สสวท. สร้างเวทีเปิดโอกาสเด็กไทยแสดงผลงานวิทยาศาสตร์ ผนึก ม.ศิลปากร จัดงาน “วทท. เพื่อเยาวชนครั้งที่ 8” ชูประเด็นวิทยาศาสตร์และการสร้างสรรค์

จันทร์ ๑๘ มีนาคม ๒๐๑๓ ๑๔:๔๙
สสวท. จับมือคณะวิทยาศาสตร์ ม.ศิลปากร จัดงาน “การประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อเยาวชน ครั้งที่ 8” สร้างเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการแก่เยาวชนและนักวิชาการ หวังกระตุ้นเยาวชนไทยเห็นความสำคัญของวิทย์ คณิต และเทคโนโลยี หัวใจสำคัญต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต

ดร.พรชัย อินทร์ฉาย ผู้อำนวยการสาขาพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และส่งเสริมการผลิตครูที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (สาขา พสวท. และ สควค.) ของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เปิดเผยว่า สสวท. ได้ร่วมมือกับ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร พร้อมทั้งหน่วยงานต่างๆ จัดงาน “การประชุมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อเยาวชน (วทท. เพื่อเยาวชน) ครั้งที่ 8” เพื่อสร้างเวทีแลกเปลี่ยนความรู้โดยตรงทางวิชาการให้แก่เยาวชนและนักวิชาการ โดยมีเป้าหมายที่จะกระตุ้นเยาวชนไทยให้เห็นความสำคัญของวิทย์ คณิต และเทคโนโลยี ที่เป็นพื้นฐานสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ

ทั้งนี้ที่ผ่านมา สสวท. ได้ร่วมมือกับศูนย์มหาวิทยาลัยในโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (โครงการ พสวท.) ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 10 ศูนย์ทั่วประเทศ จัดกิจกรรมการประชุมวิชาการสำหรับนักเรียนทุน พสวท. ระดับปริญญาตรีชั้นปีที่ 4 และระดับบัณฑิตศึกษา เพื่อให้นักเรียนทุนได้นำเสนอผลงานวิจัย จนกระทั่งในปี พ.ศ.2548 สสวท. ได้เปิดโอกาสให้นิสิต นักศึกษา ทุนอื่นๆ และนิสิต นักศึกษาทั่วไป ของคณะวิทยาศาสตร์ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศเข้ามาร่วมงาน โดยใช้ชื่องานว่า “การประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อเยาวชน” และเพื่อเป็นการเตรียมพร้อมนักเรียนเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ในปี พ.ศ. 2553 จึงได้เชิญนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจากประเทศในแถบอาเซียนเข้าร่วมนำเสนอโครงงานด้วย และในปี พ.ศ. 2554 การจัดงานครั้งที่ 7 ซึ่งถือเป็นปีแรกที่คณะผู้จัดงานกำหนดให้ผู้นำเสนอผลงานวิจัยทุกคนใช้ภาษาอังกฤษในการนำเสนอ

สำหรับการจัดงานครั้งที่ 8 ในปีนี้ มีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นเจ้าภาพร่วมกับ สสวท. โดยกำหนดจัดงานระหว่างวันที่ 22-23 มีนาคม พ.ศ. 2556 ภายใต้แนวคิด “วิทยาศาสตร์และการสร้างสรรค์” ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ โดยได้รับเกียรติจาก นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มาเป็นประธานในพิธีเปิด

“การผลิตบุคลากรที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี นอกจากการสนับสนุนทุนการศึกษาและส่งเสริมให้ทุกคนศึกษาต่อในระดับสูงตามศักยภาพของผู้รับทุนแต่ละคนแล้ว การฝึกทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ผ่านการทำวิจัย เป็นอีกกระบวนการหนึ่งของการเรียนรู้และเตรียมความพร้อมที่จะเป็นนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัยที่ดีในอนาคต เราจึงต้องสร้างเวทีเพื่อให้นักเรียนทุน พสวท. และนักเรียน นิสิต นักศึกษา ที่มีผลงานวิจัยหรือโครงงานวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศและนักเรียนจากประเทศกลุ่มอาเซียน ได้นำเสนอโครงงานที่มีคุณภาพ เป็นประโยชน์ ให้ได้มีเวทีสำหรับเผยแพร่ประชาสัมพันธ์สู่สาธารณชน รวมถึงต้องการสร้างโอกาสให้เยาวชน ผู้ทรงคุณวุฒิ และนักวิชาการ ได้แสดงความสามารถและแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกัน” ดร.พรชัย กล่าว?

