สมาคมแพทย์ผิวหนังฯ เตือนคนไทยน้ำหนักเกินป่วยเป็นโรคอ้วน เสี่ยงเป็นโรคผิวหนังและระวังการใช้เครื่องมือลดสัดส่วนอันตราย

ศุกร์ ๑๕ มีนาคม ๒๐๑๓ ๑๖:๒๔
สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย เตือนภัยคนไทยที่มีภาวะน้ำหนักเกินและเป็นโรคอ้วนมีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคทางผิวหนังได้หลายโรค เผยการลดสัดส่วนด้วยวิธีการต่าง ๆ มีความอันตรายสูง ส่งผลต่อร่างกายและระบบอวัยวะภายใน ทำให้เสียชีวิตได้หากรักษาอย่างผิดวิธี

ผศ.พญ.ภาวิณี ฤกษ์นิมิตร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และคณะอนุกรรมการวิชาการ สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในปัจจุบันมีประชากรในประเทศไทยที่กำลังประสบปัญหาภาวะน้ำหนักเกินหรือเกิดปัญหาความอ้วนและกำลังจะเป็นโรคอ้วนเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งนอกจากจะทำให้เสียบุคลิกภาพ เป็นที่ล้อเลียนในหมู่เพื่อนฝูง ก่อให้เกิดความไม่มั่นใจและเป็นอันตรายแก่สุขภาพจิตแล้ว โรคอ้วนยังมีผลเสียโดยตรงกับผิวหนัง นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางสรีระวิทยาหลายประการในผิวของผู้ป่วยโรคอ้วน ซึ่งจะพบว่าในโรคผิวหนังบางชนิดมักจะพบได้บ่อยในผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าว ทั้งนี้การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นของผิวหนังของผู้ป่วยโรคอ้วน มักจะมีการสูญเสียน้ำมากกว่าคนปกติ ทำให้เกิดอาการผิวแห้งแดงอักเสบได้ง่าย หรือบางครั้งเมื่ออยู่ในที่อบอ้าว จะมีเหงื่อออกมาก เนื่องจากมีชั้นไขมันที่หนา ทำให้เกิดความอับชื้นบริเวณซอกพับของร่างกายได้มาก ทำให้การระบายของเสียกลับเข้าสู่ระบบไหลเวียนโลหิตทางหลอดเลือดน้ำเหลืองไม่สะดวก เกิดมีเส้นใยคอลลาเจนในชั้นหนังแท้ไม่แข็งแรง หากเป็นแผลจะทำให้แผลหายช้ากว่าคนปกติทั่วไปและยังพบว่ามีอัตราการไหลเวียนเลือดที่มาเลี้ยงผิวหนังเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีปริมาณไขมันมาก เส้นเลือดฝอยที่ผิวหนังหดและมีการขยายตัวที่ผิดปกติ

ผศ.พญ.ภาวิณี กล่าวว่า โรคผิวหนังที่พบบ่อยในผู้ป่วยที่มีภาวะน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วน ผิวหนังจะเป็นปื้นดำหนาขรุขระดูคล้ายผ้ากำมะหยี่ พบบ่อยที่บริเวณซอกพับของร่างกาย บางครั้งจะมีติ่งเนื้อจำนวนมากบริเวณซอกพับ พบควบคู่ไปกับปื้นดำดังกล่าวข้างต้น เช่น รักแร้ หลังคอ ข้อพับแขน หากเป็นมากอาจพบที่บริเวณใดก็ได้ เช่น ใบหน้าและหลังมือ เรียกชื่อโรคว่า Acanthosisnigricans

โรคขนคุด (Keratosis pilaris) มีลักษณะเป็นตุ่มนูนแข็งบนรูขน คลำแล้วรู้สึกผิวสาก ไม่เรียบ พบมากบริเวณแขนขาทั้งสองข้าง นอกจากนี้บางรายมีขนดก เส้นขนยาวขึ้นและมีสีเข้ม เป็นสิว ขนที่ดกขึ้นจะพบที่ใบหน้า หนวด ขนหน้าอก เป็นต้น แต่บริเวณศีรษะ ผมจะบางลง จะมีผิวแตกลาย เช่นเดียวกับที่พบในสตรีมีครรภ์ บริเวณหน้าท้อง บั้นท้ายและต้นขา ผิวหนังที่ฝ่าเท้าทั้งสองข้างจะหนาและแข็ง เนื่องจากต้องรองรับนํ้าหนักตัวซึ่งมากกว่าปกติ

