โดยนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานเปิดงานสัมมนาดังกล่าว โดยได้กล่าวเน้นถึงเหตุผลและความจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องเร่งรัดการลงทุนดังกล่าวให้เกิดขึ้นโดยเร็ว ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในอนาคต ภายใต้การเชื่อมโยงเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้านภายใต้กรอบ AECในขณะที่ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้ชี้แจงถึงแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศ ภายใต้ 3 ยุทธศาสตร์หลัก ประกอบด้วย
1) ยุทธศาสตร์ปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้าทางถนนสู่การขนส่งทางราง และทางน้ำ ที่มีต้นทุนต่ำกว่า(Modal Shift & Multimodal)ซึ่งจะเน้นการพัฒนาและปรับปรุงระบบรถไฟเดิม (MetreGauge)โดยการก่อสร้างระบบรถไฟรางคู่ทั่วประเทศ การพัฒนาท่าเรือและเขื่อนป้องกันตลิ่งพังเพื่อสนับสนุนการขนส่งทางน้ำรวมทั้งการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ
2) ยุทธศาสตร์พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกในการเดินทางและขนส่งไปสู่ศูนย์กลางของภูมิภาคทั่วประเทศ และเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน (Connectivity) โดยการพัฒนาโครงข่ายระบบรถไฟฟ้าความเร็วสูง 4 เส้นทาง เพื่อเชื่อมโยงระบบการขนส่งผู้โดยสาร สินค้า และบริการจากกรุงเทพมหานครไปยังเมืองศูนย์กลางของภูมิภาค รวมทั้งการเชื่อมโยงเมืองศูนย์กลางของภูมิภาคกับพื้นที่ทางเศรษฐกิจภายในประเทศที่เชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านผ่านระบบขนส่งทางถนนและระบบราง
3) ยุทธศาสตร์พัฒนาและปรับปรุงระบบขนส่งเพื่อยกระดับความคล่องตัว (Mobility) โดยเน้นการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนเป็นระบบการขนส่งผู้โดยสารหลัก รวมทั้งการพัฒนาระบบขนส่งเชื่อมโยงพื้นที่เศรษฐกิจหลักภายในประเทศ
นอกจากนี้ได้มีการอภิปรายเรื่อง “ยุทธศาสตร์การลงทุนเพื่ออนาคตประเทศ” โดยมีผู้ร่วมการอภิปราย 4 ท่านประกอบด้วยนายสมชัย สัจจพงษ์ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังนางสาวจุฬารัตน์ สุธีธรผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ นายประสงค์ พูนธเนศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ และนายคณิศ แสงสุพรรณ ผู้อำนวยการสถาบันเศรษฐกิจและการคลัง มูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง
โดยผู้อภิปรายมีความเห็นร่วมกันว่า การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งของประเทศดังกล่าวจะช่วยลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ของประเทศ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวจะช่วยสนับสนุนการเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมกับประเทศในภูมิภาคเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
สำหรับประเด็นเรื่องสถานะทางเศรษฐกิจของไทยและความพร้อมในการลงทุนนั้น ที่ประชุมเห็นว่า หลังจากที่ประเทศไทยประสบกับปัญหาวิกฤตทางเศรษฐกิจและการเงินในปี 2540 เศรษฐกิจของไทยได้มีการปรับตัวและสามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องและมีเสถียรภาพ แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินในประเทศสหรัฐอเมริกาในปี 2552 และเหตุการณ์มหาอุทกภัยในปี 2554แต่ก็สามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วและกลับมาเติบโตได้อย่างมีเสถียรภาพ ดังนั้น สถานะเศรษฐกิจของไทยในปัจจุบันจึงมีความพร้อมที่จะรองรับการลงทุนดังกล่าวได้ โดยการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทั้งในส่วนของระบบคมนาคมขนส่ง และระบบการบริหารจัดการน้ำ นอกจากจะช่วยปรับสมดุลเศรษฐกิจด้วยการกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศเพื่อลดความเสี่ยงของผลกระทบจากปัจจัยภายนอกแล้วยังจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาวด้วย
สำหรับในประเด็นเรื่องวินัยทางการคลังและระดับหนี้สาธารณะนั้น คาดว่าการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศ ในช่วงปี 2556-2563 จะทำให้ระดับหนี้สาธารณะต่อ GDP จะเพิ่มสูงขึ้น แต่จะไม่เกินร้อยละ 50 ของ GDP ซึ่งยังเป็นระดับที่สามารถบริหารจัดการได้ และอยู่ภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลังที่กระทรวงการคลังกำหนด สำหรับแนวทางในการระดมเงินลงทุนนั้น กระทรวงการคลังจะเน้นการระดมเงินลงทุน โดยการกู้เงินภายในประเทศ ซึ่งมีสภาพคล่องเพียงพอที่จะรองรับการลงทุนดังกล่าวได้ นอกจากนี้ จะมีการลงทุนส่วนหนึ่งที่รัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นหน่วยงานเจ้าของโครงการสามารถระดมเงินลงทุนและเป็นผู้รับภาระการลงทุนเองได้ เช่น โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิระยะที่ 2 และการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังในระยะที่ 2 และระยะที่ 3 รวมถึงโครงการที่มีศักยภาพในการลงทุนและสามารถเปิดให้ภาคเอกชนเข้าร่วมลงทุนได้ เช่น การลงทุนเพื่อจัดหาระบบรถไฟขนส่งสินค้า ระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน รวมถึงระบบรถไฟฟ้าความเร็วสูง โดยกระทรวงการคลังได้ดำเนินการจัดทำ ร่าง พ.ร.บ. การให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในกิจการของรัฐพ.ศ. .... เพื่อปรับปรุงขั้นตอนและวิธีการที่เกี่ยวข้องกับการร่วมลงทุนกับภาคเอกชนให้มีประสิทธิภาพ และความคล่องตัวยิ่งขึ้น
อนึ่ง กระทรวงคมนาคมและกระทรวงการคลังได้ร่วมกันจัดนิทรรศการเพื่อเผยแพร่ข้อมูลของโครงการลงทุนในด้านต่างๆ ภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศนอกจากนี้ยังได้จัดสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณชนและผู้ที่เกี่ยวข้อง ในหัวข้อ “การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้าน... ประเทศชาติและประชาชน 4 ภาค ได้อะไร ? ” ในระหว่างวันที่ 9-12 มีนาคม 2556ณ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550