นายแพทย์สมชัย นิจพานิช อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เปิดเผยว่า องค์การอนามัยโลกกำหนดให้วันพฤหัสบดีที่สอง เดือนมีนาคม ของทุกปีเป็น วันไตโลก ( World Kidney Day) และในปีนี้ตรงกับวันที่ 7 มีนาคม 2556 ซึ่งทั่วโลกให้ความสำคัญ ในประเทศไทยมีผู้ป่วยด้วยโรคไตประมาณ 8 ล้านคนและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากปัญหาโรคไตที่กล่าวมานั้น จะเห็นว่าในความเป็นจริงโรคไตเป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรมของคนทั้งสิ้น พฤติกรรมดังกล่าวประกอบด้วย 1.การบริโภคอาหารที่มีเกลือโซเดียมมากเกินไป เมื่อไตทำงานหนัก มักขับโซเดียมออกจากร่างกายได้น้อยลง คนเป็นโรคไตจึงมีอาการบวมบริเวณหนังตาตอนเช้า ขา 2ข้าง หรือถ้ามีอาการมากจะบวมทั้งตัว
นายแพทย์สมชัย กล่าวต่อว่า จากการสำรวจการบริโภคเกลือของคนไทยโดยกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พบว่า คนไทยบริโภคเกลือและโซเดียมสูงถึง 10.8 กรัม ซึ่งร่างกายควรได้รับไม่เกิน 5 กรัมต่อวันหรือประมาณ 1 ช้อนชาต่อวัน 2.การรับประทานอาหารปนเปื้อนทุกชนิด เช่น สีผสมอาหาร กลิ่นสังเคราะห์ สารกันบูด กันเชื้อรา ผงชูรส สารเคมีที่กล่าวมาเป็นภาระของไตที่ต้องขับของเสียออกนอกร่างกาย ทำให้ไตทำงานหนักขึ้น จึงควรรับประทานอาหารที่ปรุงเองและปรุงเสร็จใหม่ๆ เพื่อป้องกันความเสี่ยง ที่สำคัญอย่ามองข้ามการออกกำลังกาย เพราะเป็นการป้องกันการเกิดโรคโดยไม่ต้องลงทุนสูง การออกกำลังกายสม่ำเสมออย่างน้อย 3 วันต่อสัปดาห์ วันละ 30 นาที หรือฝึกการออกกำลังกายด้วยท่าฤาษีดัดตน ยืดเหยียดร่างกาย เพื่อปรับสมดุลร่างกายให้ระบบไหลเวียนเลือดได้ดียิ่งขึ้น พักผ่อนให้เพียงพอ เด็กเล็กจนกระทั่งถึงวัยรุ่นควรนอนหลับวันละ 8-10 ชั่วโมง วัยผู้ใหญ่ ควรนอนหลับวันละ 6-8 ชั่วโมง วัยสูงอายุควรนอนหลับวันละ 4-6 ชั่วโมง
นายแพทย์สมชัย กล่าวในตอนท้ายว่า จุดเริ่มต้นโรคไตส่วนใหญ่เกิดจากโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง จึงอยากแนะนำสมุนไพรใช้ป้องกันโรคเบาหวาน และความดันโลหิต เพื่อตัดวงจรการป่วยด้วยโรคไต เช่น ถั่วเหลืองอาจทำเป็นน้ำนมถั่วเหลือง หรือเต้าหู้ นำมาประกอบอาหาร เน้นรสจืด เช่นต้มจืดเต้าหู้ ชาหญ้าหนวดแมว ชากระเจี๊ยบแดง ชาตะไคร้ ใบเตยนำมาต้มไม่ต้องเติมน้ำตาล ดื่มแทนน้ำ หลีกเลี่ยง น้ำหวาน น้ำอัดลม ผลไม้รสหวานจัด เช่นทุเรียน องุ่น ขนมหวานจัด เช่น ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง สังขยา รับประทานยาเบาหวาน ยาลดความดันโลหิตสูง สม่ำเสมอตามคำสั่งรักษาของแพทย์