โรคที่เกี่ยวกับเซลลูไลท์หรือผิวหนังขรุขระคล้ายเปลือกส้ม พบมากที่ต้นขา บั้นท้ายและหน้าท้องโรคอ้วนจะทำให้ผิวเปลือกส้มรุนแรงขึ้น

โรคติดเชื้อบริเวณซอกพับ เช่น เชื้อราในร่มผ้าอันเนื่องมาจากความอับชื้น จะเกิดอาการผื่น ผิวหนังอักเสบที่ซอกพับ เช่น บริเวณขาหนีบใต้ราวนมเกี่ยวเนื่องจากการเสียดสีและระคายเคือง

โรคติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนังชนิดต่างๆ ตั้งแต่ต่อมขนอักเสบ ไปจนถึงติดเชื้อลามลึกเข้าไปยังเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง

โรคสะเก็ดเงินและโรคเก๊าท์ พบได้บ่อยในผู้ที่มีโรคอ้วน

ซึ่งเมื่อลดน้ำหนักแล้ว จะพบว่าโรคผิวหนังส่วนใหญ่จะมีอาการดีขึ้น เช่น ปื้นดำที่ผิวหนังจะบางลง ขนคุดราบลงได้บ้างโอกาสการติดเชื้อและผื่นผิวหนังอักเสบจากการเสียดสีจะลดลงได้มาก โดยสรุปความอ้วนนอกจากจะส่งผลร้ายกับระบบต่างๆภายใน เช่น เกิดโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดสูงแล้ว ผิวหนังซึ่งห่อหุ้มร่างกายอยู่ภายนอก ยังมีการเปลี่ยนแปลงได้มาก ดังนั้นการลดความอ้วนอย่างถูกวิธี ทำให้มีน้ำหนักตัวที่เหมาะสม จึงช่วยรักษาสุขภาพได้จากภายในสู่ภายนอกร่างกาย ส่งผลต่อเนื่องให้มีสุขภาพจิตที่สมบูรณ์

ด้าน ดร.นพ.เวสารัช เวสสโกวิท แพทย์ผู้เชี่ยวชาญและคณะกรรมการอำนวยการ สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย กล่าวว่าโรคอ้วน คือโรคชนิดหนึ่งที่มีไขมันสะสมในร่างกายมากก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพต่างๆ และอายุสั้นลงและก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล การวินิจฉัยโรคอ้วนส่วนใหญ่อาศัยดัชนีมวลกาย โดยคำนวณจากน้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม หารด้วยส่วนสูงเป็นเมตรยกกำลังสอง ซึ่งผลต่อสุขภาพของโรคอ้วน จะเพิ่มอัตราการตาย และมีโอกาสเสี่ยงต่อโรคต่างๆ อาทิ ข้อเข่าเสื่อม มะเร็ง (หลอดอาหาร ตับอ่อน ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก เต้านมหลังหมดประจำเดือน ผนังมดลูก ไต ต่อมไทรอยด์ และถุงน้ำดี) ซึ่งความอ้วนมักสัมพันธ์กับกลุ่มอาการเมตะบอลิก ซึ่งประกอบไปด้วยไขมันสูง เบาหวาน และความดันโลหิตสูง ความเสี่ยงในประชากรไทยต่อกลุ่มอาการดังกล่าวจะเพิ่มขึ้น ถ้ารอบเอวในชายมากกว่า 36 นิ้ว และในหญิงมากกว่า 32 นิ้ว พบว่าคนอ้วนเกือบร้อยละ 70 จะเป็นกลุ่มอาการเมตะบอลิก สาเหตุของโรคอ้วน มาจาก 2 เรื่องใหญ่ๆ คือ รู้เท่าไม่ถึงการณ์ คือรับประทานอาหารมากไปและไม่ออกกำลังกาย และรับประทานอาหารที่มีรสชาติถูกปาก มักจะมีแคลอรี่สูงมาก

ดร.นพ.เวสารัช กล่าวต่อว่า การรู้เท่าไม่ถึงการณ์ คือความเข้าใจเกี่ยวกับอาหารที่ไม่ถูกต้องการกินขนม เครื่องดื่มต่างๆ ล้วนให้แคลอรี่ทั้งสิ้น โดยเฉพาะเครื่องดื่มต่างๆ มีปริมาณน้ำตาลสูง น้ำตาลฟรักโตสที่ใส่ในเครื่องดื่ม มีต้นทุนที่ต่ำกว่าน้ำตาลที่ผลิตจากอ้อย แต่ให้ความหวานมากกว่า เมื่อรับประทานไปมากๆ จะยิ่งอยากรับประทานหวาน ๆ สารที่ให้ความหวานแทนน้ำตาล พบว่าเมื่อรับประทานไปเวลานาน ๆ กลับทำให้อ้วนมากขึ้นและมีความสัมพันธ์กับเบาหวานมากกว่าการดื่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลจริง ๆ เสียอีก อาหารที่ไร้ไขมันหรือไขมันต่ำ จะใส่น้ำตาลปริมาณมากเพื่อชดเชยกับรสชาติที่สูญเสียไป กลับเป็นอันตรายต่อสุขภาพเพราะผู้บริโภคคิดว่าอาหารดังกล่าวรับประทานแล้วดีต่อสุขภาพ จะรับประทานมากขึ้น

ในทางจิตวิทยาในการซื้ออาหารพบว่าถ้าอาหารขนาดใหญ่ขึ้นมาก แต่ราคาขึ้นเพียงล็กน้อย ผู้บริโภคก็จะรู้สึกคุ้มค่าเงิน ทำให้ซื้อขนาดใหญ่เกินร่างกายต้องการ ทำให้ได้รับแคลอรี่มากเกินไปและเมื่อไหร่ที่ต้องลดความอ้วน แม้ไม่เป็นกลุ่มอาการเมตะบอลิกซินโดรม(โรคอ้วนลงพุง) คนอ้วนก็ยังมีความเสี่ยงต่อโรคอื่นๆ เช่น เข่าเสื่อม ดังนั้นหากดัชนีมวลกายอยู่นอกเกณฑ์มาตรฐานก็ควรลดน้ำหนัก หลักของการลดความอ้วนที่จะประสบความสำเร็จคือ ต้องตั้งใจมั่น มีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับอาหารและการออกกำลังกาย ตลอดจนแรงจูงใจ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีแคลอรี่สูง ของทอดต่างๆ งดเครื่องดื่มที่มีความหวาน ฟาสต์ฟู้ด อาหารเสริม ไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าสามารถทำให้น้ำหนักลดได้จริงเนื่องจากไม่มีการวิจัยทางการแพทย์ที่เผยแพร่ชัดเจน

นอกจากนี้ในเรื่องของการใช้ยา มียาที่ใช้ลดความอ้วนได้หลายชนิด แต่ต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง ทั้งอาหารเสริมและยาไม่ใช่ปัจจัยหลักในความสำเร็จของการลดน้ำหนัก แต่ต้องลดด้วยตัวเองให้ได้ก่อนอาหารเสริมในหลาย ๆ ประเภท มักจะมีส่วนผสมของ CLA กรดไขมัน และ LCH คอลลาเจน พริกไทยดำ ชาเขียว กรดผลไม้ โคคิวเทน ถั่วขาว แอลไลซีน แอลคาร์รีทีน และ แอลกลูตามีน อาหารเสริมเหล่านี้ จะช่วยให้ร่างกายเผาผลาญไขมันได้ดีขึ้น หรือทำให้ร่างกายเผาผลาญไขมันอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น อาหารเสริมบางประเภท ก็ดักจับไขมัน หรือ ดักจับคาร์โบไฮเดรต ส่วนใหญ่มักจะทำมาจากใยอาหาร หรือกรดผลไม้ ซึ่งอันตรายจากยาและอาหารเสริมให้สังเกตดูตรา อย. เนื่องจากมียาหรืออาหารเสริมที่ใส่สารต้องห้าม ทำให้ผู้รับประทานเกิดภาวะแทรกซ้อนจนถึงแก่ชีวิตได้ นอกจากนั้นอาจทำให้เกิดใจสั่น หรือขาดวิตามินได้