ดร.พรชัย กล่าวต่อว่า ภายในงานครั้งนี้จะประกอบไปด้วยกิจกรรมที่ให้ความรู้แก่ผู้เข้าร่วมงาน อาทิ การนำเสนอผลงานวิจัยทั้งแบบบรรยายและแบบโปสเตอร์ การบรรยายพิเศษ การเสวนาวิชาการ และการจัดนิทรรศการแสดงผลงานวิจัยและโครงงานของนักเรียน นิสิต และนักศึกษา โดยมีไฮไลท์ เช่น การเสวนาเรื่องวิทยาศาสตร์และการสร้างสรรค์ จากหิ้งสู่ห้างโดย รองศาสตราจารย์ ดร.สุพรรณี ฉายะบุตร หัวหน้าศูนย์วิจัยวัสดุเพื่องานศิลปะและออกแบบ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และคณะวิทยากร โดยผู้ดำเนินการเสวนา คือ ดร.กลางพล กมลโชติ ผู้อำนวยการสำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยศิลปากร

การเสวนาเรื่อง “กว่าจะเป็นนิยายวิทยาศาสตร์” โดยนักเขียนชื่อดังมาร่วมพูดคุย ได้แก่ คุณเชตวัน เตือประโคน นักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ รางวัลจันตรี ศิริบุญรอด คุณวินทร์ เลียววาริณ นักเขียนรางวัลซีไรต์ ปี พ.ศ. 2540 (หนังสือเรื่อง ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน) และปี พ.ศ. 2542 (หนังสือเรื่อง สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน) คุณแทนไท ประเสริฐกุล นักศึกษาทุน พสวท. เจ้าของผลงาน โลกนี้มันช่างยีสต์ คุณฐาวรา สิริพิพัฒน์ เจ้าของนามปากกา ดร.ป๊อป ผลงานวรรณกรรมเยาวชน ชุด “The White road” (เดอะ ไวท์โรด) และการเสวนาในหัวข้ออื่นๆ ที่น่าสนใจอีกมากมาย

ในการจัดงานครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งได้มีการสนับสนุนให้อาจารย์และนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ เข้าร่วมเสวนาในหัวข้อที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์มากมาย อย่าง ผศ. ดร. เชาวรีย์ อรรถลังรอง รักษาราชการแทน รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ในฐานะผู้มีประสบการณ์ตรง และการเป็นนักเรียนทุนโครงการ พสวท. พูดถึงบทบาทของนักวิจัยรุ่นใหม่ ในการเป็นนักวิทยาศาสตร์พี่เลี้ยงให้แก่เยาวชนที่มีความสามารถทางวิทยาศาสตร์

“เราเชื่อว่าเยาวชนจะได้รับความรู้ รวมถึงได้รับทราบข้อมูล ความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งจะส่งผลให้มีความรู้ ความเข้าใจด้านวิทยาศาสตร์มากขึ้น รวมถึงได้เห็นความสามารถของนักเรียนทุน และ บัณฑิต พสวท. ที่จะช่วยยกระดับความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ให้กับเยาวชนของประเทศ”

นอกจากนี้ ผศ. ดร.ว่าที่ร้อยตรีเจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ที่ปรึกษาสมาคมนักเรียนทุนโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สทวท.) จากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าภายในงานยังมีการแนะแนวการศึกษาต่อและเส้นทางอาชีพนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ โดยมีสมาคมนักเรียนทุน พสวท. มาเป็นพี่เลี้ยงคอยให้คำแนะนำแก่ผู้ที่สนใจ เนื่องจากต่อไปในอนาคต บทบาทของนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ จะมีผลต่อการเปลี่ยนสังคมให้เป็นสังคมวิทยาศาสตร์ และนำไปสู่การใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ ซึ่งนักเรียน นิสิต นักศึกษา หรือผู้ปกครองท่านใดที่สนใจสามารถเข้ารับฟังการแนะแนวนี้ได้

“เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการประชุมวิชาการในครั้งนี้จะส่งผลให้เกิดการขยายผลรูปแบบการจัดงานประชุมวิชาการไปยังสถานศึกษาในภูมิภาคอื่นๆ รวมถึงเกิดเครือข่ายนักวิจัยและการพัฒนางานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีร่วมกันระหว่างองค์กร รวมไปถึงผลักดันให้เยาวชนไทยเห็นความสำคัญของวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป” ดร.พรชัยกล่าวในท้ายที่สุด

ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมงานได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในการเข้าชมนิทรรศการและฟังการบรรยายพิเศษต่าง ๆ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.dpstcenter.org/stt4youth/ หรือ โทร. 0-2335-5222

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version