฑ์และวิธีการประเมินคุณภาพภายนอก และทำการประเมินผลการจัดการศึกษาเพื่อให้มีการตรวจสอบคุณภาพของสถานศึกษา โดยคำนึงถึงความมุ่งหมาย หลักการ และแนวทางการจัดการศึกษาในแต่ละระดับตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ โดยให้มีการประเมินคุณภาพภายนอกของสถานศึกษาทุกแห่งอย่างน้อยหนึ่งครั้งในทุกห้าปี นับตั้งแต่การประเมินครั้งสุดท้าย และเสนอผลการประเมินต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสาธารณชน นอกจากนี้ ได้กำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่าจะต้องจัดให้มีการประเมินคุณภาพภายนอกของสถานศึกษาทุกแห่ง ภายในหกปีนับตั้งแต่วันที่ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ใช้บังคับ
สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) ได้กำหนดแผนกลยุทธ์ที่สอดคล้องกับการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งเชื่อมโยงกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ซึ่งระบุภารกิจเอาไว้อย่างชัดเจน จากภารกิจโดยทั่วไปตามที่กฎหมายกำหนดกลยุทธ์ออกเป็น 4 กลยุทธ์ ดังต่อไปนี้ 1. ส่งเสริมองค์ความรู้ สู่ความเชี่ยวชาญ 2. พัฒนางานประเมินการศึกษา 3. นำผลสู่การใช้และพัฒนา 4. นวัตกรรมนำพาสู่สากล
อำนาจหน้าที่โดยหลักตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) พ.ศ.2543 ในมาตรา 8 กำหนดให้สำนักงานฯ มีอำนาจหน้าที่หลัก ดังนี้
1. พัฒนาระบบการประเมินคุณภาพภายนอก กำหนดกรอบแนวทางและวิธีการประเมินคุณภาพภายนอกที่มีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับระบบการประกันคุณภาพของสถานศึกษาและหน่วยงานต้นสังกัด
2. พัฒนามาตรฐานและเกณฑ์สำหรับการประเมินคุณภาพภายนอก
3. ให้การรับรองผู้ประเมินภายนอก
4. กำกับดูแลและกำหนดมาตรฐานการประเมินคุณภาพภายนอกที่ดำเนินการโดยผู้ประเมินภายนอก รวมทั้งให้การรับรองมาตรฐาน ทั้งนี้ ในกรณีจำเป็นหรือเพื่อประโยชน์ในการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาระบบการประเมินคุณภาพภายนอก สำนักงานอาจดำเนินการประเมินคุณภาพภายนอกเองก็ได้
5. พัฒนาและฝึกอบรมผู้ประเมินภายนอก จัดทำหลักสูตรการฝึกอบรม และสนับสนุนให้องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพหรือวิชาการ เข้ามามีส่วนร่วมในการฝึกอบรมผู้ประเมินภายนอกอย่างมีประสิทธิภาพ
6. เสนอรายงานการประเมินคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาประจำปีต่อคณะรัฐมนตรี รัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม และสำนักงบประมาณ เพื่อประกอบการพิจารณาในการกำหนดนโยบายทางการศึกษา และการจัดสรรงบประมาณเพื่อการศึกษา รวมทั้งเผยแพร่รายงานดังกล่าวต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสาธารณชน