ได้นำแนวคิดหลักการปฎิบัติการจิตวิทยามาประยุกต์ใช้แก้ปัญหาการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นอีกหนึ่งหนทางที่จะแก้ปัญหานี้อย่างยั่งยืน โดยมุ่งเน้นให้ประชาชนในชุมชนได้มีส่วนร่วมและเป็นกลไกสำคัญที่จะแก้ปัญหาไปพร้อมๆ กันอย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้ชื่อ “โครงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม”
การจุดพลังชุมชนเพื่อสิ่งแวดล้อมครั้งนี้ ได้เริ่มตั้งแต่การลงพื้นที่ เพื่อศึกษาสภาพปัญหา และความต้องการของชุมชน ทั้งศึกษาจากข้อมูลเอกสาร มีงานวิจัย พูดคุย ซักถาม ตลอดจนการสนทนากลุ่ม ผลจากการศึกษา ทำให้สามารถวิเคราะห์เป้าหมาย และจัดทำแผนการรณรงค์ปฎิบัติการจิตวิทยา เพื่อสร้างจิตสำนึกที่ดีให้กับคนในพื้นที ซึ่งผลจากการวิเคราะห์จากการทำงานดังกล่าวนำมาซึ่งแผนรณรงค์และดำเนินกิจกรรมตามแผนรณรงค์ 3 กิจกรรม ได้แก่ กิจกรรมปลูกป่าชายเลน เฉลิมพระเกียรติ กิจกรรมรณรงค์ทิ้งขยะให้ถูกที่ มีราศีทั้งชุมชน และกิจกรรมสายธาร สายสัมพันธ์ สู่วิถีชุมชนอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ปลูกจิตสำนึกให้คนในพื้นที่รู้รักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ด้วยการมีส่วนร่วมในการเข้ามาแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
จากที่ทางกลุ่มได้พบว่าพื้นที่ป่าชายเลนลดลง และขาดแคลนแหล่งเงินทุนเพื่อพัฒนาสิ่งแวดล้อม ดังนั้นจึงอยากกระตุ้นให้ประชาชนในพื้นที่เห็นความสำคัญ ร่วมกันอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลนในพื้นที่ ด้วยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนทั้ง ภาคประชาชน ภาครัฐ เอกชน องค์กรอิสระ โดยจัดกิจกรรมปลูกป่าชายเลน เฉลิมพระเกียรติ ปลูกป่าชายเลน 6,000 ต้น บริเวณสถานตากอากาศบางปู อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อสร้างผืนป่าที่เป็นแหล่งเริ่มต้นของสรรพชีวิตทั้งทางน้ำ และทางบก ให้มีความอุดสมบูรณ์สร้างคุณอนันต์ต่อสังคม และประเทศชาติอย่างยั่งยืน
ด้านกิจกรรมรณรงค์ “ทิ้งขยะให้ถูกที่ มีราศีทั้งชุมชน” เกิดขึ้นจากเจตนารมย์ร่วมกันระหว่างกลุ่มและคนในชุมชน โดยชุมชนบ้านสาขลา อำเภอพระสมุทรเจดีย์ สมุทรปราการ กำลังพัฒนาชุมชนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์มีการทิ้งขยะไม่เป็นที่เป็นทาง และต้องการที่จะปรับปรุงสภาพแวดล้อมของชุมชน ซึ่งคนในชุมชนมีความรู้ความสามารถในการบริหารจัดการ แต่ยังขาดความร่วมมือในชุมชน ดังนั้นจึงมีการเข้าไปรณรงค์ให้ชุมชนตระหนักถึงการทิ้งขยะให้ถูกที่ถูกวิธี โดยร่วมมือผ่านองค์การบริหารส่วนตำบล ตั้งแต่การจัดขบวนเดินรณรงค์รอบตลาดสาขลา การจัดกิจกรรมบนเวที จัดนิทรรศการให้ความรู้ จัดทำป้ายรณรงค์ถาวร การเก็บขยะในลำคลอง และขยะแลกของ
สำหรับการรณรงค์ “สายธาร สายสัมพันธ์” พบว่าปัญหาน้ำเสียจากชุมชน ส่งผลต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและวิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่อำเภอบางพลี จึงจัดกิจกรรมรณรงค์ ช้อนขยะในลำคลอง ระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร จัดขบวนเดินรณรงค์ จาก วัด - ตลาด - ชุมชน — โรงเรียน ประชาสัมพันธ์โดยกระจายเสียงตามสาย วิทยุชุมชน แจกแผ่นพับ ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อให้มวลชนเห็นประโยชน์จากสายน้ำ และจัดกิจกรรมบนเวที ประกอบด้วย การแสดง การให้ความรู้ และการทดสอบความเข้าใจโดยการเล่นเกมตอบปัญหา
นายเฟื่องฤทธิ์ ตันติพลาผล หัวหน้านักศึกษา สจว.112 เล่าถึงการเลือกลงพื้นที่จุดพลังชุมชนในสมุทรปราการว่า “ซึ่งผลจากการรณรงค์ทำให้คนในชุมชนออกมามีส่วนร่วมในการร่วมกิจกรรมเป็นอย่างดี มีจำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมเกินกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ ในวันปลูกป่า มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งประชาชน นักเรียนนักศึกษา ข้าราชการ ผู้ประกอบการมากถึง 3,500 คน และโครงการรณรงค์ “สายธาร สายสัมพันธ์” คนในชุมชนก็ตอบรับเข้าร่วมกิจกรรมรวมกว่า 300 คน ส่วนการรณรงค์ “ทิ้งขยะให้ถูกที่ มีราศีทั้งชุมชน” ในวันนั้นมีผู้เข้าร่วมกว่า 500 คน แสดงให้เห็นถึงความสนใจและตระหนักในความสำคัญของการมีส่วนร่วม และมีความพึงพอใจกับกิจกรรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และอยากให้ในท้องถิ่นจัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง”
ด้านตัวแทนหัวหน้าชุมชน นายราเมศ แตงอุไร นายกองค์การบริหารส่วนตำบลนาเกลือกล่าวว่า “กิจกรรมรณรงค์ที่นักศึกษาหลักสูตรการปฎิบัติการจิตวิทยาฝ่ายอำนวยการ รุ่นที่ 112 ได้จัดทำขึ้นในครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นและยังจุดประกายในการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ ทำให้เกิดประโยชน์ขึ้นจริงในชุมชน โดยทางอบต.ยังคงสานต่อกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ชุมชนสะอาด น่าอยู่ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่ออีกแห่งในตำบลนาเกลือ ซึ่งเร็วๆนี้ ในเดือนเมษายนมีแผนที่จะเปิดตลาดโบราณบ้านสาขลาให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางเลือกใหม่ แต่คงอนุรักษ์ความเป็นไทยและมนต์เสน่ห์ตลาดโบราณไว้สำหรับคนที่ชื่นชอบวัฒนธรรมไทยอีกด้วยครับ”
ด้านตัวแทนชาวบ้านในชุมชน นายอำภัย อำพันทอง กล่าวว่า “เป็นโครงการที่ดีและกระตุ้นจิตสำนึกให้ชาวบ้านทุกคนหันมาดูแลบริเวณรอบชุมชนท้องถิ่นที่อาศัยมากขึ้น ทุกวันนี้ชาวบ้านตื่นตัวช่วยกันรักษาความสะอาดของชุมชนขึ้นเยอะ จากแต่ก่อนบ้านใครบ้านมันไม่สนใจทรัพยากรส่วนรวม และลักษณะตำบลนาเกลือเป็นพื้นที่ราบลุ่มริมทะเล ทำให้มีปัญหาเรื่องน้ำท่วมขังจากการอุดตันของขยะมูลฝอย แต่เมื่อมีการรณรงค์การเก็บขยะในชุมชนและทิ้งขยะให้เป็นที่เป็นทางก็ทำให้ระบบการจัดการน้ำดีขึ้น อย่างไรแล้วสำหรับคนในชุมชนถือเป็นเรื่องน่ายินดี เพราะกิจกรรมนี้ได้สร้างเครือข่ายในชุมชนให้หันมาช่วยสร้างโลกสีเขียวให้กับท้องถิ่นของตนเอง ก็อยากให้ทุกคนรักและสามัคคีร่วมมือร่วมใจสานต่อโครงการนี้ต่อไปเรื่อยๆ”
การนำเอาองค์ความรู้ที่มีมาลงพื้นที่เพื่อสร้างเครือข่าย และกระจายผลสู่วิถีแห่งชุมชนนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้ามสำหรับการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม เมื่อรณรงค์มากคน ผลที่ได้ย่อมมากขึ้นตาม แม้โครงการดังกล่าวจะเป็นเพียงพลังขับเคลื่อนจากอีกหนึ่งกลุ่มที่มีหัวใจอนุรักษ์ต้องการช่วยกระตุ้นและปลูกจิตสำนึกให้ประชาชนในพื้นที่ แต่การสานความคิดเพื่อช่วยจุดพลังชุมชนให้รู้รักษ์ทรัพยากรธรรมชาติร่วมใจแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมนี้จะไม่ศูนย์เปล่าหากท้องถิ่นตื่นตัวที่จะสานต่อและลงมือทำอย่างต่อเนื่อง เพราะท้ายสุดแล้วความร่วมมือต้องมาจากความต้องการของประชาชนในพื้นที่เป็นหลัก
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
บริษัท กนกรัตน์ แอนด์ เฟรนด์ จำกัด (ที่ปรึกษาด้านงานประชาสัมพันธ์)
โทร.02-2842662 แฟกซ์. 02-284-2287,2291 www.kanokratpr.com
คุณกนกรัตน์ วีรานุวัตติ์ E-mail: [email protected]