พญ.นัทยา วรวุฒินันท์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สถาบันโรคผิวหนัง กล่าวว่า การลดสัดส่วนด้วยเครื่องมือต่าง ๆ อาจจะทำให้เราลดน้ำหนักได้ง่ายขึ้น เช่น การดูดไขมันในปัจจุบันจะมีเครื่องมือช่วยสลายเพื่อใช้ในการดูดไขมัน โดยกลุ่มเครื่องมือเหล่านี้ จะมีเทคโนโลยีช่วยสลายเซลล์เนื้อเยื่อไขมัน ให้กลายสภาพเป็นลักษณะเหลว เพื่อให้ง่ายต่อการดูดไขมันออกจากร่างกาย ทำให้มีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น เมื่อเทียบกับวิธีการดูดไขมันปกติ แต่สูญเสียเลือดน้อยกว่า นอกจากนี้จากเครื่องที่ใช้ในการดูดไขมันแล้ว ยังมีเครื่องกระชับสัดส่วนเพื่อลดขนาดของไขมันส่วนเกิน โดยใช้เทคโนโลยีหลายอย่าง เช่น คลื่นวิทยุความถี่สูง (Radiofrequency-RF) ทำงานร่วมกับพลังงานความร้อนแสง Infrared (IR) ร่วมกับลูกกลิ้งและระบบสูญญากาศโดยความร้อนจากแสง IR และ RF จะเพิ่มการเผาผลาญไขมันใต้ผิว ทำให้เซลล์ไขมันลดขนาดลง ส่วนการทำงานของระบบสูญญากาศและลูกกลิ้ง จะทำให้เซลล์ลูไลท์แตกตัวกระจายออกและไหลเวียนออกไปตามระบบน้ำเหลืองได้ดีขึ้น เครื่องมือในการกระชับสัดส่วนนี้เหมาะสมกับผู้ที่ต้องการลดเซลล์ลูไลท์หรือมีไขมันส่วนเกินสะสมและควรได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องจึงจะเห็นผล นอกจากนี้ยังมีการใช้ความเย็น ในการสลายเซลล์ไขมัน ซึ่งทำงานโดยการส่งคลื่นความเย็นในระดับจุดเยือกแข็งลงไปใต้ชั้นผิวหนัง โดยควบคุมให้เลือกทำลายแต่เซลล์ไขมันแต่ไม่ได้ทำลายส่วนอื่น

หลังจากนั้นร่างกายก็จะกำจัดเซลล์ที่ไขมันที่ตายแล้วออกไปตามธรรมชาติภายในระยะเวลา 3 เดือน หลัง 3 เดือนชั้นไขมัน ก็จะจัดเรียงตัวใหม่ทำให้ความหนาของชั้นไขมันบางลง พญ.นัทยาได้กล่าวสรุปว่าปัจจุบันแม้มีเทคโนโลยีมากมายในการแก้ปัญหาไขมันส่วนเกิน แต่เครื่องมือเหล่านี้ไม่ใช่เครื่องมือที่สามารถใช้ลดน้ำหนักหรือรักษาโรคอ้วนได้โดยตรง และจะไม่สามารถเกิดผลการรักษาที่ดีได้ในระยะยาว หากไม่มีการควบคุมอาหารและการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอควบคู่ไปด้วย การลดน้ำหนักด้วยการใช้ครีมกระชับสัดส่วน โดยส่วนใหญ่จะเป็นครีมทาเฉพาะที่ ผู้ผลิตครีมเหล่านี้ มักจะบอกว่าช่วยเผาผลาญไขมันส่วนเกิน เช่น ต้นแขน ต้นขา สะโพก และหน้าท้อง แต่เราไม่สามารถทราบเลยว่า พอใช้ผลิตภัณฑ์ไปแล้ว จะทำให้สัดส่วนตรงนี้นลดลงได้จริงหรือเป็นเพียงแค่น้ำในร่างกายในส่วนนั้นมีการลดออกไป แต่ไม่ใช่ไขมันหรือไม่ ซึ่งยังไม่มีข้อชี้วัดทางด้านผลการวิจัยที่ชัดเจน การลดน้ำหนักด้วยวิธีการฉีดยาหรือใช้ยา ซึ่งยาเหล่านี้ก็แบ่งออกเป็นกลุ่มยาลดความหิว กลุ่มยาเร่งการเผาผลาญ กลุ่มยาขับน้ำ กลุ่มยาที่ช่วยยับยั้งการดูดซึมไขมัน ยาเหล่านี้มีโอกาสตกค้างในร่างกายจะมีผลต่อ ตับ ไต และหัวใจแม้ว่าจะหยุดรับประทานไปนานแล้ว การลดน้ำหนักจากเสื้อกระชับสัดส่วน ต้องเข้าใจก่อนว่า ชุดกระชับสัดส่วนไม่ใช่ชุดลดความอ้วนแต่อย่างใด เมื่อใส่ชุดกระชับสัดส่วนแล้ว อวัยวะส่วนเกินของเราก็จะถูกอัดเข้าไปในส่วนของร่างกาย เมื่อเราถูกบีบอัดเข้าไป แน่นอนว่าอวัยวะภายในร่างกายของเราที่อ่อนกว่าชั้นไขมันอยู่แล้ว ก็จะถูกบีบไปด้วย ดังนั้นต้องคิดดูว่าการทำงานของอวัยวะภายในร่างกายของเราจะทำงานสะดวกหรือไม่ และในระยะยาวจะมีผลต่อสุขภาพหรือไม่ ดังนั้นชุดกระชับสัดส่วน ก็อาจจะเหมาะกับบางจุดและเหมาะกับคนที่ไม่อ้วนมากเท่านั้น

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